สารคดี: เมื่อปลาจะกินดาว#17
ผู้เขียน: วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร
ระบบเศรษฐกิจ ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงเวลาพร้อมๆ กับการที่มนุษย์เริ่มรวมตัวอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เกิดการติดต่อ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน จนเรียนรู้และพัฒนากลไกที่สอดรับกับรูปแบบวิถีการใช้ชีวิตของผู้คน ตลอดจนวัฒนธรรมการปกครองที่แตกต่างกันไปในแต่ละดินแดน
วิวัฒนาการของหลักคิดระบบเศรษฐกิจที่เราคุ้นเคยเรื่อยมา ทั้งที่ถูกขนานในนามของทุนนิยม สังคมนิยม หรือที่มีการผสมจนเกิดเป็นรูปแบบใดๆ สิ่งสำคัญที่จะถูกใช้เพื่อแบ่งแยกความแตกต่าง คือหลักการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และฐานคิดของการครอบครองผลประโยชน์
แต่ไม่ว่าในระบบเศรษฐกิจแบบใด สิ่งที่สำคัญกว่าและกลับไม่เคยถูกนับรวมไว้ในสมการ คือศักยภาพทรัพยากรในมุมมองของระบบนิเวศ ที่ทุกชีวิตล้วนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และมีไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อการสูบไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อการบริโภค ด้วยเป้าหมายเพียงเพิ่มผลกำไร ก่อนสิ่งที่ผลิตขึ้นมาใช้จะถูกทิ้งไปโดยไม่มีใครเหลียวแล ดังที่เราเรียกว่า เศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) อย่างที่ผ่านมา
วิธีการใช้ทรัพยากรของเราคือการ Take-Make-Dispose คือ ถลุง (Take) ดึงทรัพยากรจำนวนมหาศาลมาใช้ในราคาถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะนำมาผ่านกระบวนการ ผลิต (Make) ขายให้ลูกค้านำไปใช้งาน และเมื่อผลิตภัณฑ์หมดประโยชน์แล้วก็ ทิ้ง (Dispose) กลายเป็นขยะ
วัฏจักรนี้ดำเนินเรื่อยมาเป็นเวลาหลักศตรวรรษ นับตั้งแต่ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก จวบจนวันที่มนุษย์ได้เห็นทรัพยากรร่อยหรอลงต่อหน้าต่อตา และกำลังมีทีท่าว่าจะหมดไปภายในไม่ถึงช่วงอายุคน
จากอัตราการใช้ทรัพยากรในปัจจุบัน รวมกับจำนวนประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้นในทุกขณะ ทำให้มีการประเมินว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะสูงถึง 3 เท่าของปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่ และจะสูงขึ้นเป็น 4 เท่าในปี ค.ศ. 2050
เมื่ออัตราการใช้ทรัพยากรของเรามีมากกว่าที่โลกจะผลิตได้ ทางเลือกของเราคือการเสาะหาทรัพยากรเพิ่ม โดยแสวงหาโลกใบใหม่ให้ได้อีก 4 ใบ ภายใน 30 ปีข้างหน้า…
หากมองว่านั่นเป็นไปไม่ได้ ดังวลีที่อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) บัน คี มูน กล่าวเอาไว้ว่า “We don’t have plan B because there is no planet B” หรือ “เราไม่มีแผนสอง เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง” แปลว่าทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ตอนนี้ คือลดความต้องการใช้ทรัพยากรลง หรืออย่างน้อยก็นำทรัพยากรที่ใช้ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่
นั่นเป็นจุดที่แนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กำลังถูกดึงเข้ามาปรับใช้ในภาคธุรกิจ เป็นทางออกให้กับระบบอุตสาหกรรมและภาคการผลิตนับจากนี้ โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค จนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่
รูปแบบวัฏจักรใหม่นี้ ได้ถูกเปลี่ยนเป็น Make-Use-Return คือ ผลิต (Make) สินค้าโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ด้วยการใช้นวัตกรรมและการออกแบบ หลังจากนั้นจึง ใช้ (Use) สินค้าอย่างคุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ และเมื่อจบการใช้งานแล้วต้องทิ้งอย่างถูกต้อง เพื่อให้วัสดุเหล่านั้นสามารถ วนกลับ (Return) มาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ หรือนำไปสร้างประโยชน์อื่นๆ
อันที่จริงปัญหาจากการใช้ทรัพยากรและการบริโภคของเรานั้น อาจไม่แตกต่างจากวิกฤติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากนัก กล่าวคือมนุษย์เริ่มรับรู้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมาเป็นเวลาเนิ่นนาน แต่กว่าที่การเริ่มต้นแก้ไขจะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ก็จวบจนวันที่ปัญหานั้นประทุขึ้นอย่างรุนแรง
…ในที่นี้คือย้อนกลับไปเกือบ 50 ปี
ในปี ค.ศ. 1972 ตอนที่โลกยังไม่รู้จักกับคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน กลุ่มนักวิชาการที่ชื่อ The Club of Rome ได้ตีพิมพ์รายงานเรื่อง “The Limit to Growth” หรือ “ขีดจำกัดของการเติบโต” ซึ่งตั้งคำถามถึงความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนา โดยได้มีการคำนวณแบบจำลองที่ใช้ข้อมูลการเติบโตของประชากร ณ เวลานั้น รวมกับอัตราการเกิด อัตราการตาย สถานภาพของทรัพยากรธรรมชาติ อัตราการบริโภค และผลผลิตทางอุตสาหกรรม
