ทช.เผยอัตรารอดชีวิตสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้นกว่า 50% หลังรณรงค์อนุรักษ์-ลดขยะได้มากกว่า 50% จากเดิมเกยตื้นตายปีละกว่า 400 ตัว เหตุเครื่องมือประมงรัด-กินขยะทะเล
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยในวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ว่าการแก้ปัญหาปริมาณขยะลงสู่ทะเลจะต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภายหลังประเทศไทยได้เป็นประธานการประชุมระดับอาเซียน มีการนำเสนอแนวทางการลดปริมาณขยะ ซึ่งทุกประเทศได้ขานรับและพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนและผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อการบริหารจัดการขยะทะเลโดยเฉพาะ
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ส่วนท้องทะเลไทย ทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ติดตั้งบูมกักบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง และคลองสาขา ซึ่งสอดคล้องกับโครงการติดตั้งบูมกักขยะบริเวณ 10 แม่น้ำสายหลักเพื่อลดปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลได้ นอกจากนี้ยังเตรียมจัดซื้อเรือจัดเก็บขยะในทะเลที่มีประสิทธิภาพอีก 2 ลำ เพื่อปฏิบัติภารกิจจัดเก็บขยะในทะเลและชายฝั่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะล โดยจะทำงานเป็นเส้นขนานระหว่างลดการสูญเสียของสัตว์ทะเลหายาก
ภายหลังการรณรงค์ในเรื่องนี้ พบว่าอัตราการรอดชีวิตของสัตว์ทะเลหายากมากกว่า 50% ขณะที่การลดขยะพบว่ามีจำนวนขยะลดลงจากเดิมมากกว่า 50% เช่นกัน ดังนั้นการรณรงค์ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ ประชาชนช่วยกันดูแลทรัพยากรทางทะเลกันมากขึ้นและช่วยกันลดปริมาณขยะ จึงเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะทำสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทยมีจำนวนรอดที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูสถิติการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ทะเลหายากเตยตื้น ระหว่างปี 2558-2560 พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละกว่า 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 57% โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5% สาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากการเกยตื้นตาย เพราะโดนเครื่องมือประมงรัดตามร่างกาย และเกิดจากการกินขยะทะเลเข้าไปแล้วป่วยตาย จากปัญหาข้างต้นทาง ทช.ได้กำหนดแนวทางต่างๆ เพื่อลดจำนวนการตายของสัตว์ทะเลหายาก รวมทั้งลดสาเหตุตั้งแต่ต้นทาง คือการลดปริมาณขยะสู่ทะเล
นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากขึ้น 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมด โดยทำงานร่วมกับแนวร่วมเครือข่ายองค์กรในพื้นที่ มหาวิทยาลัย และชุมชนมากกว่า 25 แห่ง อีกทั้งยังมีการจัดฝึกอบรมสัตวแพทย์ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครชุมชน มากกว่า 800 คน ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้สัตว์ทะเลหายากมีอัตรารอดเพิ่มขึ้น