นักอนุรักษ์ร่วมค้านถนนคอนกรีต ‘เขาพะเนินทุ่ง’ ห่วงกระทบมรดกโลก-อุทยานฯยันก่อสร้างรัดกุม

เครือข่ายอนุรักษ์ยื่นหนังสือ “บิ๊กตู่” ค้านก่อสร้างถนนคอนกรีต “เขาพะเนินทุ่ง” ห่วงกระทบพื้นที่มรดกโลกแก่งกระจาน ด้านอุทยานฯ ย้ำปรับปรุงเส้นทางเดิม-ไม่กระทบสัตว์

เครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่า 15 องค์กรซึ่งรวมตัวกันในนาม เครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจาน เดินทางเข้ายื่นคำร้องคัดค้านการก่อสร้างปรับปรุงถนนขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2561 ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ที่อาจด้อยคุณค่าจากการทำถนนผ่านป่า และส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์

สำหรับโครงการดังกล่าว สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้ดำเนินการว่าจ้างผู้รับเหมาให้มีการปรับปรุงเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่ง ถนนสายบ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่ง ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร จากถนนดินลูกรังให้เป็นถนนคอนกรีต โดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ปิดแหล่งท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่งเพื่อปรับปรุงเส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 และเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2561 เป็นต้นมา โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 560 วัน

ทางเครือข่ายฯ ระบุว่า โครงการปรับปรุงถนนดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วม ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนนตัดผ่านพื้นที่ใจกลางอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นบ้านถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าหายาก การที่ต้องมีเครื่องจักรกลขนาดหนักที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง รถขนปูนที่ต้องวิ่งขนส่งไปมาไม่ต่ำกว่า 5,000 เที่ยวจะกระทบกับสัตว์ป่า อาจทำให้สัตว์ที่เคยเจอตัวง่ายต้องหลบหนีลึกเข้าไปและไม่กล้าออกมาด้านนอกให้เห็นอีกเลย

ขณะเดียวกันภายหลังการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนน จากบทเรียนที่ผ่านมาการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวโดยการปรับปรุงถนนให้ดีขึ้น ถึงแม้จะมีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาหลังการก่อสร้างเสร็จ แต่ไม่อาจการันตีได้ว่ามาตรการเหล่านั้นจะสามารถบังคับใช้ได้จริง แต่ผลที่ตามมาคือปริมาณรถที่วิ่งจะมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

น.สพ.เกษตร สุเตชะ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย หนึ่งในเครือข่ายฯ ระบุว่า พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ กับศูนย์มรดกโลกไว้แล้วตั้งแต่ปี 2554 และยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าการปรับปรุงถนนคอนกรีตอาจกระทบต่อความเป็นมรดกโลก โดยตัวอย่างจากกรณีของมรดกโลก 2 แห่งคือ ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร และดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ไม่ต้องปรับปรุงถนนคอนกรีตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ในขณะที่กรณีถนนสาย 304 ที่ตัดผ่ากลางป่าเขาใหญ่-ทับลาน และถนนที่ขึ้นเขาใหญ่ทั้งด่านเนินหอม จ.ปราจีนบุรี และปากช่อง จ.นครราชสีมา ก็เป็นโจทย์ที่คณะกรรมการมรดกโลกให้ไทยแก้ปัญหาด้วยการทำอุโมงค์เชื่อมป่า และถึงตอนนี้มีรายงานยืนยันว่าที่เขาอ่างฤาไน มีสัตว์ป่าหลายชนิดตายปีละ 3,000 ตัว เนื่องจากการทำถนนคอนกรีตต้องผูกเหล็กและเอาเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ ต้องใช้ปูนเทถนน ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างมาก

