คืนความสุขมนุษยชาติ! ‘อารยประเทศ’ เปิดยุทธการล้างบาง ‘ขยะพลาสติก’

ตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ “ขยะพลาสติก” ได้ทวีความรุนแรงและสร้างผลพวงต่อระบบนิเวศมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและเครือข่ายนักอนุรักษ์ ต่างพากันเรียกร้องให้เหล่าผู้ผลิตและผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายของวิกฤต “ที่เกิดขึ้นแล้ว”

ตามแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 17 เป้าหมายนั้น “วิกฤตขยะพลาสติก” นับเป็นความท้าทายและเกี่ยวโยงกับแผนพัฒนาถึง 3 เป้าหมาย

ประกอบด้วย เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ เป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เป้าหมายของ SDGs สำเร็จลุล่วง จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อให้โลกกลับมาสวยงามดั่งเดิมอีกครั้ง

แน่นอนว่าหลายๆ ประเทศเริ่มดำเนินมาตรการไปบ้างแล้ว มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศตัวเองให้ดีขึ้น โดยเริ่มต้นจากตัวผู้บริโภคเองซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในการหยุดยั้งวิกฤตครั้งนี้

มาตรการดังกล่าวมีทั้งอย่างอ่อนไปจนถึงเข้มข้น มีตั้งแต่มาตรการเก็บภาษีพลาสติกใช้แล้วทิ้งในรูปแบบต่างๆ ไปจนถึง ห้ามใช้ ห้ามผลิต และห้ามนำเข้าพลาสติก อย่างเด็ดขาด

“พลาสติกใช้แล้วทิ้ง ใช้เวลาผลิต 5 วินาที ถูกนำไปใช้แค่ 5 นาที และใช้เวลาในการกำจัดพวกมันอีก 500 ปี หากเราไม่ลงมือตั้งแต่วันนี้ อีก 50 ปี ข้างหน้า ถนนจะเต็มไปด้วยขยะพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทร” ฟรานซ์ ทิมเมอร์แมนส์ (Frans Timmermans) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าว

ทำไมเราต้องเลิกใช้พลาสติกตั้งแต่วันนี้ ? พลาสติกส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร ? และแต่ละประเทศเขามีมาตรการและดำเนินการกันอย่างไรบ้าง ? สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) ขอเชิญทุกท่านร่วมสำรวจไปพร้อมๆ กัน

—– ตีแผ่สถานการณ์ ‘พลาสติก’ ล้นโลก —–

“นับตั้งแต่โลกรู้จักพลาสติกเมื่อ 60 ปีก่อน ปริมาณพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมา รวมแล้วอยู่ที่ 8,300 ล้านตัน” นั่นคือข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ โรแลนด์ เกเยอร์ (Roland Geyer) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California)

เขาประมาณการว่า เฉพาะขยะพลาสติกมีมากถึง 6,300 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนั้นถูกนำมารีไซเคิลเพียง 9% ขณะที่อีก 79% ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบหรือกระจัดกระจายอยู่ในธรรมชาติ รวมถึงใต้ท้องทะเล

นักวิทยาศาสตร์รายนี้ ยังชี้อีกว่า ในปี 2050 หรืออีกราวๆ 32 ปี หลุมฝังกลบทั่วโลกจะมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 หมื่นล้านตัน หรือมีค่าเท่ากับ 3.5 หมื่นเท่า ของน้ำหนักของตึกเอมเอ็มไพร์สเตทในกรุงนิวยอร์ค

สอดคล้องกับข้อมูล สถาบันนโยบายโลก (Earth Policy Institute) ที่รายงานว่า ทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกมากถึง 3,000 ล้านใบต่อปี ปัญหาคือถุงพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกประเภทโพลิเอทิลิน ( Polyethylene: PE) ไม่สามารถย่อยสลายได้

นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะกำจัดมันด้วยการรีไซเคิลหรือวิธีการใดก็ตามที่เรียกว่าถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่น การฝังกลบ เผาทำลาย พลาสติกประเภทนี้ยังคงเป็นมลพิษอยู่ดี

