‘วาฬ’ อาร์คติกเผชิญเสียงรบกวนเสี่ยงขั้นสูญพันธุ์ เหตุ ‘เรือเดินสมุทร’ เบิกเส้นทางหลังน้ำแข็งละลาย

ขณะที่แผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์คติกละลายลงอย่างรวดเร็ว น่านน้ำแข็งในมหาสมุทรก็ได้ถูกเปิดออก เท่ากับช่องทางใหม่ให้เรือพาณิชย์และเรือท่องเที่ยวหลายลำเดินเรือตัดผ่านเส้นทางนี้ไปได้ (อ่านเพิ่ม: น้ำแข็งอาร์กติกอุณหภูมิสูงทุบสถิติ https://greennews.agency/?p=16164)

สิ่งที่เกิดขึ้นคือวาฬในแถบขั้วโลกเหนืออย่าง วาฬเบลูกา หรือวาฬขาว (Beluga whale), วาฬหัวคันศร หรือวาฬโบว์เฮด (bowhead whale) และนาร์วาฬ (Narwhal) ที่ได้รับสมญานาม ‘ยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล’ ซึ่งทั้งหมดล้วนอาศัยความเงียบและระบบเสียงสะท้อน (echolocation) เพื่อหาอาหารและสื่อสารกับฝูง กำลังได้รับผลกระทบจากเสียงรบกวนและการแล่นด้วยความเร็วจากเรือเดินสมุทรเหล่านี้

อย่างเลวร้ายที่สุดคืออาจทำให้พวกมัน ‘สูญพันธ์’

แม้แต่จุดที่เรียกว่า ‘นอร์ธโพล’ ก็มีการนำเรือผ่านเส้นทางนี้ได้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นั่นนำมาสู่คำถามว่า เราจะอนุญาตให้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจและปกป้องวาฬเหล่านี้ไปพร้อมกันอย่างไร? เป็นความเห็นหนึ่งจาก Donna Hauser หัวหน้านักวิจัยเรื่องความเสี่ยงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอาร์คติกจากการเดินเรือ และนักนิเวศวิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยอลาสกาแฟร์แบงค์

ทั้งนี้ วิถีชีวิตและการสื่อสารของวาฬและโลมาขึ้นกับการใช้คลื่นเสียงใต้น้ำ หมายความว่าเสียงรบกวนจากการเดินเรือนั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกมัน กล่าวคือ เสียงจากเรือเดินสมุทรทำให้พวกมันเจ็บปวดและป่วย อีกทั้งมีผลต่อการสูญพันธ์

“โดยเฉพาะนาร์วาฬ คือวาฬที่น่ากังวลที่สุด เนื่องจากข้อจำกัดของพวกมัน เช่น ที่อยู่อาศัยของมันมีเพียง 1 ใน 4 ของอาร์คติกทั้งหมด และหนึ่งในนั้นคือเส้นทางที่เรือจะวิ่งผ่าน” Kristin Laidre นักวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก และหนึ่งในนักวิจัยงานชิ้นนี้ ระบุ

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ข้อค้นพบใหม่ เพราะข้อเท็จจริงเรื่อง ‘เสียง’ ที่มาจากการเดินเรือ อันมีผลต่อการใช้ชีวิตและการหาอยู่หากินของวาฬนั้นถูกพูดถึงหลายครั้ง เช่น ในงานวิจัยเมื่อปี 2016 เรื่อง “Ship noise extends to frequencies used for echolocation by endangered killer whales” แปลเป็นไทยคือ “เสียงรบกวนจากเรือมีผลต่อการใช้คลื่นความถี่ใต้น้ำของวาฬเพชฌฆาต”

รายงานชิ้นดังกล่าว ระบุว่า เสียงรบกวนจากการเดินเรือจะกระทบต่อความสามารถในการสื่อสาร และระบบเสียงสะท้อน อันเป็นวิธีการที่วาฬส่งคลื่นเสียงเพื่อหาตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ อาหาร หรือเพื่อนวาฬด้วยกัน

กว่า 2 ปีของการสำรวจ นักวิจัยได้วัดคลื่นเสียงจากเรือทั้งหมด 1,600 ลำ ขณะแล่นผ่านฮาโร สเตรท (Haro Strait) ในรัฐวอชิงตัน หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ค้นพบคือ ความดังเฉลี่ยของเรือในอากาศและในน้ำทะเลไม่เท่ากัน โดยความดังเฉลี่ยของการเดินเรือเหนือผิวน้ำอยู่ที่ 111 เดซิเบล แต่ความดังของเรือใต้น้ำอยู่ที่ 173 เดซิเบล หมายความว่าเสียงที่ได้ยินใต้ทะเลจะดังกว่าเสียงที่เราได้ยินบนบก

แม้จะยังไม่ได้คำนึงว่าวาฬหรือโลมาไวต่อความดังระดับเท่าใด แต่งานวิจัยนี้พบว่าวาฬจะไม่เฉียดกรายเข้าใกล้เส้นทางการเดินเรือ หรืออะไรก็ตามที่ดังกว่า 60-90 เดซิเบล

“สิ่งที่น่ากังวลคืออาหารของวาฬเพชรฆาตอย่าง ปลาแซลมอนชินูก ซึ่งถือเป็นอาหารที่หายากแล้วสำหรับพวกมัน แต่ที่ยากยิ่งกว่าคือการต้องหาท่ามกลางคลื่นเสียงรบกวน” Scott Veirs หัวหน้างานวิจัยชิ้นนี้ ระบุ

งานวิจัยข้างต้นทั้งสองชิ้นนี้ระบุไว้ตรงกันว่า สิ่งที่ต้องทำขณะยังมีโอกาส คือการใช้งานวิจัยเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติ (guidelines) หรือนโยบายการเดินเรือสมุทร เช่น กำหนดความดังที่เหมาะสมขณะเดินเรือผ่านเขตน่านน้ำที่วาฬและโลมาอาศัยอยู่

“เราควรตั้งเป้าหรือข้อกำหนดร่วมกันเพื่อเป็นมาตรฐานให้กับการเดินเรือในน่านน้ำอาร์คติกไม่ให้รบกวนชีวิตของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามลดเสียงรบกวน และวิธีปฏิบัติเพื่อปกป้องสัตว์เหล่านี้” Kristin Laidre กล่าว

ที่มา:
https://ind.pn/2tPD9go
https://bit.ly/2etM1UF
https://bit.ly/2u2Q5zK
รายงาน: https://peerj.com/articles/1657
http://www.pnas.org/content/early/2018/06/26/1803543115