‘ไอ้นักอนุรักษ์’
ฉันรู้จัก ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ครั้งแรกผ่านข้อความข้างต้น พร้อมด้วยเรื่องราวการเดินเท้ากว่า 300 กิโลเมตร จากป่าสู่เมืองด้วยหัวใจและเจตนารมณ์อันเด็ดเดี่ยว เพื่อคัดค้านรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์
สำหรับฉันแล้ว เรื่องราวของเขานับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในแวดวงสิ่งแวดล้อม และหากต้องการสนทนาเรื่องของ ‘ป่า’ โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตกผืนป่าขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย บุคคลแรกที่ฉันคิดถึงก็คือเขา
เช้าวันจันทร์ยามพระอาทิตย์ข้ามพ้นขอบฟ้า บนถนนติวานนท์เลยแยกแครายมาราวๆ 650 เมตร ภายใต้อาคารสีเขียวปรากฏป้าย ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ เจ้าหน้าที่กล่าวต้อนรับฉันด้วยกาแฟจอมป่า กาแฟรักษาป่าต้นน้ำผลผลิตของเมล็ดกาแฟอาราบิก้าออแกนิคจากชุมชนใน อ.อุ้มผาง จ.ตาก
“ป่านิ่งๆ มาหลายปีแล้ว”
บทสนทนาระหว่างฉันกับนักอนุรักษ์ชั้นแนวหน้าของประเทศเริ่มต้นขึ้นด้วยเรื่องราวสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย
เขาอัพเดทข้อมูลผืนป่าว่า ตลอด 10 ปีมานี้ ป่ามีช่วงเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ และมีช่วงลดลง-เพิ่มขึ้น แต่หากมองในภาพรวมป่าไม้ทั้งประเทศจะพบว่าพื้นที่ป่าอยู่ในระดับนิ่ง ซึ่งประเทศไทยมีป่าไม้ประมาณ 30-32%
ศศิน เล่าว่า สาเหตุสำคัญคือกระบวนการดูแลรักษาป่าของประเทศดีขึ้นพอสมควร มีระบบการป้องกันดีขึ้น ถือว่าโชคดีที่พื้นที่ต้นน้ำสำคัญๆ ของประเทศยังมีป่าอยู่ แต่ก็ยังคงมีจุดวิกฤตอยู่ประมาณต้นน้ำป่าสัก จ.เลย พิษณุโลก นาน แพร่ เพชรบูรณ์ พื้นที่เหล่านี้คือ จุดวิกฤตจริงๆ เกิดปัญหาขึ้นมากมาย
“โดยภาพรวมพื้นที่ป่าก็เสียหายไปเยอะ แต่นิ่งๆ มานาน และยังเก็บรักษาป่าพื้นที่สำคัญไว้ได้จำนวนมาก” เขาย้ำ พลางจิบกาแฟตรงหน้า ก่อนพูดคุยเรื่องราวระหว่างความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และพื้นที่ป่าไม้ในปัจจุบัน
ประธานมูลนิธิสืบฯ บอกกับเราว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อพื้นที่ป่าไม้ แม้ว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น แต่จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่เซนติเมตรในรอบ 10 ปี ดังนั้นแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง จะยกเว้นก็แต่เกิดเหตุการณ์สำคัญครั้งใหญ่ เช่น น้ำแข็งขั้วโลกหักลงในกระแสน้ำอุ่น ซึ่งในทางทฤษฎียังไม่น่าเกิด
เขาเล่าว่า เมื่อพูดถึงโลกร้อนคนมักเข้าใจว่าอากาศร้อนอย่างเดียว แต่จริงๆ คืออากาศเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ร้อนจัด ฝนตกหนักจัด หนาวจัด ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อป่า ถ้าแล้งขึ้นแน่นอนว่าป่าดิบชื้นจะหดตัว ทุ่งหญ้าเพิ่มขึ้น ถ้าฝนตกเยอะขึ้น ป่าดิบชื้นจะขยายตัว แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเด่นชัดยังไม่มี
เขาเล่าต่อไปว่า ป่าไม้เกิดการทดแทนได้ด้วยตัวเอง ประกอบกับป่าของประเทศอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย ป่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระบบนิเวศ แต่หากป่าไม้จะหมดไปมนุษย์ยังคงปัจจัยหลักในการเข้าไปแผ้วถาง หากเกิดความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น ส่วนทางนิเวศในอนาคตยังไม่สามารถคาดการณ์ได้
“สิ่งที่คนคิดคือว่าการที่มีป่าเยอะๆ จะช่วยดูดซับคาร์บอนตามที่ว่ากัน แต่ว่าหนาวเกิน ร้อนเกิน ฝนเกิน ป่ามันช่วยได้ทั้งหมด หากมีป่าอยู่ในเมือง อยู่ในรอบๆ ชุมชน อยู่ในอะไรอย่างนี้ ป่าก็จะช่วยได้ ช่วยบรรเทาได้ทุกเรื่อง” นักอนุรักษ์รายนี้ย้ำ