โดยเฉพาะไมโครพลาสติก (microplastics) พลาสติกขนาดเล็กจิ๋วที่สามารถพบได้ทั่วไปในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ด้วยความที่เป็นพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร (จินตนาการถึงเม็ดบีดส์สครับขัดหน้า) ยากต่อการกำจัด และมักตกค้างหรือไหลลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ เช่น ทะเลหรือลำคลองผ่านท่อระบายน้ำทั่วโลก ตามมาด้วยผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งทางน้ำและทางบก หมุนเวียนสู่ระบบห่วงโซ่อาหาร กลายเป็นภัยคุกคามอันตรายของสิ่งมีชีวิตและสัตว์ทั่วโลกรวมถึงมนุษย์อย่างเรา (อ่านต่อ: https://greennews.agency/?p=15222)

—– นานาชาติประกาศสงครามต่อต้าน ‘ขยะพลาสติก’ —–

อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ขณะนี้หลากหลายประเทศได้ตื่นตัวและพากันออกมาตรการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีรูปธรรม ซึ่งแน่นอนว่าสามารถลดขนาดของปัญหาให้เล็กลงได้ระดับหนึ่ง ส่วนรายละเอียดของมาตรการจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้ในบันทัดถัดไป

1.สหประชาชาติ

ในงานประชุมสุดยอดโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UN environment summit) กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2017 สหประชาชาติได้ประกาศให้มลพิษขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลกเป็น “วิกฤตสำคัญของโลก” พร้อมกำหนดเป้าหมายให้ทุกฝ่ายลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ภายในปี 2025

อย่างไรก็ดี ยังมีนักสิ่งแวดล้อมที่แสดงความกังวลว่าประกาศของสหประชาชาติในครั้งนี้จะล้มเหลว ซึ่งทางออกที่จะช่วยให้แก้ปัญหาได้โดยทันทีคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้พลาสติก

“นี่คือวิกฤติของโลกใบนี้ ดิฉันรู้สึกว่ากำลังมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้มันเกิดขึ้นเร็วขึ้นกว่านี้” ลิซ่า ซเวนซัน (Lisa Svensson) หัวหน้าฝ่ายมหาสมุทรของสหประชาชาติกล่าวในงานประชุม

2.สหภาพยุโรป

25 ล้านตันต่อปี คือปริมาณขยะพลาสติกที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปผลิตร่วมกัน ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียงแค่ 30% ที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการประกาศ “แผนเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับขยะพลาสติก” ของสหภาพยุโรป เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (มกราคม 2018)

เป้าหมายของแผนคือ ภายในปี 2030 ขยะพลาสติกอย่างน้อย 55% ในยุโรป จะต้องถูกนำไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเตรียมผลักดันให้ประเทศสมาชิก “เก็บภาษี” สำหรับพลาสติกใช้แล้วทิ้งประเภทต่างๆ อีกด้วย

3.ทวีปยุโรป

สำหรับช่วงที่ผ่านมา นับว่า “ทวีปยุโรป” มีความพยายามลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างมาก โดยประเทศแรกที่มีการเก็บภาษีถุงพลาสติกคือ “เดนมาร์ก” เริ่มเมื่อปี 1994 ซึ่งตั้งแต่มีการเก็บภาษีดังกล่าว เดนมาร์กสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกจาก 800 ล้านถุงต่อปี เหลือเพียง 400 ล้านถุงต่อปี

ปี 2002 “ไอร์แลนด์” เริ่มเดินรอยตามการเก็บภาษีถุงพลาสติกตามเดนมาร์ก ส่งผลให้จำนวนการใช้ถุงพลาสติกในประเทศลดลง 90% นอกจากเดนมาร์กและไอร์แลนด์แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่ดำเนินมาตรการคล้ายกัน เช่น อังกฤษ เวลล์ สก็อตแลนต์ อิตาลี และเยอรมนี

