“ภายในปี 2569 ประเทศไทยจะมีป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้นเป็น 25% ของพื้นที่ประเทศ” วิสัยทัศน์ใหม่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งประกาศเมื่อปี 2560
สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 40% ของพื้นที่ประเทศไว้สำหรับการอนุรักษ์และนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ตัวเลข 40% แบ่งออกเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ 25% และเพิ่มพื้นที่ป่าสำหรับใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีก 15%
ปัจจุบัน รายงานสถานการณ์ป่าไม้ประเทศไทย โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าประมาณ 31% หรือ 102 ล้านไร่
ในส่วนของป่าอนุรักษ์นั้นมีอยู่แล้วประมาณ 22% หากต้องการให้ครบ 25% กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอีกราว 7 ล้านไร่
หากบรรลุตามเป้าหมาย ประเทศไทยจะมีป่าธรรมชาติราว 80.75 ล้านไร่ ได้รับการดูแลภายใต้กฎหมายอนุรักษ์ที่เข้มแข็ง คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา
สำหรับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การมีพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ตอบโจทย์ตามพันธกิจขององค์กรที่ต้องการ “อนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า”
ขณะเดียวกัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังเล็งเห็นว่า เมื่อพื้นที่อนุรักษ์ได้รับความคุ้มครอง การพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นรอบ ๆ ผ่านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน
ในมุมมองที่ใหญ่กว่านั้น พื้นที่อนุรักษ์ยังมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิตทั้งต่อปัจจุบันและอนาคต ยกตัวอย่างเรื่อง “นิเวศบริการ” ที่ถูกส่งต่อมาถึงพวกเราทุกคน
ดังความเห็นของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ที่มองว่า พื้นที่อนุรักษ์ คือ หลักประกันสำคัญของมนุษยชาติในอนาคต
“เราอาจคิดว่าป่าอนุรักษ์ให้ประโยชน์กับเราในทางอ้อม แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องทางตรงมากกว่าที่คิด อย่างเรื่องน้ำก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนมากว่าป่าคือต้นน้ำลำธาร ถ้าป่าต้นน้ำลำธารหมดน้ำจากก๊อกก็จะหมดไปด้วย ป่าเป็นความมั่นคงทางอาหารให้เรา เป็นสมดุลควบคุมโรคต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงมากขึ้นไปอีกหากไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าเอาไว้ได้”
อีกความเห็นหนึ่งจาก ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและส่วนที่ต้องเฝ้าระวัง
ส่วนสำคัญที่เห็นด้วย คือ การยกสถานะป่าสมบูรณ์ให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์จะช่วยให้พื้นที่ป่าได้รับการดูแลตามกฎหมายป่าอนุรักษ์ที่มีความเข้มข้น โดยมีหน่วยงานอย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอทั้งกำลังคนและงบประมาณในการจัดการ ต่างจากกรมป่าไม้ยังมีข้อจำกัดในเชิงโครงสร้างทำให้ไม่สามารถดูแลป่าได้ทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม ศศิน มองว่า มิติของการจัดการพื้นที่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าน้ำหนักทางปริมาณหรือขนาดพื้นที่
“ตัวเลข 25% ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ จะครบหรือไม่ครบไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่ามี 25% แล้วเราจะมีป่าพอ หรือมี 25% แล้วคนไทยมีความสุข น้ำไม่ท่วม ฝนตกตามฤดูกาล คงไม่ใช่อย่างนั้น ตัวเลขเป็นเพียงเป้าหมายที่วางไว้คร่าวๆ”
ศศิน ยกตัวอย่างกรณีของป่าตะวันตกที่ในวันนี้พื้นที่สำคัญอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีระบบการจัดการที่ดี เป็นสถานที่ปลอดภัยให้กับเสือโคร่ง แต่จะทำอย่างไรที่ขยายการจัดการแบบเดียวกับพื้นที่มรดกโลกออกไปให้พื้นที่ข้างเคียง เพราะเมื่อมีการจัดการที่ดี ความสมบูรณ์ก็จะคืนมา เมื่อสัตว์ป่าสัตว์ป่าเพิ่มจำนวนก็จะมีแหล่งที่อยู่อาศัยปลอดภัยรองรับได้อย่างสมดุล
อีกประเด็นที่นักอนุรักษ์คนนี้คิดว่าเป็นข้อควรระวัง คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าต้องไม่กระทบกับใคร เนื่องจากการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ซ้อนทับที่อยู่อาศัยของชุมชนเป็นปัญหาคาราซังที่มีมายาวนาน
“ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนแล้วจะรักษาได้อย่างไร ต้องมีข้อกำหนดการจัดการที่ไม่ไปกระทบกับชาวบ้านหรือคนยากคนจนให้มันลงตัวให้ได้ ถ้าประชาชนมายืนตะโกนด่าทุกวัน มันก็รักษาไม่ได้ในระยะยาว เรื่องนี้เป็นงานยากแต่ต้องทำให้ได้”

ต่อประเด็นดังกล่าว ปัจจุบันตามแผนปฏิบัติงานการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เพื่อกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์ให้ชัดเจน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปมากแล้ว แต่พบว่ามีหลายพื้นที่ที่เกิดปัญหาตามมาถึงความเป็นธรรมต่อประชาชนใรพื้นที่
ประยงค์ ดอกลำใย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.พอช.) เคยแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า มาตรการทวงคืนผืนป่ามีปัญหาตั้งแต่หลักคิด เพราะการตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศ เป็นแนวคิดเดียวกับคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ซึ่งไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพบริบทการเปลี่ยนแปลงทางของสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ด้านทรัพยากรที่ทวีความซับซ้อนในปัจจุบัน
นอกจากเรื่องพื้นอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน อีกข้อกังวลที่ชวนเป็นห่วง เมื่อเป็นป่าอนุรักษ์ การเก็บหาของป่า หาอยู่หากินตามวิถีดั้งเดิม หรือการใช้ประโยชน์ในรูปแบบป่าชุมชน (บางแห่งในเขตอนุรักษ์) จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
ในกรณีที่เกี่ยวเนื่อง ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า การรักษาพื้นที่ป่านั้นสามารถดำเนินการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ และไม่ควรกีดกันประชาชนออกห่างทรัพยากร
ดร.ไชยณรงค์ ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 ว่า วิธีการในการจัดการทรัพยากรป่าของรัฐโดยการกีดกันชาวบ้านไม่ให้เข้าไปเก็บเห็ด หน่อไม้ หรือพืชผัก เป็นการควบคุมการเข้าถึงทรัพยากรที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ไม่ใช้เนื้อไม้ ไม่ใช่การโค่นต้นไม้ ทำให้มันไม่มีเหตุผลใดที่ควรจะไปห้าม
“การใช้วิธีแบบนี้มันมีความคิดว่า ป่าสมบูรณ์แต่คนยากจน และมันจะกลายเป็นว่าคนไม่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ เพราะอนุรักษ์ไปตัวเองก็ไม่สามารถเขาถึงทรัพยากรได้ อันนี้เป็นผลเสียมากกว่า ถ้าชาวบ้านใช้ทรัพยากรตรงนั้น เขาก็จะรักษาทรัพยากรของเขาแล้วก็ส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และไม่ทำลายล้างซึ่งมันสามารถทำได้
“ดังนั้น ควรให้ชุมชนมีสิทธิ์ในการจัดการและเข้าถึงทรัพยากรในป่าด้วย ซึ่งป่าชุมชนสามารถเป็นป่าอนุรักษ์ได้ โดยเป็นป่าที่ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ อันนั้นจึงเป็นการใช้ทรัพยากรที่ถูกต้อง ไม่ใช่แยกคนออกจากทรัพยากร”
อย่างไรก็ตาม พร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ไป กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ชี้แจงประเด็นนี้ว่า อนุญาตให้คนอยู่กับป่า สามารถเก็บหาของป่าได้แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ
โดยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการอนุญาต กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะเป็นผู้กำหนดตามความเหมาะสมตามศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้ตามฤดูกาลในแต่ละพื้นที่ต่อไป
สำหรับขั้นตอนการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 25% กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับหนังสือเห็นชอบจากกรมป่าไม้ให้ นำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์มาประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไปแล้วทั้งสิ้น 8.47 ล้านไร่ อยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมประกาศ
นโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขึ้นเป็น 25% ของพื้นที่ประเทศกำลังเดินหน้า โดยความคาดหวังว่าการรักษาพื้นที่ป่าจะก่อประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม