ส่องสุขภาพทะเลไทย: แด่วันทะเลโลก 2018

ว่ากันว่า #ทะเลจะเยียวยาทุกสิ่ง …จริงหรือ ?

ขณะที่สุขภาพของทะเลไทยกลับอยู่ในขั้นโคม่า เอกสารงานวิจัยของ Jambeck และทีมงาน ในวารสาร Science ฉบับที่ 347 ปี 2558 จัดอันดับให้ประเทศไทย เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในโลก ทั้งที่มีประชากรเพียง 65 ล้านคน แต่ขยะกลับเยอะแซงหน้าอินเดีย อเมริกา ฯลฯ ที่มีประชากรกว่าพันล้านคน

ประกอบกับเหตุการณ์แพขยะทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก ยาวกว่า 10 กิโลเมตร (กม.) ในทะเลนอกชายฝั่งของ จ.ชุมพร ทำให้ประเด็นขยะทะเลกลายเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง ซึ่งประเด็นปัญหานี้สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการการบริหารจัดการขยะทั้งบนบก และในทะเลที่ขาดประสิทธิภาพ

“ประเทศไทย” มีพื้นที่ทางทะเลรวม 323,488.32 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) คิดเป็น 60% ของพื้นที่ทางบก มีความยาวชายฝั่งทะเลเท่ากับ 3,151.13 กม. นับเป็นส่วนหนึ่งของท้องทะเลอาเซียนซึ่งถูกจัดอันดับให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด มีชายฝั่งติดทะเลระยะทางรวมกันประมาณ 1.1 แสน กม. ยาวกว่าเส้นรอบวงโลกเกือบ 3 เท่า

นอกจากนี้ ทะเลอาเซียนยังอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “เขตอินโด-แปซิฟิก” หรือเขตเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ทะเลเขตนี้มีความหลากหลายสูงที่สุดในโลก สูงกว่าทะเลเขตร้อนในภูมิภาคอื่นใด ทำให้ทะเลของอาเซียนไม่เพียงใหญ่โตมโหฬาร ที่นี่ยังเป็นทะเลที่อุดมสมบูรณ์เป็นอันดับหนึ่ง

ปัญหาพลาสติก วิกฤตทะเลไทย

จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2559 พบว่า ขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศ 27.06 ล้านตัน หรือเฉลี่ยผลิตวันละ 1.14 กก.ต่อคน รวมกับขยะที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่อีกจำนวนมาก ซึ่งขยะเหล่านี้มีโอกาสปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดปัญหาทางทางด้านสุขอนามัย เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มีการย่อยสลายในธรรมชาติได้ช้า อาจต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย

จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยตกค้าง 30.49 ล้านตัน จัดการแล้ว 20.36 ล้านตัน เหลือขยะมูลฝอยตกค้าง 10.13 ล้านตัน

คำถามต่อมาขยะที่เหลือไปไหน ?

เมื่อประเทศไทยมีขยะจำนวนมากที่ยังบริหารจัดการไม่ดี ปล่อยให้เกิดการปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยแหล่งที่มาของขยะทะเล ประกอบด้วย 2 แหล่ง คือ 1.กิจกรรมบนฝั่ง จำนวน 80% เช่น ชุมชน, แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง, บริเวณท่าเรือ, การท่องเที่ยวชายหาด และ 2.กิจกรรมในทะเล จำนวน 20% เช่น การขนส่งทางทะเล, การประมง, การท่องเที่ยวทางทะเล

สิ่งเหล่านั้นล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยาทะเล และผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก จากการกินแล้วเกยตื้น การพันยึดภายนอก ทั้ง เต่าทะเล, โลมาและวาฬ,พะยูน ฯลฯ รวมทั้งหมดแล้วกว่า 518 ตัว (ข้อมูลจากสรุปจำนวนสัตว์ทะเลหายากในที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเล ปี 2559 – 2560)

ต้นสู่ปลาย แก้วิกฤตขยะทะเลอย่างยั่งยืน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบดูแลทรัพยากรทางทะเลได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการและลดปริมาณขยะทะเล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และการปนเปื้อนในอาหารทะเล โดยมีกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“แนวทางกำจัดขยะกว่า 80% ที่ไหลลงทะเล มีการแก้ปัญหาแยกเป็น 3 ส่วนคือ “ต้นทาง” ผู้ผลิต ผู้นำเข้า “กลางทาง” การจัดการ ภาครัฐบาล เอกชน ภาคองค์กรส่วนท้องถิ่น และ “ปลายทาง” การจัดการขยะ เช่น ฝังกลบ นำไปสู่การทำเป็นพลังงาน เป็นต้น ซึ่งยอมรับปัจจุบันยังไม่มีความสมบูรณ์ 100% ท้ายที่สุดแล้วถ้าจะดีขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนทุกคน ต้องตระหนักว่าท้องทะเลเป็นของคนทุกคนในโลกนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เราทุกคนต้องช่วยกัน” จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. ระบุ     ประกอบกับที่ผ่านมามีโครงการ ประชารัฐขจัดขยะทะเล หลักการ 3Rs ประชารัฐ Reduce-การลดปริมาณการผลิตขยะจากการบริโภคน้อยลง Reuse-การใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า Recycle-การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความยั่งยืน ยึดหลักการการมีส่วนร่วมตามการดำเนินงานแบบประชารัฐ ได้แก่ ภาคราชการ, ภาคเอกชน, ภาคการศึกษา, ภาคศาสนา, ภาคประชาชน และประชาสังคม ในการลด คัดแยก ใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง

ท้ายที่สุด เขาบอกว่า #ทะเลจะเยียวยาทุกสิ่ง จริงหรือไม่อาจไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ทั่วโลกควรตระหนัก ให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่ช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติ นับเป็นภารกิจร่วมกันของคนยุคนี้ในการรักษา และส่งต่อท้องทะเลที่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นหลัง เพราะ … ทะเล คือ ชีวิต”