ล่าสุด สหราชอาณาจักรให้คำมั่นว่าจะกำจัดขยะพลาสติกให้หมดจากประเทศภายในปี 2042 พร้อมประกาศยุทธศาสตร์แห่งชาติ 25 ปี เพื่อลดจำนวนขยะพลาสติก และปรับปรุงระบบนิเวศในประเทศให้ดีขึ้น โดยมาตรการที่เริ่มใช้แล้วคือการจ่ายเงินเพิ่ม 5 เพนนี หากลูกค้าต้องการใช้ถุงพลาสติกในทุกร้านค้าทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้กลไกภาษีลาเต้ (latte levy) สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อเครื่องดื่มที่ต้องใช้แก้วใช้แล้วทิ้ง จะถูกเก็บภาษีลาเต้จำนวน 25 เพนนี ในหลายๆ ร้านกาแฟ รวมถึงสตาร์บัค

4.ทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้

“สหรัฐอเมริกา” ยังไม่มีแผนการใดๆ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศตัวเอง ทั้งระบบการจัดการขยะและรีไซเคิลก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายในระดับชาติจะยังไม่มีความชัดเจน แต่ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมาตรการแก้ไขขยะภายในรัฐของตัวเอง ตัวอย่างเช่น ปี 2014 รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่เก็บเงินลูกค้าเพิ่มหากต้องการใช้ถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษ

และนั่นได้กลายมาเป็นตัวอย่างให้อีกหลายๆ รัฐดำเนินการตาม เช่น ฮาวาย นิวยอร์ค ซีแอตเติล และเมน

สำหรับอเมริกาใต้ หลายประเทศต่างมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในบ้านตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น อาร์เจนติน่า บราซิล ชิลี และโคลอมเบีย แต่น่าเสียดายที่สถิติจำนวนการใช้พลาสติกในประเทศเหล่านั้นกลับไม่ลดลง และค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่จะชักจูงให้ประชาชนร่วมมือ

5.ทวีปแอฟริกา

ทวีปแอฟริกาเป็นอีกหนึ่งทวีปที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ “เคนย่า” ที่ออกกฎหมายเข้มข้นและรุนแรงที่สุดในโลก นั่นคือ ห้ามผลิต ห้ามขาย และห้ามซื้อถุงพลาสติกทุกประเภท โดยผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี และปรับสูงสุด 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ

ส่วน “ประเทศแรก” ที่สั่งห้ามใช้พลาสติกในทวีปแอฟริกาคือ “ประเทศแอฟริกาใต้” โดยห้ามใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา ซึ่งหลังจากนั้นก็มีอีก 15 ประเทศที่ร่วมด้วย เช่น มาลี แคเมอรูน แทนซาเนีย อูกันดา เอธิโอเปีย มาลาวี โมรอคโค เคนย่า รวันดา และบอตสวานา เป็นต้น

6.ทวีปเอเชีย

จากข้อมูลขององค์กร Ocean Conservancy ระบุว่า ประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกมากกว่าหลายๆ ประเทศในทวีปอื่นรวมกัน ประกอบด้วย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม พร้อมยังชี้ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้ 5 ประเทศนี้เกิดอุทกภัยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปริมาณขยะอันมหาศาล และระบบการจัดการขยะที่ไร้ประสิทธิภาพ

แต่ใช่ว่าประเทศเหล่านั้นจะไม่พยายามแก้ไขใดๆ “ประเทศจีน” เป็นหนึ่งประเทศที่จริงจังต่อการลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างมาก โดยมีการสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกและให้เก็บภาษีถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2008 ส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 2 ใน 3

นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2018 เป็นต้นมา จีนยังได้ยุติการนำเข้าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่นำมารีไซเคิลแล้วใช้ใหม่

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า จีนเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่นำเข้าขยะจำนวนมาก ปี 2016 พบว่า ขยะที่จะถูกส่งข้ามประเทศเพื่อไปรีไซเคิลในประเทศใดหนึ่งนั้น กว่า 56% ถูกส่งไปรีไซเคิลยังประเทศจีน หรือคิดเป็น 7.3 ล้านตัน มูลค่าสูงถึง 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สาเหตุสำคัญที่จีนประกาศยุติการนำเข้าขยะ ก็เพื่อยกระดับประเทศให้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และเป็นการบังคับให้ประเทศที่ส่งขยะมาให้จีนเพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิลขยะพลาสติกด้วยตัวเอง

