หนองบัวลำภูมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 1,631,467 ไร่ เกษตรกรหนองบัวลำภูเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวหันมาปลูกอ้อย ทำให้พื้นที่การปลูกอ้อยมีมากถึง 681,000 ไร่ สาเหตุเพราะพวกเขาไม่เคยเห็น ‘เงินแสน’ ผลิขึ้นจากนาข้าว
2,295,132 ลิตร คือ ปริมาณการใช้สารเคมีของเกษตรกรหนองบัวลำภู เพื่อกำราบหญ้าให้ตายเรียบ ตัวเลขการใช้สารเคมีในไร่อ้อยจึงส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าสูงถึง 1,065 คน
“โรคเนื้อเน่าเป็นโรคอันดับ 1 ในแผนกศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลหนองบัวลำภู” ทพญ.วรางคณา อินทโลหิต ให้ข้อมูล
เกษตรกรกลัวสารเคมี ไม่ว่าจะเป็น พาราควอตหรือไกลโฟเซต แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ทางออกจึงต้องหา ‘มือปืนรับจ้าง’ ทำหน้าที่ฉีดพ่นสารเคมีเหล่านี้แทนตน
สมยศ สินทอง รับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้าและสารเคมีอารักขาพืชทุกชนิดมาตั้งแต่อายุ 15 ปัจจุบันลูก 2 โตแล้วทั้งคู่ ค้าจ่างไร่ละ 300 บาท เดือนหนึ่งทำงานประมาณ 20 วัน พ่นยาวันละ 20 กว่าไร่ เดือนหนึ่งก็มีรายรับหมื่นกว่าบาท ปีนี้มีมือปืนหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากในอำเภอศรีบุญเรือง หนองบัวลำภู
“เห็นพ่อใหญ่นั่นพ่อใหญ่นี่ยังฉีดได้” สมยศบอกถึงแรงจูงใจที่เด็กรุ่นใหม่หันมารับจ้างฉีดยา
นี่คือปัญหาระดับโครงสร้างของประเทศแสนหวาน แต่ในระดับชีวิตที่มีรสขมๆ ของสมยศ เขาบอกว่า ลูกชายของเขามีแนวโน้มที่จะมาฉีดยาหารายได้เหมือนพ่อ แต่ “พ่อไม่ให้ฉีด เพราะร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน”
นี่คือชีวิตรสขมของเกษตรกรในประเทศแสนหวานของบริษัทยักษ์ใหญ่และระบบข้าราชการ
ผลิตโดย: วีรพงศ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
โครงการเมื่อปลาจะกินดาวออนไลน์ ปีที่ 16 จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม