วิกฤตปัญหาขยะ…วิกฤตมหาสมุทร

ในปี 2561 มีปริมาณขยะเกิดขึ้นประมาณ 27.8 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64% เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมเมือง การเพิ่มขึ้นของประชากร การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น

ในแง่การจัดการขยะมูลฝอยในปี 2561 มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะขยะได้ถูกคัดแยก ณ ต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน (34%) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 13% ส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์จากขยะรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์ ขยะมูลฝอยชุมชนอีก 10.88 ล้านตัน (39%) ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง ส่วนที่เหลือเป็นขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องประมาณ 7.36 ล้านตัน (27%)

แนวโน้มการจัดการขยะที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) บนแนวคิด 3R – ประชารัฐ มุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอย ณ ต้นทาง โดยการมีส่วนรวมของภาครัฐและประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในระดับท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยเพื่อส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง ขณะที่ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร 4.85 ล้านตัน (17%) ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งหมด) มีการคัดแยกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 0.92 ล้านตัน (19% ของขยะมูลฝอยที่เกิดในกรุงเทพฯ) ที่เหลือ 3.93 ล้านตัน นำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการโดยการฝังกลบ ณ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และโดยการเผากำจัดด้วยเตาเผา ณ ศูนย์รวบรวมขยะมูลฝอยหนองแขม

สำหรับใน 76 จังหวัดทั่วประเทศมีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นทั้งหมด ประมาณ 22.97 ล้านตัน (83% ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งหมด) มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีระบบเก็บรวบรวมและขนส่งขยะมูลฝอยไปกำจัดยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย จำนวน 4,894 แห่ง ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,881 แห่ง ยังไม่มีการเก็บรวบรวมขนส่งขยะมูลฝอยไปกำจัด โดยประชาชนต้องกำจัดขยะในพื้นที่ของตน

ทั้งนี้ ยังมีปัญหาขยะพลาสติกจากบนบกลงสู่ทะเล ซึ่งจากปริมาณขยะมูลฝอยในปี 2561 จำนวน 27.8 ล้านตัน พบพลาสติกในขยะชุมชนประมาณ 2 ล้านตัน สามารถนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลประมาณ 500,000 ตัน (ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก) ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นขยะพลาสติก 1.5 ล้านตัน (ประกอบด้วยถุงพลาสติกประมาณ 1.2 ล้านตัน ที่เหลือเป็นพลาสติกอื่นๆ เช่น แก้ว กล่อง ถาด ขวด ฝาจุก) ประกอบกับในปี 2561 มีปริมาณขยะมูลฝอยที่มีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 7.15 ล้านตัน โดยเฉพาะการกำจัดแบบเทกองหรือเผากลางแจ้งในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย การกองทิ้งเอาไว้หรือลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์หรือลักลอบทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้มีขยะมูลฝอยจากบกปะปนและตกค้างอยู่ในทะเล รวมถึงการทิ้งขยะในทะเลโดยตรง จึงส่งผลกระทบกับสัตว์ทะเล