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน หนึ่งในเครือข่ายฯ ระบุว่า การจัดทำโครงการดังกล่าวหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าก่อสร้างถนนใหม่ แต่ใช้คำว่าปรับปรุงถนนเดิมแทน โดยไม่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่อย่างใด ซึ่งสมาคมฯ และเครือข่ายฯ ไม่อาจยอมรับได้ จึงนำความมาร้องต่อนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อสั่งให้ระงับหรือทบทวนโครงการดังกล่าวเสีย หากไม่เป็นผลก็จะนำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดี อส. ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2561 ว่า ถนนสายนี้เป็นเส้นทางลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ ในการเดินทางไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.19 (เขาพะเนินทุ่ง) และเดินทางไปลาดตระเวนตามแนวชายแดน อีกทั้งยังเป็นถนนสายท่องเที่ยวปกติ ซึ่งจะปิดการท่องเที่ยวในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ของทุกปี ดังนั้นเมื่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ตรวจพบสภาพถนนในปัจจุบันมีการชำรุดตลอดเส้นทาง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายแก่เจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยว จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนสายนี้ขึ้น

ทั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจาก อส. แล้วจำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 4 เมตร ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร และถนนน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 แห่ง ความยาวรวม 90 เมตร ภายใต้งบประมาณ 10,747,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 230 วัน 2.โครงการปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร พร้อมรางระบายน้ำ ภายใต้งบประมาณ 86,747,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 560 วัน

อธิบดี อส. ระบุว่า การดำเนินงานดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และระเบียบ อส. ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2549 รวมทั้งแนวทางพิจารณาการก่อสร้างถนนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2550 อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงผิวถนนเดิมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้เป็นการตัดถนนขึ้นมาใหม่ หรือเพิ่งจะมาทำถนนลาดยางในภายหลัง

ขณะเดียวกันยังได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2560 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2561 ซึ่งคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย หน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน (NGO) องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ โดยได้แจ้งเหตุผลความจำเป็นในการปรับปรุงผิวการจราจรให้คณะกรรมการฯ ได้ทราบแล้ว จึงไม่ได้เป็นการดำเนินการโดยลำพังแต่ประการใด

นอกจากนี้ ข้อมูลในปี 2561 มีรถยนต์เข้าไปท่องเที่ยวยังพะเนินทุ่ง รวมจำนวน 21,860 คัน เฉลี่ยวันละ 80 คัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าแต่ประการใด ดังนั้นข้อกังวลว่าการขนส่งวัสดุก่อสร้างจำนวน 5,000 เที่ยว จะรบกวนต่อสัตว์ป่า เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยรถที่ขนวัสดุก่อสร้างวันละ 9 คัน ยังต่ำกว่ารถยนต์นักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาในช่วงเวลาปกติ ดังนั้นการขนส่งวัสดุก่อสร้างจึงมีผลกระทบน้อยกว่าการสัญจรในช่วงเปิดท่องเที่ยวปกติอย่างชัดเจน ทั้งยังได้กำหนดมาตรการควบคุมไว้อย่างรัดกุมแล้ว

นายธัญญา ระบุว่า อย่างไรก็ตาม อส. ได้สั่งการให้ชะลอโครงการปรับปรุงผิวการจราจรไว้ก่อนแล้ว โดยในขณะนี้ผู้รับจ้างยังไม่ได้เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างแต่ประการใด เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้แจ้งให้ผู้รับเหมาทราบว่ายังมีปัญหาข้อขัดแย้ง ต่อกรณีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวข้างต้น จึงยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างเข้าดำเนินการปรับปรุงผิวการจราจรได้ พร้อมทั้งได้มีหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมหารือเพื่อหาทางออก ในวันที่ 5 พ.ย. 2561 ให้ได้ข้อยุติต่อไป

อนึ่ง พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน Kaeng Krachan Forest Complex (KKFC) หรือ Thailand Western Forest Complex ได้มีความพยายามผลักดันให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และพื้นที่แนวเชื่อมต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและกุยบุรี เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตปลอดภัยทางทหาร

ทั้งนี้ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวิภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีการค้นพบชนิดพันธุ์อย่างน้อย 720 ชนิด มีการกระจายพันธุ์จากถิ่นอาศัยทางใต้ขึ้นไปจนถึงบริเวณเหนือสุด นอกจากนั้นยังพบสัตว์ป่าสงวนตามกฎหมายอีกหลายชนิด และยังเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตภูมิพฤกษ์ (Floristic-provinces) 4 ลักษณะเด่น ซึ่งพบการปรากฎของพืชเฉพาะถิ่นที่พบได้เฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเท่านั้น รวมถึงเป็นแหล่งสำคัญของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) เช่น จระเข้น้ำจืด