เสนอตั้ง ‘แพขยะแปซิฟิค’ เป็นประเทศใหม่ เรียกขานนาม ‘The Trash Isles’

ปัจจุบันแพขยะในแปซิฟิค (Great Pacific Garbage Patch) มีขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า เป็นเหตุให้นักสิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์กังวลว่า ด้วยขนาดและความเร็วในการเพิ่มขึ้นของขยะเช่นนี้น่าจะทุบสถิติตามที่มีการประเมินไว้

เขาจึงเรียกร้องให้ตั้งแพขยะแปซิฟิคเป็นประเทศใหม่ชื่อ “The Trash Isles” เพราะเมื่อเป็นรัฐ ก็จะได้สิทธิการคุ้มครองตามกฎบัตรสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ และทุกประเทศต้องเข้ามามีส่วนร่วม

แพขยะใหญ่แปซิฟิค หรือวงวนขยะขนาดใหญ่บริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของขยะทุกประเภท ประกอบด้วย เศษขยะพลาสติกทุกขนาดและทุกชนิด ตั้งแต่อวนเก่า ตาข่ายดักปลา จนถึงเม็ดบีสขนาดจิ๋วที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือในครัวเรือน ที่เราคุ้นหูในชื่อไมโครพลาสติก (microplastics)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แพขยะใหญ่แปซิฟิคจะมีขนาดใหญ่มาก แต่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยดาวเทียม เนื่องจากขยะทั้งหมดอยู่ใต้หรือใกล้ผิวน้ำมาก

วงวนน้ำแปซิฟิกเหนือถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1997 โดยนักสมุทรศาสตร์ (oceanographer) นามชาร์ล มัวร์ (Charles Moore) โดยข้อค้นพบดังกล่าวเปิดเผยผ่านวารสารวิชาการวิทยาศาสตร์ Scientific Reports Friday โดยทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติร่วมกับ 6 มหาวิทยาลัยระดับโลก,  The Ocean Cleanup Foundation มูลนิธิสิ่งแวดล้อมทางทะเล และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเซ็นเซอร์ทางอากาศ หลังจากพวกเขาใช้เวลาศึกษาและสำรวจนานถึง 3 ปี ด้วยเครื่องบินสำรวจ 2 ลำ เรือสำรวจกว่า 30 ลำ ในการศึกษาแพขยะใหญ่แปซิฟิค

การสำรวจทั้งหมด ด้วยการสแกนหน้าน้ำมหาสมุทร 300 ตารางกิโลเมตร เก็บตัวอย่างขยะได้ทั้งหมด 1.2 ล้านชิ้น น้ำหนักกว่า 8 หมื่นตัน โดยผู้วิจัยพบว่ากว่า 92% เป็นขยะบกขนาดใหญ่ และมีเพียง 8% ที่เป็นไมโครพลาสติกหรือมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร

“เราตกใจอย่างมากกับจำนวนขยะพลาสติกมหาศาลที่เราค้นพบ จากที่เคยเข้าใจว่าขยะส่วนใหญ่มาจากขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ รวมตัวกัน แต่การศึกษาครั้งนี้ (ข้อค้นพบว่าขยะส่วนใหญ่เป็นขยะชิ้นใหญ่ ไม่ใช่ไมโครพลาสติก) ทำให้เราสนใจศึกษาต่อเรื่องเศษซากชิ้นขยะเหล่านี้”  หัวหน้าทีมวิจัย จูเลีย ไรซ์เซอร์ (Julia Reisser) กล่าว

เป็นไปในทิศทางเดียวกับงานวิจัยของ บริทต้า เดนิส ฮาร์ดเดสตี้ (Britta Denise Hardesty) ผู้อำนวยการองค์การการวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครือจักรภพอังกฤษ (Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation: CSIRO) ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ Marine Policy เมื่อเดือนตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา อธิบายว่า อุปกรณ์ของชาวประมงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกทางทะเล (marine plastic pollution) ระดับโลก

เธอประเมินว่า อุปกรณ์สำหรับประมงที่ตกหล่นหรือกลายเป็นขยะอยู่ใต้ท้องทะเลมีประมาณ 6.4 หมื่นชิ้นต่อปี

อย่างไรก็ดี งานของฮาร์ดเดสตี้ไม่ใช่การกล่าวโทษชาวประมงอย่างเดียว เธอชี้ว่าเรื่องดังกล่าวควรเป็นความรับผิดชอบของมนุษย์ทุกคนและเราสามารถช่วยกันได้ เริ่มจากการปฏิเสธถุงพลาสติก หลอด แก้วกาแฟพลาสติก ลด ละ เลิก การใช้สินค้าที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

“มันไม่ยุติธรรมถ้าจะตำหนิเพียงชาวประมงหรือรายชื่อประเทศจำนวน  20 ประเทศที่ล้มเหลวด้านการจัดการขยะ สิ่งที่ควรทำคือมองหาคุณค่าที่แท้จริงจากราคาที่ต้องเสียจากพลาสติกเหล่านั้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการท่องเที่ยว” ฮาร์ดเดสตี้อธิบาย

ปลายปี 2017  นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกยังร่วมกันเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกาศให้แพขยะใหญ่แปซิฟิกเป็น ‘กลุ่มประเทศเกาะขยะ’ ตั้งชื่อว่า ‘The Trash Isles’ เพราะหาก The Trash Isles ได้รับการยอมรับให้เป็นรัฐ (state) และได้เป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติเหมือนกับรัฐอื่นๆ The Trash Isles จะได้รับสิทธิการคุ้มครองตามฎบัตรสิ่งแวดล้อมแห่งองค์กรสหประชาชาติ

หมายความว่า ประเทศต่างๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความสะอาดและจัดการกับกองขยะเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศของโลกร่วมกัน ประเทศนี้เสมือนประเทศจริงทุกอย่าง เพราะการเข้าประเทศต้องมีพาสปอร์ตและเงินตรา ซึ่งก็คือเศษขยะ

แคมเปญนี้ต้องการเรียกร้องให้มีผู้เข้าร่วมเป็นพลเมือง (citizen) ของประเทศ The Trash Isles จำนวน 2 แสนราย ปัจจุบันประชากรบนเกาะดังกล่าวมีรายชื่อคนดังเข้าร่วมด้วยเช่นกัน ได้แก่ เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ พิธีกรรายการโทรทัศน์และนักนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ, คริส เฮมส์เวิร์ท พระเอกชื่อดังจากภาพยนตร์ Thor, เกล กาดอท นักแสดงนำหญิงจากเรื่อง Wonder Woman  และ อัล กอร์ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยบิล คลินตัน