คพ.เปลี่ยนมาตรฐานควบคุมน้ำเสีย ‘โรงไฟฟ้า’ กำหนดเกณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องมลพิษฟอสซิล

คพ.เตรียมจัดทำมาตรฐานควบคุมน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นการเฉพาะ สอดคล้องแหล่งกำเนิดมลพิษสูง

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศไทยถูกควบคุมการระบายน้ำทิ้งที่ระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานกลางที่บังคับใช้กับอุตสาหกรรมทุกประเภท ทำให้ไม่สามารถควบคุมอุตสาหกรรมบางประเภทที่มีมลพิษสูงอย่างโรงไฟฟ้าได้ คพ.จึงจัดทำมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิต วัตถุดิบ และลักษณะสมบัติของน้ำเสียที่แท้จริง

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีการระบายมลพิษทางน้ำออกมาเป็นจำนวนมาก โดยฐานข้อมูลการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด และระบบอนุญาตการระบายมลพิษ ขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US.EPA.) เมื่อปี 2556 ได้แสดงให้เห็นว่าโรงไฟฟ้ามีการระบายปริมาณมลพิษทางน้ำ ได้แก่ ปรอท สารหนู และตะกั่ว ลงสู่แหล่งน้ำมากที่สุด ซึ่งโลหะหนักดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตอย่างรุนแรง อีกทั้งยังไม่สามารถย่อยสลายได้ในสิ่งแวดล้อมแต่จะสะสมอยู่ในตะกอนดิน แหล่งน้ำ และสัตว์น้ำ และเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ตามห่วงโซ่อาหารในที่สุด

นายประลอง กล่าวว่า คพ.ได้จัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อกำหนดขอบเขตของพารามิเตอร์และค่าควบคุมในมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งมาตรการป้องกันผลกระทบต่อแหล่งน้ำ แผนการดำเนินงาน และแบบฟอร์มที่ใช้กรอกข้อมูลของโรงไฟฟ้า โดยเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ก๊าซชีวภาพ และถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดมาตรฐาน พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อกำหนดพารามิเตอร์และกำหนดค่ามาตรฐาน

“คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ ได้มีมติเห็นชอบกับกรอบการกำหนดมาตรฐานฯ พร้อมให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดทำมาตรฐานฯ ต่อไป” นายประลอง กล่าว