นอกจากบทบาทของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมช่วงวันหยุดที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือหนึ่งในพื้นที่ที่มีการศึกษา “ชะนี” ยาวนานที่สุดในโลก
ชะนี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในกลุ่มวานร (Ape) ชนิดเล็กที่สุด อาศัยอยู่บนต้นไม้และกินผลไม้เป็นอาหารหลัก ซึ่งจากการเฝ้าติดตามพฤติกรรมชะนีทำให้พบว่า สัตว์ชนิดนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศในป่าเขาใหญ่ ในฐานะผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืช
นับเป็นเวลามากกว่า 20 ปี ที่ทีมวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ทำการศึกษานิเวศวิทยาประชากรและชีววิทยาของชะนี ความหลากหลายของพรรณไม้ เถาวัลย์ ความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ รวมถึงการติดตามศึกษาพลวัตป่าใน “แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต”
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2539 แปลงวิจัยขนาดราว 190 ไร่แห่งนี้ ได้ก่อตั้งขึ้นภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเริ่มต้นการศึกษาวิจัยชะนี เน้นพฤติกรรมของสัตว์และความสัมพันธ์เชิงสังคมของชะนี รวมถึงการส่งเสียงร้องของชะนี พฤติกรรมการกินอาหาร ความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ในการอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน จนถือเป็นแปลงศึกษานิเวศวิทยาถาวรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
อนุตตรา ณ ถลาง ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส สวทช. ให้ข้อมูลว่า ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีชะนี 2 ชนิดพันธุ์ คือ ชะนีมือขาว (H. lar) และชะนีมงกุฎ (H. pileatus) ซึ่งแปลงวิจัยมอสิงโตฯ อยู่ในเขตการกระจายพันธุ์ของชะนีมือขาว โดยชะนีแต่ละกลุ่มมีอาณาเขตเฉพาะ และจะใช้เสียงร้องเป็นทำนองแบบต่างๆ เพื่อประกาศอาณาเขตและสื่อสาร เป็นระบบสังคมที่พบได้น้อยมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ทั้งนี้ บทบาทสำคัญของชะนีในฐานะผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืช มาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่จะกลืนผลไม้ไปพร้อมกับเมล็ด เมื่อชะนีเดินทางไปตามจุดต่างๆ ในอาณาเขต จะพาเมล็ดพืชเหล่านั้นไปด้วย พร้อมทั้งขับถ่ายออกมา และด้วยชะนีอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง มูลที่ขับถ่ายออกมาจะกระจัดกระจายไปทั่วทั้งแปลง ไม่มีการกระจุกรวมกัน จึงทำให้เมล็ดพันธุ์พืชเหล่านี้กระจายไปตามที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง
“จากการติดตามศึกษามูลชะนี พบว่าในการขับถ่ายแต่ละครั้งจะพบเมล็ดพืชหลายชนิด โดยผลไม้ที่ชะนีชื่นชอบ คือ เงาะป่า ซึ่งในปี 2550 ที่ต้นเงาะป่าออกผลดก ทีมวิจัยสามารถนับเมล็ดเงาะป่าในมูลชะนีได้มากกว่า 3,000 เมล็ด แต่ในยามขาดแคลนผลไม้ก็พบว่าชะนีจะกินผลเถาวัลย์แทน โดยในปี 2551-2552 พบเมล็ดเถาวัลย์ในมูลชะนีมากกว่า 4,000 เมล็ด ดังนั้นชะนีจึงเป็นสัตว์ป่าที่มีความสำคัญในการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชให้กับป่า เพื่อคงความหลากหลายและสร้างสมดุลของของป่าไว้ได้ดี” เธอขยายความ
อนุตตรา ระบุด้วยว่า จากการศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโตฯ จากสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ร่วมกับทีมวิจัยจากเยอรมนีด้วยการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ พบว่าป่าที่สมบูรณ์แต่ไม่มีสัตว์ป่าช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ จะมีศักยภาพการสะสมคาร์บอนน้อยกว่าป่าที่มีสัตว์ป่า เพราะต้นไม้ที่สัตว์ป่าช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์มักเป็นต้นไม้ที่ความหนาแน่นของเนื้อไม้สูง สะสมคาร์บอนได้มาก
