สรวงสวรรค์บนน้ำต้อนรับนักท่องเที่ยวพายเรือคายัคที่ลัดเลาะเข้าชมความงามของป่าชายเลน สลับด้วยภูเขาหินปูนที่สูงตระหง่าน เรียงรายซับซ้อนโอบกอดขนาบกันตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
อ่าวท่าเลนเชื่อมต่อทะเลใหญ่เป็น “หน้าบ้าน” ของบ้านอ่าวท่าเลน หมู่ 3 ขณะที่ด้านหลังติดกับป่าพรุและป่าเลนที่เชื่อมต่อเป็นผืนเดียว ขนาดราว 500 ไร่ ซึ่งเป็น “หลังบ้าน” ของบ้านท่าพรุ หมู่ 5 ชุมชนทั้งสองตั้งอยู่ใน ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่
สายสัมพันธ์ของสองหมู่บ้านเชื่อมร้อยด้วยป่าชายเลนผืนนี้
สมชาย เหล่าสกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง เล่าว่า อดีตป่าชายเลนผืนนี้เสื่อมโทรมมาก เพราะถูกยึดด้วยสัมปทานตัดไม้เพื่อเผาถ่าน ในปี 2538 ชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อช่วยกันปฏิบัติการจับผิดเรืออวนรุน อวนลากซึ่งเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามขณะนั้น พร้อมการฟื้นฟูป่าเลน และท้องทะเล
เริ่มจากจัดทำปะการังเทียม ปล่อยสัตว์น้ำในป่าเลนเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ปลูกป่า และมีการตรวจป่าเลนเดือนละครั้ง โดยใช้เรือหางยาวแล่นเข้าไปดูสภาพป่า
“การต่อยอดจากการรักษาป่าก็คือทำให้ชุมชนมีรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม” สมชาย เล่า ทางตรงคือการท่องเที่ยว ส่วนทางอ้อมคือได้ใช้ความสมบูรณ์ของป่าด้านอาหารและไม้ใช้สอย
ความยั่งยืนเหล่านั้นทำให้อ่าวท่าเลนเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบธรรมชาติ ชุมชนได้ประโยชน์ ซึ่งป่าชายเลนผืนดังกล่าวยังได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ครั้งที่ 5 ปี 2546 ประเภทชุมชนท่องเที่ยว และรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต 5 ปีแห่งความยั่งยืน ของรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 11 ในปี 2552
1
ป่าชายเลน (Mangrove forest) เป็นระบบนิเวศที่อยู่ในแนวเชื่อมต่อระหว่างผืนแผ่นดิน กับผืนน้ำทะเลในเขตร้อนและกึ่งร้อนของโลก ประกอบด้วยสังคมพืชและสัตว์หลากชนิด ดำรงชีวิตร่วมกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลนน้ำกร่อย และมีน้ำทะเลท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ ป่าชายเลนจะพบได้ในบริเวณที่เป็นชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ อ่าว ทะเลสาบ และรอบเกาะแก่งต่างๆ สามารถเรียกว่า “ป่าโกงกาง” ได้อีกชื่อหนึ่ง ตามพันธุ์ไม้สำคัญและพบเป็นจำนวนมากนั่นคือ ไม้โกงกาง
จากรายงานการวิจัย The world’s mangroves 1980-2005 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ให้ข้อมูลว่าพื้นที่ป่าชายเลนของโลก มีทั้งหมดประมาณ 95,193,750 ไร่ กระจายอยู่ในทวีปเอเชียและโอเชียเนีย จำนวน 48,937,500 ไร่ อเมริกา 26,506,250 ไร่ และ แอฟริกา 19,750,000 ไร่
ทวีปเอเชียและโอเซียเนียมีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุด ส่วนประเทศที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดในโลก คือ ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 19,456,181 ไร่ คิดเป็น 22% ของโลก รองลงมาคือ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศบราซิล ตามลำดับ สำหรับพื้นที่ป่าชายเลนในภูมิภาคอาเซียน มีทั้งหมด 31,021,504 ไร่ คิดเป็น 29% ของโลก
ป่าชายเลนในประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,525,060 ไร่ รวม 24 จังหวัด กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 161,550 ไร่ ภาคกลาง 75,683 ไร่ ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 182,934 ไร่ และภาคใต้ฝั่งอันดามัน 1,104,892 ไร่ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุด คือ จ.พังงา จำนวน 275,316 ไร่ (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2552)
กรมทรัพยากรทาทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้ภาพรวมสถานการณ์ป่าชายเลนของประเทศว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกและใช้พื้นที่ทำประโยชน์อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ป่าชายเลนลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนมีสภาพความสมบูรณ์ของป่าแตกต่างกันในแต่ละท้องที่
2
ป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่มีความเฉพาะตัวและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของชายฝั่งทะเล นับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ป่าชายเลนเป็นแหล่งพลังงานและแหล่งวัตถุดิบ ไม้ใช้สอย ก่อสร้างในครัวเรือน แหล่งพืชผัก พืชสมุนไพร แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย หลบภัย สืบพันธุ์ และเจริญเติบโตของสัตว์น้ำนานาชนิด
ป่าชายเลนช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะหญ้าทะเลและปะการัง ป้องกันดินชายฝั่งพังทลาย เป็นพื้นที่สำหรับดูดซับสิ่งปฏิกูลต่างๆ ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งจากภัยธรรมชาติ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและแหล่งศึกษาธรรมชาติ
ความสำคัญและประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของป่าชายเลนที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ป่าชายเลนช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ป่าชายเลนถือว่าเป็นแหล่งที่มีการสะสมคาร์บอนหนาแน่น มีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าป่าประเภทอื่น เนื่องจากไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูงจึงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปของเนื้อไม้ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ
จากรายการวิจัย โครงการป่าชายเลนกับความโดดเด่นของการเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนจากบรรยากาศ: การศึกษาผลผลิตสุทธิขั้นปฐมภูมิ โดย ศศิธร พ่วงปาน และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่า ระบบนิเวศป่าชายเลนมีศักยภาพในการกักเก็บปริมาณคาร์บอนไว้ได้มากกว่าการปลดปล่อย ชี้ให้เห็นว่าระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนได้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางวิชาการที่นำไปสู่การสนับสนุนการจัดการพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชาติและระดับโลกต่อไปในอนาคต
รายงานวิจัยระบุอีกว่า ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีผลผลิตสุทธิทางนิเวศวิทยาสูง เนื่องจากพืชสามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมาเก็บไว้อยู่ในรูปของสารอินทรีย์ที่สะสมเป็นมวลชีวภาพของต้นไม้ ประกอบกับกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดินเกิดขึ้นน้อยเนื่องจากสภาพไร้ออกซิเจนจากการท่วมขังของน้ำ
ในเขตร้อนและกึ่งร้อนนั้น ป่าชายเลนส่วนใหญ่เป็นพืชมีเนื้อไม้ที่ชอบเกลือ ดำรงอยู่ในสภาพดินเลนนุ่มและมีน้ำท่วมขัง ทำให้พืชป่าชายเลนซึ่งมีน้ำหนักมากจากเนื้อไม้ ต้องถ่วงดุลโดยให้โคนมีน้ำหนักมากกว่าส่วนยอด ดังจะเห็นได้จากพืชป่าชายเลนที่มีการสร้างรากอากาศในลักษณะพิเศษต่างๆ เพื่อพยุงตัวบนเลนตลอดจนเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซในสภาวะดินไร้ออกซิเจน
3
สอดคล้องกับ สุธีระ ทองขาว อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งบรรยายในหัวข้อป่าชายเลนกับความโดดเด่นของการเป็นแหล่งเก็กกักคาร์บอน ภายใต้โครงการนำเสนอความรู้และพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2561 จัดโดยสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.
สุธีระ กล่าวว่า ป่าชายเลนเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ในระบบนิเวศที่ส่งต่อตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยดักตะกอนดิน รักษาสมดุลธรรมชาติ เปลี่ยนตะกอนให้อยู่ในรูปของเนื้อเยื่อใบ ซึ่งสามารถใช้ในการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างมาก ป่าชายเลนสามารถช่วยลดผลกระทบจากตะกอนดินที่จะออกไปสู่หญ้าทะเลและปะการัง ทั้งยังมีการเปลี่ยนตะกอนดินเพื่อที่จะนำมาใช้และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ผลิตอาหารที่อยู่ในธรรมชาติ
ป่าไม้แต่ละชนิดทำหน้าที่เก็บกักปริมาณของคาร์บอนแตกต่างกัน ป่าชายเลนจะมีการเก็บคาร์บอนอยู่ในรูปของเนื้อเยื่อปริมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับป่าชนิดอื่นๆ
“ป่าชายเลน ป่าฝนเขตร้อน ซึ่งเป็นป่าดงดิบในบ้านเรา คือแหล่งเก็บกักคาร์บอนได้มากที่สุดถ้าเทียบกับป่าที่อยู่ในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทวีปเอเชียนับเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุด และในอนาคตคาดว่าจะเป็นตลาดคาร์บอนของโลก” ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรให้ภาพ
อาจารย์คนเดิม เล่าว่า ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทยมักรู้สึกดีใจและตื่นเต้นกับผืนป่าในประเทศ เพราะพื้นที่ป่าในบ้านเขา 6 เดือน จะกลายเป็นหิมะ พืชต่างๆ ถูกปกคุมด้วยน้ำแข็ง ต้องต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่รุนแรง แต่ในโซนที่เป็นเขตศูนย์สูตร พื้นที่ป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ป่าชายเลนซึ่งจะขึ้นอยู่ตามขอบชายฝั่งเพียงไม่กี่ประเทศ ทำให้หลายๆ ประเทศอยากจะมีป่าชายเลน แต่เมื่อนำไปปลูกก็ไม่สามารถปลูกได้ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม
“ที่สำคัญป่าชายเลนเป็นครัวให้กับชุมชน ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน หากมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ การใช้ชีวิตศูนย์บาทสามารถเกิดขึ้นได้ อยากกินอะไรก็ออกไปจับโดยที่ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อ แต่ถ้าเราบริโภคมากเกินกว่าที่ป่าชายเลนจะผลิตให้เราได้ ชีวิตและชุมชนก็จะเริ่มสั่นคลอนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ป่าที่ดี จะมีบริการจากระบบนิเวศอะไรให้เราอีกเยอะ” อาจารย์ ทิ้งทาย
ขณะที่บ้านท่าพรุ คอยระวัง “หลังบ้าน” อ่าวท่าเลนก็ดูแล “หน้าบ้าน” ให้เป็นสรวงสรรค์บนน้ำ บริการทางนิเวศ และแหล่งเก็บกักคาร์บอนโลก ด้วยเช่นกัน