เชื่อเหลือเกินว่า ชาวกรุงหลายคนเคยสะเทือนใจ ตั้งคำถาม หรือบ่นออกมาเสียงดังๆ เมื่อได้เห็นต้นไม้ข้างทางกลายสภาพเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ราวกับว่ามีคนเอาไม้บรรทัดมาทาบแล้วใช้กรรไกรตัดตามรูปทรง
การตัดต้นไม้ในลักษณะนี้ ไม่ใช่แค่สร้างผลกระทบทางทัศนียภาพ แต่มันคือการลดทอน “พื้นที่สีเขียว” ลง นั่นหมายถึงคันร่มธรรมชาติที่ทำหน้าที่กรองแสงแดด เครื่องกรองอากาศที่ทำหน้าที่ฟอกก๊าซพิษ กำลังลดจำนวนลงจากเมืองกรุง
ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2561 ชาวกรุงเทพต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตหมอกควันอย่างต่อเนื่อง ณ ช่วงเวลานั้นไม่อาจมีใครทำอะไรได้นอกเหนือจากภาวนารอให้ฝนตกลงมา ซึ่งหากเรามีต้นไม้มากเพียงพอ สถานการณ์คงจะไม่เลวร้ายอย่างที่ผ่านมา
รายงานจาก มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London)[1] พบว่าต้นไม้ทั้งในและนอกตัวเมืองลอนดอนจำนวน 8,421,000 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเฮกตาร์ เทียบเท่ากับที่ต้นไม้ใหญ่ในป่าฝนได้เลยทีเดียว
แน่นอนว่าลอนดอนคือ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีปัญหาฝุ่นควันรุนแรง และยังเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ข้อมูลระบุว่า หากมีการลงทุนกับต้นไม้และระบบนิเวศในเมือง ชาวลอนดอนจะได้ประโยชน์จากระบบนิเวศนี้คิดเป็นมูลค่า 130 ล้านปอนด์/ปี หรือประมาณปีละ 5,700 ล้านบาท
แล้วพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย มีปริมาณมากน้อยแค่ไหนกัน ?
ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้นไม้ในกรุงลอนดอนดูดซับได้

การปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์/คน ของเมืองต่างๆ
เมือง | ประเทศ | คาร์บอนฟุตพรินท์/คน (ตัน/CO2) | จำนวนประชากร | คาร์บอนฟุตพรินท์ (เตตริกตัน/CO2) | ลำดับโลก | อันดับในประเทศ |
Seoul | South Korea | 13.0 ±2.4 | 21,254,000 | 276.1 ±51.8 | 1 | 1 |
Guangzhou | China | 6.1 ±1.0 | 44,309,000 | 272.0 ±46.2 | 2 | 1 |
New York | USA | 17.1 ±5.5 | 13,648,000 | 233.5 ±75.4 | 3 | 1 |
Hong Kong SAR | China | 34.6 ±6.3 | 6,029,000 | 208.5 ±37.8 | 4 | 1 |
Los Angeles | USA | 14.6 ±3.2 | 13,482,000 | 196.4 ±43.7 | 5 | 2 |
Shanghai | China | 7.6 ±1.9 | 23,804,000 | 181.0 ±44.6 | 6 | 2 |
Country of Singapore | Singapore | 30.8 ±6.5 | 5,235,000 | 161.1 ±34.1 | 7 | 1 |
Chicago | USA | 21.1 ±5.1 | 7,260,000 | 152.9 ±37.2 | 8 | 3 |
Tokyo/Yokohama | Japan | 4.0 ±0.6 | 32,999,000 | 132.8 ±21.4 | 9 | 1 |
Riyadh | Saudi Arabia | 20.7 ±4.6 | 5,747,000 | 118.8 ±26.4 | 10 | 1 |
Dubai | UAE | 22.3 ±6.2 | 4,971,000 | 110.8 ±31.0 | 11 | 1 |
Wuxi | China | 9.2 ±2.1 | 12,010,000 | 110.4 ±25.8 | 12 | 3 |
Johannesburg | South Africa | 9.5 ±1.8 | 11,049,000 | 105.2 ±19.9 | 13 | 1 |
Tehran | Iran | 8.2 ±2.2 | 12,671,000 | 104.4 ±28.2 | 14 | 1 |
Moscow | Russia | 6.9 ±1.6 | 14,453,000 | 99.5 ±22.5 | 15 | 1 |
London | UK | 10.4 ±2.3 | 9,486,000 | 98.9 ±21.8 | 16 | 1 |
Benha | Egypt | 2.5 ±0.5 | 34,556,000 | 87.2 ±15.6 | 17 | 1 |
Beijing | China | 4.2 ±1.0 | 19,919,000 | 83.7 ±19.1 | 18 | 4 |
Jakarta | Indonesia | 2.3 ±0.4 | 36,351,000 | 83.7 ±15.6 | 19 | 1 |
Al–Ahmadi | Kuwait | 29.9 ±7.2 | 2,697,000 | 80.6 ±19.3 | 20 | 1 |
Samut Prakan | Thailand | 5.3 ±1.2 | 15,083,000 | 80.0 ±17.9 | 22 | 1 |
ที่มา: http://citycarbonfootprints.info
พื้นที่สีเขียวประเทศไทยยังต่ำกว่าเกณฑ์
องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดว่าเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตร/คน
ข้อมูลจากสำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพมาหนคร (กทม.) ระบุว่า กรุงเทพมีสวนสาธารณะ 7 ประเภท (สวนหย่อมขนาดเล็ก, สวนหมู่บ้าน, สวนชุมชน, สวนระดับย่าน, สวนระดับเมือง, สวนถนน, สวนเฉพาะทาง) รวมแล้วที่ 6.43 ตร.ม./คน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2560)