ผลปรากฏว่าข้อสรุปจากแบบจำลองหลายชุดได้ผลตรงกันว่า หากไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อเนื่องอย่างไร้การควบคุม จนเกิดขีดจำกัดของต้นทุนทางธรรมชาติ และโลกจะเริ่มเข้าสู่ภาวะล่มสลายของภาคการผลิตและประชากรทั่วโลก ในระหว่างปี ค.ศ. 2050-2070 ซึ่งการคาดการณ์นี้สอดคล้องกับผลการศึกษาที่เกิดขึ้นตามมามากมาย ในอีก 5 ทศวรรษให้หลังอย่างน่าประหลาดใจ
แม้ในเวลาต่อมาจะเกิดแนวความคิดเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต และการบริโภคที่คำนึงถึงความยั่งยืนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่หนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ถูกพูดถึง อันเปรียบเสมือนรากฐานให้กับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบัน คือกระบวนทัศน์ “Cradle to Cradle” หรือ “จากอู่สู่อู่” ของนักเคมีชาวเยอรมัน ไมเคิล บรอนการ์ต และสถาปนิกชาวอเมริกัน วิลเลียม แม็กโดโน ซึ่งอธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “Cradle to Cradle: Remaking the Way We Make Things” เมื่อปี ค.ศ. 2002
ทั้งสองขนานนามการพัฒนาแบบล้างผลาญตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เป็นโมเดลการผลิตในปัจจุบันว่าเป็นแบบ “Cradle to Grave” หรือ “จากอู่สู่สุสาน” ซึ่งหมายถึงเริ่มต้นด้วยการตักตวงทรัพยากรจากแหล่งกำเนิด (Cradle) แล้วไปจบที่สู่สุสานขยะกองโต (Grave) โดยไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาที่เดิมได้ ระหว่างทางก็ปล่อยมลพิษมากมายสู่น้ำ ดิน อากาศ เข้าไปสู่สิ่งมีชีวิต และเมื่อต้องการวัตถุดิบเพิ่ม เราก็ต้องไปสกัดใหม่จากธรรมชาติ จนทรัพยากรของเราใกล้จะหมด
ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจตามหลัก 3R คือ Reduce (ลด) Reuse (นำกลับมาใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาแปรรูปใหม่) นั้นยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการ Recycle ที่ความเป็นจริงอาจต้องเรียกว่า Downcycle เพราะวัสดุที่ผลิตออกมานั้นไม่ได้ถูกวางแผนไว้ให้มีวงจรชีวิตแบบรีไซเคิลได้ตั้งแต่แรก สิ่งที่ได้คือ วัสดุที่ยิ่งใช้ซ้ำยิ่งคุณภาพต่ำ ยิ่งรีไซเคิลยิ่งปนเปื้อนและเป็นพิษ กลายเป็นสินค้าที่อัปลักษณ์ อีกทั้งสิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่ายยิ่งกว่าการผลิตจากวัสดุใหม่
แนวคิดคือต้องเปลี่ยนเส้นตรง ให้เป็นวงกลม
แนวทางหลักของ Cradle to Cradle ที่มีความคล้ายคลึงกับเศรษฐกิจหมุนเวียนมาก คือมุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะไม่สร้างของเสีย เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการให้ความเคารพต่อชุมชนท้องถิ่นและระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา
ในภายหลัง Cradle to Cradle ได้มีการยกระดับและพัฒนาขึ้นเป็นมาตรฐาน C2C และใช้รับรองสินค้าที่ได้รับการออกแบบด้วยแนวคิดดังกล่าว โดยปัจจุบันมีบริษัททั่วโลกกว่า 300 แห่ง ที่เข้าร่วมกระบวนการออกแบบและผลิตสินค้าตามมาตรฐานนี้ พร้อมกับมีการออกตรารับรองผลิตภัณฑ์ไปแล้วมากกว่า 600 ชนิด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความยั่งยืนของการผลิตและวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แรงกระเพื่อมสำคัญที่ทำให้โลกหันมาเอาจริงเอาจังกับการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น เมื่อ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้กำหนด “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขึ้นในปี ค.ศ. 2015 มุ่งหวังช่วยแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อน หรือสันติสุข เป็นต้น และภายในเวลาไม่นาน SDGs ก็กลายเป็นฉันทามติร่วมกันเกือบทุกประเทศทั่วโลก ที่จะช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
ไม่เพียงลำพังเฉพาะภาครัฐบาลเท่านั้นที่ใช้ SDGs ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ แต่ SDGs ยังได้กลายเป็นมาตรวัดความก้าวหน้าที่สำคัญของภาคธุรกิจเอกชนด้วยเช่นกัน โดยในระยะหลังบริษัทขนาดใหญ่ต่างนำเอา SDGs มาใช้กำหนดทิศทางงานด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงการประเมินความสำเร็จของโครงการต่างๆ
ภายใต้เป้าหมายใหญ่ 17 ข้อของ SDGs ที่สหประชาชาติคาดหวังให้ทั่วโลกบรรลุได้ภายในปี ค.ศ. 2030 หนึ่งในนั้นคือการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หรือ Responsible Consumption and Production ซึ่งในเป้าหมายนี้ยังได้มีการกำหนดเป้าประสงค์ในการจัดการของเสียภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนรวมไว้ด้วย
แม้จะเห็นว่าทุกภาคส่วนกำลังหันมาให้ความสำคัญ กับวิถีระบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่ในทางกลับกันเราต่างกำลังแข่งขันกับเวลา ที่ทุกคนยังพึ่งพาและใช้ทรัพยากรเข้ามาเป็นปัจจัย ในการนับถอยหลังว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะเจอจุดสมดุล ก่อนที่เวลาจะพาเราเดินหน้าสู่ช่วงที่มีการคาดการณ์ไว้หรือไม่
หรือเราควรตั้งความหวังกับการหาโลกใบต่อไป…