ศศิน มองว่า ในระดับโลกการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีความเกี่ยวข้องกับป่าไม้อย่างแน่นอน เนื่องจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะแห้งขึ้น แต่ในประเทศไทยไม่รู้ว่าจะแห้งหรือเปล่าด้วยภูมิประเทศที่มีทะเลล้อมรอบ สำหรับพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายของประเทศอินเดีย แอฟริกา มีความกังวลอยู่ว่าจะมีป่าไม้เกิดขึ้นหรือเปล่า
หากสภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงสุดขั้วมีฝนตก การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง ตามทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ฝนจะตกที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ดังนั้นพื้นที่ป่าอาจจะเพิ่มขึ้น และขยับไปยังบริเวณพื้นที่แห้งแล้ง ที่ราบในมองโกเลีย จีน ไซบีเรีย แคนนาดา ทุ่งกลางทางเหนือของอเมริกา ออสเตเลีย
เขาพูดถึงการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ในอีก 100 ปีข้างหน้าว่า หากมนุษย์ไม่มีการลดการใช้คาร์บอน อาจจะต้องหนีภาวะน้ำท่วม ผู้คนไม่สามารถอาศัยอยู่ริมทะเลได้ มีการขยับขยายครั้งใหญ่เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง อาจเกิดทุ่งข้าวในพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งมาก่อน ส่วนพื้นที่เดิมที่เป็นทุ่งข้าวอาจจะมีน้ำทะเลเข้าท่วม
อาจารย์ศศิน เล่าต่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีความสัมพันธ์กับความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ สมมุติโลกร้อนตัวที่ควบคุมประชากร สิ่งมีชีวิต ซึ่งมีอิทธิพลต่อมนุษย์มากที่สุดคือ พวกแมลง กบ เขียด สลาแมนเดอร์ สัตว์พวกนี้จะเปลี่ยนแปลง ได้รับผลกระทบอย่างไร
“ถ้าพวกนี้มีผลกระทบ หรือมันสูญพันธุ์ไป เพราะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หากสูญพันธุ์ แมลงวันจะเยอะ ตัวควบคุมมันจะไม่มี เกิดการบูมของแพลงตอน แมลงที่ไม่ดี อะไรแบบนี้ นี่คือเรื่องอยู่ในทางทฤษฎีวิทยาศาสตร์เมื่อโลกมันร้อนขึ้น 1 องศา 2 องศา 3 องศา โรคระบาดจะเกิด นิเวศวิทยาจะมีผลกระทบ เมื่อขาดตัวควบคุม พาหะนำโรค เช่น ยุง ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก” ศศิน กล่าว
เขาให้ภาพต่อว่า ประเทศไทยมีความเกี่ยวพันธ์กับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีสัตว์เป็นประชากรจำนวนมาก แต่มีปริมาณความหลายชนิด ซึ่งเป็นความแข็งแรงของระบบนิเวศที่อยู่มาอย่างยาวนานคือ ความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้เป็นตัวควบคุม ถ้าโลกร้อนขึ้น กบ เขียด นก ได้รับผลกระทบ แมลงหรือพาหนะนำโรคจะเกิดขึ้นด้วย
“น่ากลัวมาก ผมว่าน่าจะมีผลกระทบมากสุด” เขาย้ำด้วยแววตาที่เผยให้เห็นถึงความกังวล หากเรามองภาพอนาคตตามการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ เรื่องราวเหล่านี้คงสร้างความกังวลใจให้เราไม่ใช่น้อยเช่นกัน ประเด็นท้ายสุดของการสนทนา ฉันไม่ลืมถามถึงทางออก
เขา ให้คำตอบว่า ต้องมองที่ระดับโลกหากพูดถึงระดับนโยบาย ต้องมองกระแสโลกว่าเป็นอย่างไร ส่วนตัวเขาคิดว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีข้อมูล และข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องของความตกลงปารีส (Paris Agreement) น่าจะถือเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ เรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน แม้ว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ไม่สูงมาก
“ผมคิดว่าการที่มีเสียงๆ หนึ่งของประเทศไทยออกไปบอกระดับว่า วันนี้เราพร้อมจะเดินทางทำให้ Make our planet great again แบบที่ประธานาธิบดีมาครง ฝรั่งเศสพูด ประเทศไทยจะอยู่ในฝั่ง make our planet great again หรือจะสนับสนุน make America great again ผมคิดว่ามันเลือกไม่ยากใช่ไหม?” ประธานมูลนิธิสืบฯ ทิ้งท้าย
แล้ว คุณละ? เลือกแบบไหน ฉันว่ามันเลือกไม่ยากใช่ไหม?