ผอ.สำนักอุทยานฯ แจงสาระสำคัญกฎหมายอุทยานฯ ฉบับใหม่ เน้นคนอยู่กับป่าแบบไม่กระทบระบบนิเวศ เอาผิดคนบุกรุกป่าเพิ่มเติม ยังเปิดทางคนในชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่สามารถเก็บหาของป่าได้
นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเตรียมประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย มี 4 ประการ คือ 1.มีการกำหนดแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายการจัดการอุทยานตามที่คณะกรรมการอทุยานฯ ให้ความเห็นชอบเพื่อให้การจัดทำแผนการบริหารจัดการและการกำหนดเขตการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพในการคุ้มครอง บำรุง ดูแลรักษา และการสะท้อนถึงสภาพปัญหาการดำรงชีพตามวิถีชุมชนและวิถีชีวิตดั้งเดิมที่อยู่โดยรอบอุทยานฯ ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อลักษณะพื้นที่ที่ต้องการอนุรักษ์สภาพธรรมชาติหรือเป็นพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศและรักษาสภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ
2.ปรับบทกำหนดโทษให้สูงขึ้น เนื่องจากตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มีบทกำหนดโทษที่ไม่สูงมาก ทำให้ไม่อาจข่มขู่ยับยั้งผู้กระทำผิดได้ อีกทั้งในปัจจุบันมีการบุกรุกทำลายพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงมีการปรับบทกำหนดโทษให้สูงขึ้นโดยเทียบเคียงกับ พ.ร.บ.ในลักษณะเดียวกันที่มีโทษสูง ได้แก่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556
3.แก้ไขปัญหาคนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กำหนดบทบัญญัติที่กำหนดขึ้นเพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาให้แก่บุคคลที่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเดิม (ภายใต้กรอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557) ซึ่งผ่อนปรนให้อยู่อาศัยหรือทำกินเพื่อดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยผู้อยู่อาศัยมีหน้าที่ในการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติด้วยเป็นการให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างปกติสุข
4.การเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและเพื่อแก้ปัญหาการดำรงชีพตามวิถีชุมชนหรือวิถีดั้งเดิมที่อยู่โดยรอบบริเวณอุทยานแห่งชาติ โดยจัดทำเป็นโครงการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนให้สามารถเก็บหาหรือใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลเพื่อดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระภายใต้หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขโดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ
ดร.ทรงธรรม กล่าวอีกว่า เรื่องการเก็บหา หรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนตามมาตรา 65 ของร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่นั้น กรมอุทยานฯ จะสำรวจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเภทและชนิดของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ในอุทยานฯ พื้นที่ในอุทยานฯ ใดมีศักยภาพเพียงพอ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลที่สามารถเก็บหาหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาตินั้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงชีพอันเป็นปกติธุระวิถีชุมชนหรือวิถีดั้งเดิมที่อยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติ และต้องสอดคล้องกับนโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติและแผนบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ทั้งนี้ ให้กรมอทุยานฯโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ จัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยออกประกาศกระทรวงและมีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการเสนอ ครม. เห็นชอบ ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการอนุญาตที่กำหนด ทั้งนี้สำหรับทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนสามารถเก็บหาได้ คือ เห็ด ผักหวาน หน่อไม้ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการสำรวจและกำหนดโซนนิ่งพื้นที่ชัดเจน และคนที่เข้ามาใช้ทรัพยากรได้ต้องเป็นชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่อุทยานฯ เท่านั้น