สารคดี: เมื่อปลาจะกินดาว#17
ผู้เขียน: เมธิรา เกษมสันต์
“ผมมาที่นี่เป็นครั้งแรกในปี 2523 ภาพที่เห็นในวันนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยคำแสนสั้น สวรรค์…
น้ำลงต่ำ ปะการังหลายสี หลากรูปทรง เป็นหมื่นเป็นแสน ฝูงปลาคลาคล่ำ สวรรค์เป็นคำบรรยายที่ใกล้เคียงที่สุด”
– ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ –
บรรยายถึงอ่าวมาหยาในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561
นับจากความประทับใจแรกกับอ่าวมาหยาในวันนั้น… ผ่านไป 38 ปี… ดร.ธรณ์ กลับมายืนที่เดิมอีกครั้ง เบื้องหน้าคือซากปะการังตายสุดลูกหูลูกตา
เขาบรรยายถึงอ่าวมาหยาในเฟซบุ๊กต่อว่า
“ผมใช้เวลานานในการตามหา ในที่สุดผมก็เจอปะการังหนึ่งก้อน หนึ่งก้อนที่หลงเหลือมาให้เห็นในวันนี้ รอบด้านคือปะการังตาย ไม่ใช่เพิ่งตาย แต่ตายมาเรื่อยๆ ตายสะสมกันมาตลอด 38 ปี ในอ่าวแห่งนี้อาจมีปะการังก้อนสองก้อนสาม แต่ผมไม่อยากตามหาอีกแล้ว แค่ก้อนเดียวพอแล้ว…เกินพอ”
…ปะการังก้อนสุดท้ายแห่งอ่าวมาหยา… ดร. ธรณ์ ตั้งชื่อบทความเช่นนั้น
นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง The Beach เข้าฉายในปี 2543 ชื่อเสียงของอ่าวมาหยาก็ระบือไกลทั่วโลก นักท่องเที่ยวแห่กันมาไม่เว้นแต่ละวัน หาดทรายยาวแค่ 250 เมตร ต้องรองรับนักท่องเที่ยว 3,000 – 4,000 คนต่อวัน บางฤดูกาลอาจมากถึง 5,000 – 6,000 คน เรือเร็ววิ่งเข้าออกตลอดเวลา… วันแล้ววันเล่า… ที่เรือกว่าสองร้อยลำทิ้งสมอลงบนแนวปะการัง… วันแล้ววันเล่า… ที่ใบพัดเรือปั่นทรายจนฟุ้งกระจายตั้งแต่เช้าจรดเย็น บดบังแสงแดดที่ปะการังใช้ในการสร้างอาหาร ปิดกั้นพื้นที่ใต้ท้องทะเลไม่ให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะ นักท่องเที่ยวหลายคนยังหักปะการังกลับบ้าน… จนในที่สุด ปะการังหน้าอ่าวแทบไม่เหลือ
เมื่อไม่มีปะการัง สัตว์น้ำที่อาศัยปะการังเป็นบ้าน เป็นแหล่งหากิน เป็นแหล่งอนุบาลวางไข่ ก็ทยอยหายตามกันไป… สิ่งที่เหลืออยู่คือน้ำใสๆ แต่ไร้ชีวิต
ชีวิตที่เหลืออยู่มีเพียง ‘โฮโมซาเปี้ยน’ ที่เดินแออัดกันอยู่บนชายหาด เหยียบย่ำพืชพรรณพื้นถิ่น ย่ำทรายจนทรุดตัว ทิ้งขยะกลาดเกลื่อน… ความสงบงามแห่ง เดอะบีช ที่พวกเขาใฝ่ฝันจะได้เห็น ไม่เหลืออยู่อีกแล้ว
“It was so crowded I couldn’t even see the beach.” (คนเยอะมากจนมองแทบไม่เห็นหาด)
“One visit is enough: it is too dirty, there is garbage in all places.” (มาครั้งเดียวพอแล้ว สกปรกมาก มีขยะทุกที่)
นี่คือบางส่วนของรีวิวในเว็บไซต์ Trip Advisor ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มาหยากำลังป่วยหนัก
ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่รู้สึก แต่ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ รวมถึงผู้ประกอบการหลายรายก็เห็นปัญหานี้เช่นกัน จนนำไปสู่การรวบรวมรายชื่อของชาวบ้านและผู้ประกอบการบนเกาะพีพีนับร้อยกว่าคนเมื่อปี 2561 เพื่อเสนอให้มีการปิดอ่าวมาหยาในช่วงมรสุม โดยมีข้อมูลจากนักวิชาการรองรับหนักแน่น
ในที่สุด… กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็ตอบรับข้อเสนอ และประกาศปิดอ่าวมาหยาเป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน ถึง 30 กันยายน 2561 เพื่อให้ธรรมชาติพักฟื้นตัว กลายเป็นข่าวดังทั่วโลก

แม้การปิดอ่าวจะทำให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว แต่มองอีกมุมหนึ่ง – นี่คือการรักษาการท่องเที่ยวให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
“ต้องถามว่าในวันที่แทบจะเหยียบกันเดินในอ่าวมาหยา ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวมีไหม จากการแจกแบบสอบถาม แทบไม่มีใครตอบเลยว่าจะกลับมาอีกแล้ว การท่องเที่ยวต้องไม่มองแค่รายได้ในวันนี้ แต่ต้องดูจำนวน Return Visitor ไปจนถึงความพึงพอใจของพวกเขาด้วย” ดร.ธรณ์ อธิบาย
อย่างไรก็ตาม มาหยาก็ไม่ถึงกับปิดตาย ผู้ประกอบการสามารถพานักท่องเที่ยวมาลอยเรือดูมาหยาจากภายนอกอ่าว โดยมีทุ่นไข่ปลาเป็นแนวกั้น ส่วนพื้นที่ภายในนั้น สงวนไว้สำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในภารกิจฟื้นฟู ตั้งแต่การปลูกป่าชายหาด ไปจนถึงปลูกปะการัง เพราะจากการวิเคราะห์โมเดลกระแสน้ำชี้ชัดว่า กระแสน้ำไหลวนอยู่ในอ่าวแทบทั้งปี ทำให้มีโอกาสน้อยที่ตัวอ่อนปะการังจากภายนอกจะเข้ามา
ทางทีมวิจัยยังติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่า การปิดอ่าวแค่ 4 เดือน ไม่เพียงพอต่อการฟื้นตัวของปะการัง ทำให้กรมอุทยานฯ ประกาศปิดต่อไปอีก 1 เดือน ก่อนจะประกาศให้ปิดต่อไปไม่มีกำหนด ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้ประกอบการและชาวบ้านส่วนหนึ่งบนเกาะพีพีเกิดความไม่พอใจ เนื่องจากบริษัททัวร์หลายเจ้าได้ขายแพ็กเกจล่วงหน้าให้นักท่องเที่ยวไว้แล้ว ทำให้พวกเขารวมตัวกันยื่นหนังสือเพื่อขอให้เปิดอ่าวมาหยาในวันที่ 1 พฤศจิกายน ตามที่กรมอุทยานฯ ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า
ท่ามกลางความตึงเครียดของความเห็นที่ไม่ลงรอย แต่ด้วยข้อมูลทางวิชาการที่ยืนยันว่า มาหยาในเวลานี้เปรียบเสมือนคนป่วยหนัก ซึ่งต้องการการพักฟื้นที่มากกว่านี้ ทำให้คำสั่งปิดอ่าวมาหยายังคงดำเนินต่อไป แต่จะผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการโดยการขยับแนวกั้นให้เข้าเข้าใกล้อ่าวมากขึ้น
สิ่งนี้นับเป็นหลักไมล์สำคัญที่บอกว่า ถึงเวลาแล้ว… ที่เราจะเลือกยืนอยู่ข้างธรรมชาติ ไม่ใช่เงินทอง!
ความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มาที่ไป แต่เตรียมการมาไม่น้อยกว่าสี่ปี เริ่มตั้งแต่ ‘พีพีโมเดล’ ที่ปฏิรูปการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน การทำทุ่นจอดเรือทั่วเกาะทดแทนการทิ้งสมอ การทำระบบป้ายทะเบียนเรือ การเพิ่มจำนวนเรือตรวจการณ์ ไปจนถึงการรณรงค์ไม่กินหูฉลามและปลานกแก้ว การทำทุ่นไข่ปลากั้นโซนอนุรักษ์ ระบบบำบัดน้ำเสีย ไปจนถึงการปิดเกาะยูง ตามด้วยปิดเกาะตาชัย ฯลฯ กาลเวลาพิสูจน์ชัดถึงผลที่ได้ ปะการังรอบเกาะต่างๆ ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ปริมาณและความหลากหลายของปลาเพิ่มขึ้น พฤติกรรมปลาที่เคยรุมคนเพื่อรอขนมปังเริ่มเปลี่ยนไป… เหตุการณ์ข้างต้นนำทางมาถึงการประกาศปิดหัวใจแห่งเกาะพีพี – อ่าวมาหยา
เพียงแค่ 5 เดือนกว่าๆ หลายคนตกตะลึงเมื่อเห็นคลิปฉลามหูดำนับสิบแหวกว่ายในอ่าว บางช่วงมีมากถึง 60 ตัว – กลายเป็นจุดที่มีฉลามชุกชุมที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังมีรายงานว่า แม่ฉลามได้เลือกอ่าวแห่งนี้เป็นห้องคลอดหลายครั้ง นี่คือดัชนีชี้วัดว่าระบบนิเวศเริ่มฟื้น เพราะฉลามอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร การมีฉลามแปลว่าต้องมีอาหารอุดมสมบูรณ์ บนหาดทรายปูลมและผักบุ้งทะเลเริ่มกลับมา เดือนพฤษภาคม 2562 ดร.ธรณ์ โพสต์ภาพปลาการ์ตูนส้มขาวในกอดอกไม้ทะเล แสดงให้เห็นการกลับมาของปลาตัวน้อยที่ก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาสได้เข้ามาเพราะความวุ่นวายของนักท่องเที่ยว

“ถ้าต้องเปิดมาหยาอีกครั้ง เราจะไม่ให้เรือเข้ามาในอ่าวอีกแล้ว… ตลอดไป… เพราะถ้าให้เรือกลับเข้ามาได้ ปะการังที่ฟื้นฟูไว้ทั้งหมดจะสูญเปล่าทันที” ดร. ธรณ์ ยืนยันหนักแน่น พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ในอนาคตจะให้เรือเข้าทางอ่าวโละซามะซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะแทน
ส่วนจะเปิดอ่าวเมื่อไหร่นั้น คำตอบคือเมื่อการติดตั้งระบบรองรับนักท่องเที่ยวเสร็จสมบูรณ์ ตั้งแต่ทุ่นจอดเรือที่อ่าวโละซามะ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติจากอ่าวโละซามะสู่อ่าวมาหยา เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเหยียบย่ำพืชชายหาด ไปจนถึงระบบ e-ticket เพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว
นอกจากความสำเร็จเบื้องต้นกรณีปิดอ่าวมาหยา ยังมีข่าวดีอื่นๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ไม่ว่าความคืบหน้าของแผนควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล การเพิ่มชื่อสัตว์สงวน 4 ชนิด คือ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง การจัดทำศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.ภูเก็ต ไปจนถึงแผนแม่บทการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งต่อเนื่องจากนโยบายห้ามใช้โฟมและถุงพลาสติกในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ทำให้เราได้เห็นภาพนักท่องเที่ยวต่างชาติหิ้วปิ่นโตมื้อกลางวันซึ่งทางทัวร์จัดเตรียมไว้ให้ ฯลฯ
และที่ชื่นใจคนไทยที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นการกลับมาวางไข่ของเต่ามะเฟืองและเต่าหญ้า โดยเฉพาะเต่าหญ้ากลับมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา หลังจากหายไป 23 ปี ส่วนเต่ามะเฟืองก็มีการตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อถ่ายทอดสดเป็นครั้งแรกของโลก
นี่คือความหวังของทะเลไทย…
อย่างไรก็ตาม ด้านที่ไม่สวยงามและเป็นปัญหายังคงมี ข่าวสัตว์ทะเลต้องตายเพราะกินขยะพลาสติกยังมีให้เห็น สถานการณ์ปะการังฟอกขาวยังน่าเป็นห่วง สารพิษจากครีมกันแดดที่ลงทะเลก็มหาศาล เหล่านี้คือความท้าทายที่รอให้เราคนไทยทุกคนช่วยกันแก้
แม้หนทางข้างหน้ายังอีกไกล แต่ภาพฉลามหูดำที่แหวกว่ายในอ่าว ภาพปะการังที่กำลังฟื้นตัว ภาพฝูงพะยูนที่กลับมา ภาพลูกเต่ามะเฟืองที่คลานลงทะเล ภาพฉลามวาฬที่มีให้เห็นเรื่อยๆ ล้วนเป็นสิ่งยืนยันว่า วันนี้ยังไม่สายที่จะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง
เพราะทะเลไทยฟื้นฟูได้… หากเราให้โอกาสมัน