โลกร้อน-ควันหนา-ควันหนา-โลกร้อน: ความเชื่อมโยงมลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สารคดี: เมื่อปลาจะกินดาว#17
ผู้เขียน: ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

นักวิจัยสิ่งแวดล้อม และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) เผยปัญหามลภาวะทางอากาศกรณีฝุ่นควัน PM2.5 มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับปัญหาสภาวะโลกร้อน

จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการสังเกตการณ์เก็บข้อมูลความรุนแรงของปัญหาหมอกควันภาคเหนือในช่วงห้าปีที่ผ่านมาชี้ชัดว่า สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนขึ้นทุกปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศร้อนและแห้งแล้ง ส่งผลให้ปัญหาฝุ่นควันทวีความรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM2.5 ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศร้อนยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นมา หลายจังหวัดภาคเหนือประสบปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่นควัน PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน จากการเผาในที่โล่งรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากการตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศพบว่า ช่วงฤดูแล้งปีนี้หลายจังหวัดทางภาคเหนือประสบปัญหามลพิษทางอากาศจาก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานนานกว่า 30 วันติดต่อกัน

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าโดยทั่วไปปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือจะเริ่มคลี่คลายช่วงหลังสงกรานต์ และคุณภาพอากาศจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปรกติในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม หากแต่คุณภาพอากาศในภาคเหนือปีนี้มีทีท่าว่าจะดีขึ้นช้ากว่าปรกติ

ผศ.ดร.สมพร เปิดเผยว่า ในบางพื้นที่ เช่น จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ค่าฝุ่นควัน PM2.5 พุ่งสูงถึงระดับอันตรายวิกฤต บางเวลาเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศวัดค่าฝุ่น PM2.5 ได้มากกว่า 700 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานอากาศสะอาดของกรมควบคุมมลพิษที่ค่าฝุ่นควัน PM2.5 ต้องน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แสดงให้เห็นว่าสภาพปัญหาหมอกควันภาคเหนือในปีนี้รุนแรงและยาวนานกว่าปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด

“จากการติดตามสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์หมอกควันในปีนี้ คาดว่าสาเหตุหลักของปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นควัน PM2.5 ที่รุนแรงและยาวนานกว่าปรกติเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งมาก อันเป็นผลจากสภาวะเอลนิญโญ (El Nino) กำลังอ่อน ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปริมาณฝนลดลงกว่าปรกติ” ผศ.ดร.สมพร ให้ข้อมูล

“สภาพอากาศที่แห้งกว่าปรกติ ส่งผลให้สภาพพื้นที่ป่าแห้ง ติดไฟและลุกลามง่าย สถานการณ์ไฟป่าปีนี้จึงเลวร้ายกว่าสองปีที่ผ่านมา และส่งผลให้ปัญหาหมอกควันปีนี้รุนแรงตามไปด้วย”

นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาพปัญหาหมอกควัน PM2.5 ในภาคเหนือในปีนี้ มีความรุนแรงใกล้เคียงกับสถานการณ์ในปี 2557 และ 2558 ซึ่งประเทศไทยเผชิญความแห้งแล้งจากสภาวะเอลนิญโญเช่นกัน

นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจารย์สมพร ยังตั้งข้อสังเกตว่า จากสภาพภูมิอากาศที่ชุ่มชื้นและมีปริมาณฝนมากกว่าปรกติในช่วงสองปีที่ผ่านมา เป็นผลให้ไฟป่าและการเผาในที่โล่งเกิดขึ้นน้อยและไม่รุนแรงนัก ทำให้ปริมาณเชื้อเพลิง เช่น เศษใบไม้ในป่าสะสมจนมีปริมาณมาก เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ไฟป่าและมลพิษฝุ่น PM2.5 ปีนี้ หนักหนาสาหัสกว่าช่วงสองปีที่ผ่านมา

“สรุปได้ว่า สภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลโดยตรงต่อความรุนแรงของไฟป่าและมลพิษฝุ่น PM2.5 และจากสถานการณ์สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ปัญหาไฟป่าและมลพิษจากฝุ่น PM2.5 จึงมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต”

ผศ.ดร.สมพร กล่าวต่อไปว่า “เรายังจะต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในปีต่อๆ ไป ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงควรเตรียมการรับมือปัญหาฝุ่นควันล่วงหน้า เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และควรเร่งวางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว โดยการควบคุมการปล่อยมลพิษจากทุกๆ แหล่ง รวมไปถึงร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน”

ทั้งนี้ นอกจากไฟป่า อีกสาเหตุสำคัญของฝุ่นควัน PM2.5 คือการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะตอซังในไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

รายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเผาเศษวัสดุการเกษตรในไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จัดทำโดยมูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบุว่า การเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูแล้ง เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกฤดูกาลถัดไป นอกจากจะก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นควัน PM2.5 แล้ว ยังทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น

รายงานของมูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบุอีกว่า หากเกษตรกรไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดในประเทศไทยใช้วิธีเผาตอซังข้าวโพดเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก จะก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 6.25 ล้านตัน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์ 1.32 ล้านคันปลดปล่อยในระยะเวลา 1 ปี จึงแนะนำให้เกษตรกรหันไปใช้วิธีการฝังกลบตอซังข้าวโพดแทนการเผา นอกจากจะหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ซ้ำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน และลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการซื้อปุ๋ย

ทางด้าน นิโคลัส เฮเกลเบิร์ก ผู้เชียวชาญด้านสภาวะโลกร้อน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ อธิบายภาพรวมของปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเขาระบุถึงปัญหาฝุ่นควันว่า มีส่วนทำให้โลกร้อนมากขึ้น

ฝุ่นควันจากการเผามีองค์ประกอบหลักคือคาร์บอนดำ (Black Carbon) ซึ่งสามารถดูดซับความร้อนได้ดี จึงทำให้อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศสูงขึ้น ซึ่งจะขัดขวางการก่อตัวของเมฆและการเกิดฝน

อย่างไรก็ตาม นิโคลัส อธิบายว่า ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างมลภาวะทางอากาศและสภาวะโลกร้อน ทำให้การแก้ปัญหาหนึ่งส่งผลให้อีกปัญหาหนึ่งบรรเทาลง

“ขณะนี้เรามีแนวทางการควบคุมการก่อมลพิษทางอากาศ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการกรองมลพิษที่แหล่งกำเนิด ทุกภาคส่วนจึงควรลงมือแก้ไขปัญหามลพิษอย่างจริงจัง”

นิโคลัสปิดท้ายว่า แม้ว่าการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำได้ยากและซับซ้อน แต่เราก็ควรแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน โดยเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กันไป เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะยังมีสภาพสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อการดำรงชีวิตในอนาคต