สารคดี: เมื่อปลาจะกินดาว#17
ผู้เขียน: เอกชัย จั่นทอง
ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เกิดความแตกตื่นในกรุงเทพมหานคร เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างไม่ลดละ กลับกันยังทวีความรุนแรงจนหลายคนเกิดอาการเจ็บป่วย ขณะนั้นกรุงเทพมหานครถูกห่อหุ้มด้วยฝุ่นละอองจนขาวโพลน โรงเรียน บริษัท หลายแห่งประกาศหยุดงาน ประชาชนกว่า 90% ต้องสวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้านเพื่อป้องกันฝุ่นทั่ว
ไม่ใช่เพียงกรุงเทพฯ ต้องเผชิญฝุ่นละอองขนาดเล็ก ภาคเหนือตอนบน อาทิ เชียงใหม่ แพร่ แม่ฮ่องสอน ฯลฯ ต่างประสบปัญหาฝุ่นละอองอย่างหนักเช่นกัน จากสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะและภูเขาล้อมรอบ บวกกับการเผาป่า เผาซังข้าว ซังข้าวโพด จนเกิดการสะสมหมอกควันและฝุ่นพิษในอากาศสูงมาก สอดคล้องกับที่ ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แถลงยืนยันปัญหาผ่านคลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า ‘PR Chiang Mai’ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562
ใจความสำคัญในแถลงชี้แจงสาเหตุปัญหาหมอกควันที่สูงขึ้นใน จ.เชียงใหม่ เกิดจากลมที่พัดสู่ภาคเหนือ ประกอบกับหมอกควันจากด้านใต้ของจังหวัดที่มาจากต่างพื้นที่และหมอกควันจากแนวชายแดน รวมถึงการลักลอบเผาป่า ทำให้เกิดหมอกควันหนาแน่นไม่กระจายตัว หลายครัวเรือนต้องจมอยู่กับผลกระทบต่อสุขภาพ
ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กมาตลอด จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ปีนี้ค่าฝุ่นทะยานพุ่งสูงจนเกิดสถิติระดับโลก เว็บไซต์ www.airvisual.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์วัดคุณภาพอากาศของทั่วโลก พบว่าวันที่ 23 มีนาคม 2562 จากการเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพอากาศหรือค่า US AQI จากหัวเมืองใหญ่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกพบว่า ค่ามลพิษในอากาศ จ.เชียงใหม่ พุ่งสู่อันดับ 1 ของโลก 2 ติดต่อกัน ดัชนีคุณภาพอากาศวัดได้ถึง 392 US AQI
การหายใจเอา PM2.5 เข้าไปในร่างกาย ในระยะเวลา 1 วัน อาจเกิดอาการอักเสบ ทำให้โรคประจำตัวกำเริบ หากเข้าปอดอาจทำให้ปอดอักเสบผ่านจากปอดแล้วทะลุเข้าไปสู่อวัยวะอื่นๆ หากเข้าไปในเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
นอกจากนี้ ถ้าฝุ่นจิ๋วเข้าไปในหลอดเลือดในสมองแล้วอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก (stroke) ถ้าไม่เสียชีวิตเฉียบพลัน อาจทำให้เป็นอัมพาตได้ กระนั้นก็ตามฝุ่นจิ๋วขนาด PM2.5 ยังทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัด ไซนัสกำเริบ ความสามารถในการเรียน ทำงาน และออกกำลังกายลดลง
ระยะยาวหากประชาชนอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี PM2.5 อยู่ในระดับสูงตลอดปี จะทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดแข็งตัว และมะเร็งปอด ข้อมูลข้างต้นไม่ใช่การอ้างขึ้นโดยไร้ที่มา แต่เป็นข้อมูลของ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวบรรยายไว้บนเวทีเสวนา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 ในหัวข้อ “มหันตภัยฝุ่นพิษถล่มเมือง” ซึ่งขณะนั้นเชียงใหม่กำลังเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เสริมด้วยตัวเลของค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ชัดว่า ทุกๆ 1ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของค่า PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงตามมาของโรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งในปอด โรคหัวใจวายเฉียบพลัน และเส้นเลือดอุดตันในสมอง