เทียบจากเกณฑ์ของ WHO แล้ว พื้นที่สีเขียวทั้งในกรุงเทพฯ ยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และยิ่งต่ำกว่าพื้นที่สีเขียวในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น บราซิล (52 ตารางเมตร/คน) สหรัฐฯ (23.1 ตารางเมตร/คน) แคนาดา (12.6 ตารางเมตร/คน)
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า 54% ของประชากรทั่วโลกอาศัยในเมืองใหญ่ในปี 2557[2] โดยจะมีประชากรเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 66% ในปี 2593 หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะมีการไหลเข้าของประชากรสู่เมืองในอัตราสูง
สถานการณ์ในไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์โลก โดยประชากรหลั่งไหลเข้าสู่เมืองเป็นจำนวนมากในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ข้อมูลจากนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579[3] กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรเมืองจำนวน 22.42 ล้านคน หรือ 31.44% ของจำนวนประชากรทั่งประเทศที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองและเทศบาล ในปี 2558 เป็นผลให้มีพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น และพื้นที่เกษตรกรรมลดลง
จึงยังเป็นความท้าทายว่า เมืองจะมีพื้นที่สีเขียวเพียงพอในการรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดีเพียงใด
‘เมืองทำให้เรา จน อ้วน โสด’
ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี (Good Walk) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวไว้ว่า เมืองทำให้เรา จน อ้วน โสด
หากคลี่ข้อมูลในแต่ละประเด็นจะพบว่า
จน: ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2555 ระบุว่าคนกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมด
อ้วน: ผังเมืองเอื้อให้เราไม่อยากเดิน ขยับร่างกาย หรือแม้แต่ขี่จักรยานไปทำงาน เพราะมีสวนสาธารณะที่ห่างไกลและไม่เพียงพอ และการเดินทางในแต่ละวันยังยาวนานจนหลายคนกลับบ้านแล้วไม่อยากลุก
โสด: ในเมืองไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำนอกจากเดินห้างฯ หรือคาเฟ่ แถมร้านที่ว่าต้องใช้ความพยายามฝ่ารถติดเข้าไปในเมือง ด้วยการจราจรคึกคักแบบนี้ หลายคนขอนอนนิ่งๆ อยู่บ้านชาร์ตพลัง (เพื่อออกไปรบกับสนามจราจร) ในวันพรุ่งนี้จะดีกว่า
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก WHO ซึ่งเผยแพร่ในเดือน พ.ค. 2561 ระบุว่า 9 ใน 10 ของประชากรโลก หรือกว่า 7 ล้านคนต่อ/ปี ตายเพราะมลพิษทางอากาศ โดย 88% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อย และมีการกระจุกตัวอยู่ในแปซิฟิคตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่รายงานจากนักวิจัยและคณะกรรมการจาก The Lancet วารสารทางการแพทย์ เผยแพร่เมื่อเดือนต.ค. 2560 ระบุว่า มีประชากร 9 ล้านคน/ปี ที่เสียชีวิตจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม นับเป็นตัวเลขที่มากกว่าการตายจากสงคราม อุบัติเหตุบนท้องถนน และการขาดสารอาหารรวมกัน
ด้วยจิ๊กซอว์ทั้งหมด ต่อไปที่เห็นต้นไม้ถูกตัดอย่าง “เอาไม้บรรทัดทาบ” เราคงไม่อาจอยู่เฉย แค่หงุดหงิด หรือเสียใจเพียงเพราะทัศนียภาพเป็นพิษได้
แต่ทุกกิจกรรมหรือนโยบายเกี่ยวกับการบริหารต้นไม้ในเมือง จะผูกร้อยเชื่อมกันตั้งแต่ปัญหาสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำเมืองให้ “เฮลตี้” รองรับประชากรที่เคลื่อนเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกทีๆ ด้วย
อย่าตัดต้นไม้ในเมืองอย่างเรี่ยราดอีกเลย
[1] http://www.treeconomics.co.uk/wp-content/uploads/LONDON-I-TREE-ECO-REPORT-151202.pdf
[2] http://www.un.org/en/development/desa/news/population/world-urbanization-prospects-2014.html
[3] http://www.onep.go.th/wp-content/uploads/env-policy-60-79.pdf/