สอดคล้องกับผลการตรวจวัดประเมินด้วยเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกลชนิด LiDAR ที่อาศัยหลักการยิงเลเซอร์ไปยังวัตถุ โดยทีมวิจัยได้ร่วมมือกับนักวิจัยฝรั่งเศสในการศึกษา ซึ่งพบว่าป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่บางส่วนเป็นพื้นที่แผ้วถางมาก่อน แต่ป่าบริเวณนี้ที่เริ่มมีการฟื้นตัวกลับมีการสะสมคาร์บอนได้มาก ในอัตราที่รวดเร็วกว่าป่ารุ่นเก่าอย่างมาก เพราะมีความต้องการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงสูง จึงเป็นข้อมูลที่สนับสนุนว่าการปลูกป่าและการฟื้นฟูป่าอาจเป็นหนทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังพบข้อมูลที่อาจแสดงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เมื่อพบว่าการเติบโตของพืชในแปลงวิจัยฯ มีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ต้นเงาะป่า ที่เจริญเติบโตได้ดีโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีระดับความสูงมากขึ้น ขณะที่ไม่พบการเกิดและเติบโตในพื้นที่ราบ หรือเจริญเติบโตได้จำนวนน้อยมาก เช่นเดียวกับสัตว์ป่าอย่าง ไก่ฟ้าพญาลอ ที่เคยพบหากินและอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบซึ่งอยู่ต่ำกว่าแปลงวิจัยมอสิงโตฯ แต่ระยะหลังกลับพบการย้ายถิ่นขึ้นมาในพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าภาวะโลกร้อนอาจทำให้พืชและสัตว์ป่ามีการปรับตัวอพยพย้ายถิ่นขึ้นมาอยู่ในบริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากขึ้น เพราะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า
“ปกติบริเวณมอสิงโตซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร จะพบไก่ฟ้าหลังขาว และในบริเวณที่ต่ำกว่าจะเป็นที่อยู่ของไก่ฟ้าพญาลอ แต่ระยะหลังมานี้พบไก่ฟ้าพญาลอขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ที่มอสิงโต ขณะที่ไก่ฟ้าหลังขาวย้ายถิ่นขึ้นไปอยู่บริเวณที่สูงขึ้นและมีให้เห็นน้อยลง โดยทีมวิจัยจะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปทำการศึกษาเพื่อเป็นองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต” เธอระบุ
สำหรับองค์ความรู้จากแปลงศึกษาวิจัยมอสิงโตฯ ที่เป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ ทั้งความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ พืชอาหารที่เป็นประโยชน์ของสัตว์ป่า ความสมดุลของต้นไม้และพันธุ์พืชอื่นๆ ทางทีมวิจัยเชื่อว่าพื้นที่ป่าอื่นๆ ในประเทศไทยอาจใช้เป็นต้นแบบในการทำแปลงศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าเขตร้อนในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ของป่าเขตร้อน สร้างเสถียรภาพด้านภูมิอากาศ และเป็นทางออกของปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันโครงการวิจัย “การติดตามศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโต จากสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป” ยังเป็นหนึ่งในหลายร้อยผลงานที่ สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำมาจัดแสดงร่วมกับพันธมิตรในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ International Conference on Biodiversity 2019 (IBD2019) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2562
กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ระบุว่า แปลงวิจัยมอสิงโตฯ ได้มีการติดตามศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและมหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ Biodiversity Research and Training Program (BRT) ซึ่งได้รับการยอมรับจากวงการวิชาการว่าเป็นแปลงศึกษานิเวศวิทยาถาวรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นแหล่งการสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยแปลงวิจัยมอสิงโตฯ ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายแปลงวิจัยพลวัตป่าขนาดใหญ่ทั่วโลกของ Center for Tropical Forest Science (CTFS) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสถาบันสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความร่วมมือกับนักวิจัยนานาชาติในการศึกษาวิจัยมากมาย จนปัจจุบันมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ รวมแล้ว 15 เรื่อง
“สวทช.เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั้งปัจจุบันและในอนาคต จึงเปิดข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพที่ทีมวิจัยได้สำรวจครั้งนี้ เพื่อนำเสนอเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญต่อสาธารณชน และเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อการอนุรักษ์ร่วมกันในทุกภาคส่วนต่อไป” กุลประภา กล่าวทิ้งท้าย