องค์การอนามัยโลก คาดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั้งภายในและนอกอาคารมีตัวเลขสูงถึง 8 ล้านคนต่อปี ถือเป็นจำนวนสูงมากกว่าผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติธรรมชาติทุกประเภท
มาตรการเครื่องฟอกอากาศขนาดยักษ์ให้กับเมืองสำคัญๆ อาจเป็นลู่ทางที่รัฐบาลต้องพิจารณาการใช้เครื่องฟอกอากาศให้กับคนทั้งเมือง ที่เห็นตัวอย่างชัดเจนคือประเทศจีน ที่เมืองซีอาน มีต้นแบบปล่องบำบัดมลพิษทางอากาศ งบประมาณสร้าง 60 ล้านบาท ปล่องนี้สามารถลดค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในรัศมี 10 ตารางเมตร รอบปล่องบำบัดมลพิษลดลงได้ถึง 10%
มหาอำนาจอย่างประเทศจีนในอนาคตตามหัวเมืองใหญ่จะมีนวัตกรรมรูปทรงคล้ายปล่องไฟผุดกระจายไปทั่วเมือง ทางการจีนมีแผนสร้างปล่องบำบัดมลพิษที่สูงขึ้น 300 เมตร แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็ตาม สำหรับในประเทศไทย แค่ทำให้มลพิษลดลงเพียง 1% คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นไม่น้อยเช่นกัน
“ถ้าปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างเดียวไม่รอด โดยเฉพาะช่วงสภาพอากาศวิกฤต ส่วนการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เราไม่ควรตัดต้นไม้มากจนเกินไป ต้องให้ความสำคัญกับต้นไม้มากที่สุด ควรปลูกต้นไม้จริงๆ โดยเฉพาะไม้เลื้อยช่วยดูดซับความร้อนจากตัวอาคาร ลดค่าใช้จ่ายประหยัดแอร์ได้ 20-30%” คำยืนยันจากอาจารย์ศิวัช
แม้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะประกาศยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษให้เป็นวาระแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่การแก้ปัญหามลพิษในเชิงรุกของประเทศให้สำเร็จได้นั้น ศ.ดร.ศิวัช ย้ำว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายอากาศสะอาด “Clean Air Act” โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เหมือนเช่นประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่มีกฎหมายดังกล่าว คอยช่วยกำกับดูแลคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยต่อประชาชน
ทว่าประเด็นที่ดูเป็นปัญหาสำคัญคือ “ไร้เจ้าภาพ” ในการแก้ปัญหา ซึ่งตอกย้ำชัดเจนจากคำยอมรับของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ที่ระบุว่า “ไม่ได้มีความรู้เรื่องมลพิษ พร้อมเชิญชวนทุกหน่วยงานมาระดมหาทางออกเพื่อปัญหา”
นอกจากนั้นแล้ว ศ.ดร.ศิวัช ระบุว่า ถ้าประเทศไทยมี “สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม” เพื่อให้หน่วยงานนี้สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่ในมือบริหารจัดการได้ เช่น ถ้าต้นตอปัญหาเป็นโรงงานๆ ไหนปล่อยมลพิษก็สามารถสั่งปิดได้เลย หรือรถคันไหนปล่อยควันดำก็เอาผิดได้ โดยสำนักงานนี้จะมีลักษณะเหมือนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็น single command ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
นักวิชาสิ่งแวดล้อมจากนิด้า มองว่า มาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับเอกชนด้วยการลดหย่อนภาษีผู้ที่ติดตั้งอุปกรณ์บำบัดลดมลพิษทางอากาศแบบพิเศษและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพคน เช่น หน้ากาก เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ อาจลดภาษีเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ เหนือสิ่งอื่นใดต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเกษตรและจัดตั้งหน่วยงานเจ้าภาพมาดูแลเรื่องนี้อย่างชัดเจนด้วย
ดังนั้น วิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และจังหวัดภาคเหนือ จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่จะนำไปสู่การหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