ลดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลงเหลือ 12% มุ่งพลังงานหมุนเวียน-รับซื้อไฟโซลาร์รูฟท็อป

กพช.ไฟเขียวแผนพีดีพี 2018 ตรึงค่าไฟฟ้า 3.58 บาทต่อหน่วย หั่นถ่านหินเหลือ 12% สั่งกระทรวงพลังงานทบทวนแผนทุก 5 ปี

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 ระยะ 20 ปี หรือแผนพีดีพี 2018 ซึ่งมีการทบทวนกำลังการผลิตไฟฟ้า การจัดทำพยากรณ์ค่าความต้องการไฟฟ้าในระยะ 20 ปี ภายใต้แผนดังกล่าวได้ประเมินราคาค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.50-3.68 บาทต่อหน่วย หรือเฉลี่ย 3.58 บาทต่อหน่วย โดยให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผนทุก 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง

นอกจากนี้ ช่วงปลายแผนพีดีพีกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศจะอยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 46,090 เมกะวัตต์ สำหรับสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าใหม่รวม 56,431 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 20,766 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2,112 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม 13,156 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ 1,740 เมกะวัตต์ การรับซื้อจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าใหม่/ทดแทน 8,300 เมกะวัตต์ และจากแผนอนุรักษ์พลังงาน 4,000 เมกะวัตต์

ด้านสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิงที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มีสัดส่วน 35% คือ พลังน้ำต่างประเทศ 9% พลังงานหมุนเวียน 20% การอนุรักษ์พลังงาน 6% สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลงเหลือ 12% จากแผนเดิมกำหนดไว้ถึง 20% เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีส ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนี้ กพช. ได้เห็นชอบโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน หรือโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปออกแบบการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคประชาชนผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่อยู่อาศัยที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองและเหลือต้องการขายให้การไฟฟ้าภูมิภาคหรือการไฟฟ้านครหลวง โดยมีเป้าหมายปีแรกจะรับซื้อไม่น้อยกว่า 100 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 10 ปี ส่วนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้ กกพ. ไปหารือกับคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ต่อไป

นายศิริ กล่าวว่า กพช.ยังได้เห็นชอบให้ต่ออายุสัญญากลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) ระบบโคเจนเนอเรชั่น จำนวน 25 ราย กำลังผลิตไฟฟ้า 2,974 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 20 ราย และถ่านหิน 5 ราย ที่สิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2559-2568 โดยได้รับการต่ออายุสัญญาหรือก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ อายุสัญญา 25 ปี โดยให้ใช้เชื้อเพลิงตามสัญญาเดิมและได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องกับประเภทเชื้อเพลิง โดยก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย ถ่านหิน 2.54 บาทต่อหน่วย พร้อมกับมอบ กกพ. พิจารณาต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าภายใต้หลักการตามมติ กพช. สำหรับโรงไฟฟ้าที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2562-2564 และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ทันเพื่อให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้

“เอสพีพี ระบบโคเจนเนอเรชั่น มีความสำคัญต่อนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะโรงไฟฟ้าเหล่านี้ตั้งอยู่ในนิคมฯ และผลิตไฟป้อนผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาติดขัด แต่มติ กพช.ครั้งนี้จะทำให้ทุกแห่งเดินหน้าการลงทุนใหม่ได้” นายศิริ กล่าว