แนวโน้มภาคเกษตรกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจะสูงถึง 52% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลกในปี พ.ศ. 2593 คือสูงถึง 20,200 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ผืนดินไม่ปนเปื้อนสารเคมี สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลกันและกัน คือภาพฝันของโลกใบนี้ที่หล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง
หากแต่ในความเป็นจริง ทุกๆ การกระทำของมนุษย์ล้วนส่งผลกระทบต่อโลก และมีส่วนทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้คุณสมบัติของโลกใบนี้ที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตและดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพเปลี่ยนแปลงตาม
เพื่ออธิบายและวัดความเปลี่ยนแปลงของศักยภาพของโลกในการหล่อเลี้ยงผู้คน นักวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “พรมแดนแห่งพิภพ” (Planetary boundaries) โดยได้กล่าวถึงระบบต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการอยู่อาศัย และหาทางที่จะวัดสถานะของพื้นที่ปฏิบัติการในระบบต่างๆ เหล่านั้น ที่มีตั้งแต่ระดับ “สมบูรณ์ดี” จนถึง “เกินขีดความปลอดภัย”
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสมบูรณ์ของพรหมแดนแห่งพิภพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกมีสภาพเหมาะสมกับการอยู่อาศัยนั่นเอง โดยแบ่งออกเป็น 9 พรมแดน ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน (Land-system change)
- การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biosphere integrity)
- ปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัส (Nitrogen and Phosphorus loading, Biochemical flows)
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)
- การใช้น้ำจืด (Freshwater Use)
- สสารใหม่ (Novel entities)
- ความเป็นกรดของมหาสมุทร (Ocean Acidification)
- การสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศ (Stratospheric ozone depletion)
- ภาวะฝุ่นละอองในอากาศ (Atmospheric aerosol loading)
พรมแดนแห่งพิภพทั้ง 9 ครอบคลุมกระบวนการอันจำเป็นต่อการรักษาสภาพของโลกให้พอเหมาะกับการอยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทุกวันนี้บางพรมแดนได้ถูกมนุษย์รุกล้ำจนเกินขีดความปลอดภัย บางพรมแดนมีแนวโน้มว่าจะถูกรุกล้ำกล้ำกรายในอนาคต หากหากมนุษย์ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อพรมแดนเหล่านั้น
ทั้งนี้ มีรายงานว่าการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรม สร้างผลกระทบและคุกคามพรมแดนแห่งพิภพไปแล้วถึง 6 ใน 9
และในที่นี้มี 4 พรมแดนถูกรุกล้ำอย่างหนัก
การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน
มีรายงานว่าในช่วง 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2503-2553 ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไม่ว่าเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์นมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและขยายพื้นที่เพาะปลูกถึง 65% การถากถางป่า ทุ่งหญ้าสะวันนา เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ องค์ประกอบของชนิดพันธุ์
นักวิทยาศาสตร์ประเมินพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้ทำปศุสัตว์ไว้แตกต่างกัน บางคนคำนวณพื้นที่ทุ่งปศุสัตว์และพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ไว้ 15,625 ล้านไร่ เท่ากับประมาณ 50% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด ขณะที่บางคนประเมินว่าสูงถึง 75-80%
การผลิตเนื้อวัวใช้พื้นที่มากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น คือ 28 เท่าของผลิตภัณฑ์นม หมู สัตว์ปีก และไข่รวมกัน
ผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตเนื้อหมูในยุโรป คิดเป็นมูลค่าราว 1.9 ยูโร (ประมาณ 73 บาท) ต่อเนื้อหมู 1 กิโลกรัม ผลเสียเหล่านี้เกิดจากปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น ที่ทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดต่ำ ปรากฏการณ์น้ำเป็นกรด การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สิ่งที่สำคัญคือผลกระทบจากการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมไม่ได้หยุดอยู่ในประเทศที่เป็นผู้บริโภค ภูมิภาคอื่นๆ ในโลกมักจะสูญเสียที่ดินท้องถิ่นสำหรับอยู่อาศัยไปผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมให้กับอีกประเทศ
ความหลากหลายทางชีวภาพ
การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในหัวข้อที่ผ่านมา สัมพันธ์กับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเลี้ยงสัตว์ในระบบปศุสัตว์ ในทุ่ง หรือในฟาร์ม ขัดขวางการหมุนเวียนธาตุอาหาร เปลี่ยนแปลงระบบน้ำจืด ทำให้ถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของสัตว์ถูกแบ่งออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย แย่งชิงอาหารและน้ำ
ยกตัวอย่างการลดลงของพืชพันธุ์ในที่ราบมองโกเลีย มากถึง 80% เกิดจากการทำปศุสัตว์เกินขนาด
ในบรรดาชนิดพันธุ์ของนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นั้น 80% เกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่ให้กับภาคเกษตรกรรม โดยกลุ่มสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ เช่น สัตว์ที่มีขาเป็นปล้องอย่างแมงมุม นกที่กำลังผสมพันธุ์ ประชากรหนูกินพืช กระทั้งนักล่าตัวยงอย่างจิ้งจอกแดง
การทำปศุสัตว์ยังทำให้เกิดการสูญเสียสัตว์กินเนื้อและกินพืชขนาดใหญ่ อย่างหมาป่า หมี เสือ แรด ฮิปโปโปเตมัส ช้าง สมเสร็จ ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล
ในขณะนี้อัตราการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ต่างๆ สูงถึง 1,000 เท่าของอัตราสูญพันธุ์ตามธรรมชาติที่ไม่มีกิจกรรมของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง โลกกำลังประสบกับการสูญพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน
ปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัส
การใช้ธาตุอาหารโดยเฉพาะไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในการผลิตพืชอาหารเพื่อเลี้ยงสัตว์ ทำให้วัฏจักรไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในโลกเปลี่ยนแปลง เมื่อธาตุทั้งสองถูกใช้อย่างไม่จำกัด ระดับธาตุในระบบนิเวศจะสูงมาก เมื่อเล็ดลอดลงสู่แหล่งน้ำไม่ว่าน้ำจืดหรือน้ำเค็มจะเกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่นที่ทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดต่ำ
เริ่มต้นด้วยแหล่งน้ำมีธาตุอาหารที่สมบูรณ์เกินไป ตามมาด้วยปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งที่สาหร่ายจำนวนมากเติบโตอย่างรวดเร็ว พ้นช่วงหนึ่งก็ล้มตาย ขณะที่สาหร่ายเติบโตและย่อยสลาย ออกซิเจนในน้ำจะถูกดึงไปใช้จนหมด เมื่อน้ำขาดออกซิเจนจะเหลือบางชนิดพันธุ์ อาทิ จุลินทรีย์บางชนิด เท่านั้นที่อยู่รอดได้ กลายเป็น “เขตมรณะ” ในแหล่งน้ำ
กระบวนการทางธรรมชาติ อาทิ การไหลเวียนของกระแสน้ำ ทำให้เกิดเขตมรณะได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตามตั้งแต่ยุคคริสต์ศตวรรษ 60 เป็นต้นมา หรือช่วง พ.ศ.2503-2512 มีการบันทึกว่าจำนวนเขตมรณะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณทุก 10 ปี จนปัจจุบันมีมากกว่า 600 แห่ง
สภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 24% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินคิดเป็น 14% เทียบเท่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคคมนาคมขนส่งทั้งภาค
ก๊าซเรือนกระจกหลักๆ ที่ถูกปล่อยออกมาจากภาคเกษตรกรรม ได้แก่ มีเทน จากการใช้ปุ๋ย อาหารสัตว์ และการหมักแบบไม่ใช่ออกซิเจนของวัตถุอินทรีย์ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ จากการใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการระบายน้ำและเตรียมดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ
ขณะที่การทำปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการหมักในลำไส้ (enteric fermentation) ตามมาด้วยการ “ตด” และ “เรอ” ของสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาทิ วัว ควาย แพะ และแกะ
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากภาคเกษตรกรรมยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจะสูงถึง 52% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลกในปี พ.ศ.2593 คือสูงถึง 20,200 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ต่อปี จึงมีข้อเรียกร้องให้ลดบริโภคเนื้อสัตว์ หันมาบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของพืชผักให้มากขึ้น
เมื่อทุกๆ การกระทำของมนุษย์ส่งผลต่อโลก แนวคิดเรื่อง “พรมแดนแห่งพิภพ” ดังกล่าว น่าจะช่วยให้เราหันมาฉุกคิด และพิจารณาไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่ในแต่ละการกระทำว่าเหมาะสมหรือไม่
จะเร่งให้โลกมีศักยภาพในการหล่อเลี้ยงผู้คนต่อไป หรือเหนี่ยวรั้งไว้จนนำไปสู่จุดแตกหักทางระบบนิเวศ