มาตรการเสีย ‘ป่า’ ครั้งสุดท้าย…เพื่อยุติการเสียป่าทั้งมวล

ประเทศไทยเริ่มมีการประกาศเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตั้งแต่ปี 2504 ภายหลังการมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับแรก โดยกำหนดขอบเขตในการคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมมาตรการและบทลงโทษเอาไว้ใช้ แก่ผู้ที่ละเมิดหรือฝ่าฝืนคำสั่งในพื้นที่เหล่านั้น

อย่างไรก็ตามการขีดเส้นดังกล่าวในขณะนั้น กลับต้องพบกับปัญหาความไม่สอดคล้อง การทับซ้อนพื้นที่เดิม ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่กับป่ามาแต่ก่อน ก่อเป็นความเดือดร้อนให้กับชุมชนที่ต้องถูกตีตรา หาว่าเป็นผู้กระทำผิดมานับแต่นั้น

ท่ามกลางความพยายามในการแก้ไขปัญหามากมาย ในปี 2541 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติจัดการปัญหา โดยให้มีการสำรวจพื้นที่ที่มีการครอบครองให้ชัดเจน ตรวจพิสูจน์สิทธิและขึ้นทะเบียนผู้ครอบครอง เพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด และห้ามมิให้บุกรุกป่าเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ทว่าระยะเวลาล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี นอกจากจะไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรให้เสร็จสิ้นได้แล้ว ยังต้องเผชิญกับราษฎรที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

กระทั่งในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ 66/2557 เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือต่อราษฎรผู้ยากไร้ มีรายได้น้อย และผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินหน้าสำรวจการครอบครองที่ดิน ภายใต้แผนปฏิบัติงาน “การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ” โดยสำรวจขอบเขตพื้นที่ป่าสมบูรณ์ และขอบเขตพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก พร้อมให้ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมจัดทำฐานข้อมูลสำคัญ ที่จะใช้ในปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่ป่าและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม

จากการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูล การประชุมชี้แจงกรอบกติการ่วมกับชุมชน การเดินสำรวจขอบเขตพื้นที่ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การซ้อนทับภาพถ่ายดาวเทียม พร้อมกับการนำเรื่องเข้าที่ประชุมระดับจังหวัด ในที่สุดก็ได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลข 5.2 ล้านไร่ ของเขตพื้นที่ป่าที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั่วประเทศ

ล่าสุดในวันที่ 11 ก.พ. 2562 กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้มอบหมายการปฏิบัติงานแก่หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 293 แห่งทั่วประเทศ พร้อมส่งมอบแผนที่แสดงขอบเขตของแต่ละแห่งเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งไม่ว่าในอนาคตใครจะเป็นผู้ดูแลพื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ จำเป็นจะต้องรับหน้าที่รักษาแนวเขตดังกล่าวเอาไว้ ดังที่ปรากฏตามแผนที่อย่างไม่มีผิดเพี้ยน

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการ จะแบ่งพื้นที่ออกได้เป็น 4 ส่วน คือ 1.พื้นที่บุกรุกก่อน 30 มิ.ย. 41 จะอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ โดยการพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 และพื้นที่เหล่านั้นจะต้องไม่มีการเปลี่ยนมือ 2.พื้นที่บุกรุกระหว่าง 30 มิ.ย. 41 – 17 มิ.ย. 57 จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้บุกรุก หากเป็นผู้ยากไร้ มีรายได้น้อย จะอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ แต่หากเป็นนายทุนจะต้องยึดคืนและดำเนินคดี 3.พื้นที่บุกรุกหลัง 17 มิ.ย. 57 จะยึดคืนและดำเนินคดีทุกกรณี ไม่มีเงื่อนไข 4.พื้นที่มีเอกสารสิทธิ จะต้องตรวจสอบว่าเอกสารสิทธิถูกต้อง ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เมื่อดูจากตัวเลขยอดรวมทั้งหมด นั่นหมายความว่าพื้นที่ที่ถูกบุกรุกแล้วกว่า 5.2 ล้านไร่ในขณะนี้ จะต้องไม่มีการเพิ่มขึ้นอีกต่อไป ในขณะเดียวกันภายหลังกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดแล้วเสร็จ พื้นที่บางส่วนจะถูกนำกลับคืนเพื่อฟื้นฟูกลับไปเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีกครั้งหนึ่ง

ขณะเดียวกัน แม้พื้นที่ที่ผ่านการพิสูจน์สิทธิของราษฎรจะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ต่อไปแล้ว กรมอุทยานฯ ยังจะคงมีพันธกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรเหล่านั้น ให้สามารถอยู่อาศัยร่วมกับผืนป่าขนาดใหญ่ โดยที่ไม่มีการทำลายทรัพยากรในพื้นที่ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน บนวิถีของการร่วมกันคุ้มครองดูแลป่าไม้และสัตว์ป่าบริเวณข้างเคียง

นี่จึงกลายเป็นความหวังของใครหลายคนที่ตั้งเอาไว้ว่า นับแต่นี้พื้นที่ป่าของประเทศไทย … จะไม่ต้องสูญเสียไปกับสิ่งใดอีกในอนาคต