มธ.จัดพายเรือ ‘เจ้าพระยา’ เก็บขยะ 10 จังหวัด รัฐร่วมขบวน-รณรงค์คนไทยเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำ

ธรรมศาสตร์ระดมหลากหน่วยงาน เตรียมจัดพายเรือเก็บขยะเจ้าพระยา 10 จังหวัด รณรงค์คนไทยเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแถลงข่าวกิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา-เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย” เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งส่งผลไปถึงปัญหาขยะในทะเลที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยขยะในทะเลของประเทศไทยกว่า 80% มาจากแม่น้ำ พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว จะเป็นการพายเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าน 10 จังหวัด ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อร่วมกันเก็บขยะ ตั้งแต่วันที่ 10-23 ธ.ค. 2561 โดยเริ่มต้นที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ สิ้นสุดที่พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งขบวนเรือทั้งหมดประกอบด้วยเรือคายัคหลัก 10 ลำ ที่จะพายตลอดเส้นทาง และเรือสมทบของแต่ละจังหวัด ที่ประกอบด้วยเรือของชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ เรือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 20 ลำ สำหรับประชาชนที่มาร่วมพายเรือเก็บขยะ และเรือของนักพายเรือทุกจังหวัดมาร่วมกิจกรรม โดยมีผู้ว่าราชการเป็นประธานเปิดงานในแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ กิจกรรมทั้งหมดได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน (ชป.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมกิจการพลเรือน กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กลุ่มบิ๊กทรีส์ และองค์กรภาคประชาสังคมของจังหวัด

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร มธ. ศูนย์รังสิต เปิดเผยว่า กิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่เพียงเป็นการเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการทำให้คนไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 10 จังหวัดเลิกทิ้งขยะ รวมถึงการเลิกปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเจ้าพระยา และจะนำไปสู่แม่น้ำอื่นๆ ในประเทศต่อไป โดยประชาชนที่ต้องการร่วมภารกิจชวนคนไทยให้เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำครั้งนี้ สามารถที่ร่วมกิจกรรมได้ตามจุดต่างๆ ของแต่ละจังหวัดได้

ผศ.ปริญญา กล่าวว่า ภายในการจัดกิจกรรมทุกจังหวัดจะไม่มีการใช้ขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยจะใช้ภาชนะแบบล้างได้ทั้งหมด เพื่อรณรงค์การเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งขยะที่เก็บได้จะมีการแยกเพื่อให้ชุมชนทุกจังหวัดได้เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังจะมีการเก็บตัวอย่างน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดเส้นทางเพื่อทดสอบคุณภาพน้ำ และปริมาณไมโครพลาสติก ที่อาจกลับเข้าสู่ตัวเราโดยการบริโภคสัตว์น้ำ รวมถึงการเก็บข้อมูลอื่นๆ เช่น ภาพถ่ายของแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดทั้งสาย อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัด มท. กล่าวว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณในการจัดการขยะปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยสามารถเก็บจากค่าบริการได้เพียง 2,800 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท นำมาจากภาษีประชาชน ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันทำอย่างไรให้เกิดขยะน้อยที่สุด ขณะเดียวกันกว่า 70% ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่มีศักยภาพในการจัดการขยะด้วยตัวเอง จึงได้มีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ 324 แห่ง เพื่อรวบรวมการจัดการ รวมถึงเสาะหาวิธีการเพิ่มเติม อย่างการนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือแท่งเชื้อเพลิง (RDF) เป็นต้น

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. กล่าวว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะเกิดขึ้นปีละ 27 ล้านต้น หรือเฉลี่ย 7.5 หมื่นตันต่อวัน โดยประเมินว่าจะมีขยะที่ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาถึง 1,400 ตันต่อปี ซึ่งล่าสุดหน่วยงานภาครัฐได้มีตัวชี้วัดในการลดขยะ โดยเฉพาะการงดใช้โฟมและพลาสติก ซึ่งในปีแรกตั้งเป้าให้แต่ละหน่วยงานมีปริมาณขยะลดลง 5% ส่วนหน่วยงานใน ทส.ลดลง 10%

นายธีระพล ตั้งสมบุญ รองผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 11 กล่าวว่า กรมชลประทานดูแลเส้นทางน้ำกว่า 3 แสนกิโลเมตรทั่วประเทศ ซึ่งงานหนักคือการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ไม่มีวันหมด ส่วนหนึ่งมาจากสภาพสังคม ซึ่งในอดีตเคยใช้เส้นทางน้ำในการสัญจรเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเมื่อไม่มีการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน จึงทำให้ผู้คนไม่สนใจและกลายเป็นที่ทิ้งขยะไป

อนึ่ง กิจกรรมในครั้งนี้ไม่มีการรับบริจาค โดยประชาชนที่ต้องการร่วมภารกิจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามจุดต่างๆ ของทุกจังหวัด หรือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถร่วมลงชื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ รวมถึงติดตามการพายเรือได้ ผ่านทางเฟสบุ๊คเพจ พายเรือเพื่อเจ้าพระยา