คณะวิทย์ฯ ม.เกษตรฯ นำร่องโครงการเลิกใช้โฟม-พลาสติก 100% จับมือเอกชนผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษย่อยสลายได้ ประเดิมใช้งาน “เกษตรแฟร์ 62” ก่อนขยายทั่วมหาวิทยาลัย
รศ.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU) เปิดเผยว่า ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับบริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด เพื่อนำร่องโครงการที่จะนำไปสู่การเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมและพลาสติก 100% ตามเป้าหมายที่ต้องการผลักดันให้ศูนย์อาหารภายในมหาวิทยาลัยหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% ในปี 2562
รศ.อภิสิฏฐ์ กล่าวว่า โครงการ SCI KU GO ZERO WASTE WITH KM PACKAGING จะนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่คาดว่าจะช่วยลดขยะพลาสติกและโฟมได้ถึงปีละกว่า 4.5 แสนชิ้น สอดคล้องกับการเรียนการสอนหลายด้านของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เริ่มโครงการคัดแยกขยะในบริเวณคณะฯ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จไประดับหนึ่ง
นายพศิน กมลสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทได้ร่วมสนับสนุนด้วยกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษ ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเองภายใน 180 วัน ภายในแบรนด์ Green Good by K.M. Packaging ซึ่งสอดคล้องกับโครงการที่คณะวิทยาศาสตร์ดำเนินการอยู่ โดยโครงการในเบื้องต้นบริษัทจะสนับสนุนบรรจุภัณฑ์มูลค่าประมาณ 2 แสนบาท
“บริษัทให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเห็นควรเริ่มต้นจากนักเรียนนักศึกษา จึงมีเป้าหมายที่จะเลือกมหาวิทยาลัยในเมืองไทยที่มีความใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด มีคณะที่มีการเรียนการสอนในเรื่องสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงได้เลือกคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเพื่อผลักดันและขยายผลสำเร็จต่อในอนาคต” นายพศิน กล่าว

ผศ.จริน กาญจนวรินทร์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของคณะวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้จะสามารถขยายผลต่อ ให้เลิกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมและพลาสติก 100% ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป และในงานเกษตรแฟร์ 62 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25 ม.ค. – 2 ก.พ. 2562 ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จะนำบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้มาใช้ในบูธของสโมสรและคณะต่างๆ ด้วย
ด้าน ผศ.ชุรภา ธีรภัทรสกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์อาหารของคณะวิทยาศาสตร์ มีนโยบายงดใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม 100% แล้ว เหลือเพียงแก้วน้ำเท่านั้นที่ยังคงมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อจำกัดในเรื่องขนาดและคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการ
“การร่วมมือกับบริษัทฯ ในครั้งนี้ ทางศูนย์ได้รับการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์แก้วย่อยสลายได้ เพื่อนำมาใช้แทนแก้วพลาสติกทั้งหมด ถือว่ามีส่วนเติมเต็มให้โครงการสมบูรณ์ และสามารถเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมและพลาสติกได้ 100% ตามเป้าหมายของโครงการ” ผศ.ชุรภา กล่าว