‘อังกฤษ’ แบนหลอด-คอตตอนบัด ‘อียู’ ลงมติลดพลาสติก 90% ภายใน 7 ปี

สถานการณ์ลด ละ เลิกพลาสติกในระดับโลก ล่าสุดสหราชอาณาจักรเตรียมออกกฎหมายแบนหลอดพลาสติก ช้อนคนพลาสติก และที่ปั่นหูที่มีก้านทำจากพลาสติก (คอตตอนบัด) ภายในปี 2563 เพื่อลดปัญหามลพิษจากขยะที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายหลายร้อยปี

อันที่จริงเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอังกฤษเพิ่งจะแบนการใช้ไมโครบีดส์ หลังมีงานวิจัยพบว่าชิ้นส่วนขนาดจิ๋วของพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในแม่น้ำและมหาสมุทร สามารถเข้าไปอยู่ในตัวของสัตว์ทะเลต่างๆ และเมื่อมนุษย์นำสัตว์เหล่านั้นมาบริโภคก็จะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษยังได้ออกมาตรการเก็บค่าถุงพลาสติกใบละ 5 เพนนี สำหรับคนที่ซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตไปแล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวช่วยลดปริมาณถุงพลาสติกในระบบลงถึง 1.5 หมื่นล้านถุงต่อปี

ไมเคิล โกฟ (Michael Gove) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักร เชื่อว่าการออกมาตรการห้ามจำหน่ายหลอดพลาสติก ช้อนคนที่ทำจากพลาสติก รวมถึงคอตตอนบัดเพิ่มเติม จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้อีกมหาศาล รวมถึงช่วยแก้ปัญหาทางระบายน้ำอุดตันได้อีกด้วย

ในแต่ละปี มีการประเมินว่าเฉพาะประเทศอังกฤษแห่งเดียว มีการใช้หลอดพลาสติกมากกว่า 4,700 ล้านชิ้น ช้อนคนพลาสติก 316 ล้านชิ้น และคอตตอนบัด 1,800 ล้านชิ้น ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยต้องกลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งลงสู่แม่น้ำและทะเล

“น่านน้ำและสัตว์ป่าอันล้ำค่าของเราต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พ้นภัยร้ายแรงจากขยะพลาสติกใช้แล้ว และสหราชอาณาจักรจะเป็นหนึ่งในผู้นำของการลดปัญหานี้ ร่วมกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป” นายโกฟ กล่าว

©Justin Hofman/National Geographic

อย่างไรก็ดี นายโกฟ ระบุว่า การห้ามจำหน่ายหลอดพลาสติกจะยังมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เนื่องจากยังมีคนบางกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้าชนิดนี้ เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หรือโรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน ที่จำเป็นต้องใช้หลอดเพื่อให้สามารถกินอาหารและเครื่องดื่มได้โดยสะดวกปลอดภัย

ทั้งนี้ คาดว่าทางการจะอนุญาตให้มีการจำหน่ายหลอดในร้านขายยา และให้ร้านอาหารรวมถึงผับต่างๆ สำรองหลอดไว้จำนวนหนึ่งสำหรับลูกค้าที่ต้องการ ส่วนการแจกจ่ายหลอดโดยทั่วไปจะถูกกำหนดให้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ช่วงใดช่วงหนึ่ง ระหว่างเดือนตุลาคมปี 2562 ถึงเดือนตุลาคมปี 2563

สำหรับความพยายามลดปริมาณขยะพลาสติกของสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ นับว่าได้รับการชื่นชมจากกรีนพีชและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

แซม เชตัน เวลช์ (Sam Chetan Welsh) ตัวแทนกลุ่มกรีนพีซในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สังคมที่เสพติดการใช้หลอดพลาสติกใช้แล้วทิ้งนั้นเป็นตัวเร่งวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก และปัญหานี้ต้องได้รับการจัดการ โดยเขาเชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำนั้นเป็นเรื่องที่ดีและสมเหตุสมผลแล้ว

“หากเราจะปกป้องมหาสมุทรของเราจากปัญหาขยะพลาสติก เราก็ต้องแก้ที่ต้นตอ นั่นหมายความว่าบริษัททั้งหลายที่ผลิตและขายบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องรับผิดชอบ และลดจำนวนพลาสติกที่จะมาถึงมือผู้บริโภคลงด้วย” เขาระบุ

ขณะเดียวกัน เครือแฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่ในสหราชอาณาจักร อย่างแมคโดนัลด์ และสตาร์บัคส์เอง ก็ได้แสดงความจำนงว่าจะยุติการใช้หลอดพลาสติกในสาขาต่างๆ โดยเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษหรือหลอดที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้แทน

ปัจจุบันมีการประเมินว่า ขยะพลาสติกที่ลอยหรือปนเปื้อนอยู่ในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก มีไม่น้อยกว่า 150 ล้านตัน และตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในปี 2568 หากไม่มีความพยายามในการลดหรือแก้ปัญหา ขณะเดียวกันยังประเมินว่ามีนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัวต้องตายในแต่ละปี จากการบริโภคขยะพลาสติกหรือถูกขยะเหล่านี้พันรอบตัว

นอกจากความพยายามในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกของสหราชอาณาจักรแล้ว ล่าสุดสภาของกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ อียู ก็ได้มีมติเห็นชอบให้มีการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น คอตตอนบัดและหลอดพลาสติก ภายในประเทศสมาชิกด้วยเช่นเดียวกัน พร้อมตั้งเป้าให้กลุ่มประเทศอียูลดปริมาณพลาสติกกลุ่มนี้ให้ได้ร้อยละ 90 ภายใน 7 ปีข้างหน้า

มาตรการใหม่นี้จะยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันที่สามารถใช้ซ้ำได้ หรือทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

เป้าหมายนับจากนี้ คือการให้ประเทศสมาชิกอียู ยกเลิกการใช้ขวดพลาสติกให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี 2025 รวมทั้งให้บริษัทผู้ผลิตพลาสติกลงทุนกับการบริหารจัดการขยะ เพื่อแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ

นายฟรานส์ ทิมเมอร์แมนส์ รองคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ระบุว่า ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่ และสหภาพยุโรปต้องร่วมมือกันในการจัดการ เพราะขยะพลาสติกเหล่านี้จะส่งผลต่ออากาศ ดิน แหล่งน้ำ และแหล่งอาหารของเราในที่สุด

ที่มา:
https://www.theguardian.com/environment/2018/oct/22/ban-on-plastic-straws-stirrers-and-cotton-buds-pollution-could-come-into-force-by-2019
https://www.cnbc.com/2018/10/22/uk-plans-to-ban-plastic-straws-cotton-buds-and-stirrers.html
https://www.bbc.com/news/world-europe-45965605