แม้จะเห็นความพยายามแก้ปัญหาจากประเทศจีน แต่ต้องบันทึกไว้ด้วยว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในของจีนเรียกว่าเข้าขั้นวิกฤต ทั้งปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทั้งในน้ำและอากาศ ดังข้อมูลจากนักวิจัย เฮลม์โฮทส์ เซ็นเตอร์ สถาบันวิจัยเพื่อสิ่งแวดล้อม (Helmholtz Centre for Environmental Research)ประเทศเยอรมนี ที่พบว่า ขยะพลาสติกในทะเลกว่า 95% ของโลก มีต้นกำเนิด หรือถูกทิ้งมาจากแม่น้ำเพียง 10 สายเท่านั้น และ 5 ใน 10 สายนี้ คือแม่น้ำที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน (อ่านต่อ: https://greennews.agency/?p=16039)

ต่อกันที่ “อินโดนีเซีย” นับเป็นประเทศผู้ผลิตขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน (ข้อมูลจาก sciencemag.org ปี 2017) งานประชุมสุดยอดโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติปลายปีที่แล้ว อินโดนีเซียประกาศจะลดปริมาณขยะลงทะเลให้ได้ 75% ภายในปี 2025

แน่นอนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นเรื่องยากที่อินโดนีเซียจะทำได้ เนื่องจากระบบการจัดการขยะของอินโดนีเซียยังมีประสิทธิภาพไม่มากพอ

กุมภาพันธ์ 2018 หน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ “ไต้หวัน” (Environmental Protection Agency: EPA) ประกาศยุทธศาสตร์แห่งชาติ 12 ปีเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก หลังจาก EPA พบว่า ชาวไต้หวันใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 700 ใบ/คน/ปี คาดว่าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ 100 ใบ/คน/ปี ภายในปี 2025 และลดให้เหลือ 0 ใบภายในปี 2030

ไม่เฉพาะแค่ถุงพลาสติกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพลาสติกใช้แล้วทิ้งประเภทต่างๆ อีกด้วย เช่น หลอดพลาสติก แก้วกาแฟพลาสติก และถุงพลาสติก โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในต้นปี 2019 ด้วยการสั่งห้ามร้านค้าและร้านอาหารทั่วประเทศใช้หลอดพลาสติก หากประชาชนต้องการจะใช้จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ยังไม่มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะต้องจ่ายเพิ่มเท่าไร

7.ออสเตรเลีย

มาตรการ “ลด ละ เลิก” การใช้ถุงพลาสติก หรือพลาสติกใช้แล้วทิ้งรูปแบบต่างๆ ในระดับชาติของออสเตรเลียยังไม่ออกมาเป็นกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ เขตของออสเตรเลียก็ไม่รอช้า และได้จัดทำนโยบายของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย

เวสเทิร์ตออสเตรเลีย (Western Australia) ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง โดยจะเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2018 เป็นต้นไป ตามรอยเซ้าท์ออสเตรเลีย (South Australia) ที่ห้ามใช้เมื่อปี 2009 และนอร์ทเธิร์น เทร์ริทอรี (Northern Territory) ออสเตรเลียน แคพิทอล เทร์ริทอรี (Australian Capital Territory) ที่ห้ามใช้เมื่อปี 2011

8.ประเทศไทย

ในส่วนของ “ประเทศไทย” ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางภาครัฐและภาคเอกชนจับมือกันประกาศยกเลิกการใช้ “พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม” ดีเดย์อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2018 ซึ่งหากใครมีโอกาสได้เข้าไปในร้านสะดวกซื้อจะพบว่าน้ำดื่มบรรจุดขวาดเกือบทั้งหมดไม่ได้ใช้พลาสติกหุ้มฝาแล้ว

หวังว่ารูปธรรมความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่มาตรการเข้มข้นอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา :
https://goo.gl/5ARjiq
https://goo.gl/fyE3Y2
https://goo.gl/QrrVG1
https://goo.gl/Yt2yNz
https://goo.gl/PJ49iw
https://goo.gl/E3PgU7
https://goo.gl/x94Gbg
https://goo.gl/xuVUuP
https://goo.gl/vo7wRo