ภายในปี 2100 ถ้าโลกยังไม่มีมาตรการเด็ดขาดเพื่อต่อสู้และควบคุมไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ความหลากหลายของพันธุ์พืชและสายพันธุ์สัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์อย่างอเมซอน เกาะกาลาปากอส และเกาะมาดากัสก้า กว่าครึ่งหนึ่งจะต้องหายไป สัตว์ป่าและพันธุ์พืชหลายสปีชีส์อาจต้องสูญพันธุ์ เพราะฤดูกาลผันผวน ระบบนิเวศเปลี่ยน ช่วงเวลาผสมพันธุ์เปลี่ยน ที่อยู่อาศัยเปลี่ยน
“ความปกติใหม่คือ (เรามี) วันที่ร้อนมากขึ้น ฤดูแล้งยังยาวนาน ทั้งเข้มข้นรุนแรง นั่นหมายถึงสัตว์ป่าและพันธุ์พืชทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากความปกติใหม่นี้” นิกคลิ อัดวานิ หัวหน้ากลุ่มคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสภาพอากาศ แห่งกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature: WWF) กล่าว
ภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะปี 2017 สหรัฐอเมริกาเจอกับพายุใหญ่ 16 ลูก ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อุณหภูมิในแถบทะเลอาร์กติกเพิ่มขึ้นถึง 20 องศาเซลเซียส และด้วยอัตราเร่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 1,500 ปี ทั้งมีความเป็นไปได้ว่าความเร็วจะค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เฉพาะปรากฏการณ์ฤดูฝนที่น้อยและสั้นลงในเมดิเตอร์เนเรียนและมาดากัสก้า ส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของน้ำสำหรับช้างป่าในแอฟริกา ซึ่งต้องการน้ำราว 150-300 ลิตรต่อวัน หรือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในแม่น้ำอย่างรวดเร็วในพื้นที่มรดกโลกอย่างซันดาร์บานส์ (Sundarbans) พื้นที่ดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เชื่อมระหว่างอินเดียและบังคลาเทศ ซึ่งอาจจมลงภายใน 15-25 ปี และมีผลต่อพื้นที่ผสมพันธุ์ของเสือที่อยู่ในบริเวณนั้น
ความแปรปรวนเพราะอากาศเปลี่ยนที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่ใช่แค่มนุษย์ได้รับผลกระทบ แต่ยังส่งต่อกันเป็นทอดๆ และขยายวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ฤดูกาลผสมพันธุ์ ฤดูกาลและระยะทางในการอพยพของสัตว์ การออกจากฤดูจำศีลเร็วขึ้น และการปรับตัวอื่นๆ เพื่อการอยู่รอด
เพื่อสำรวจการกระจายตัวของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า (สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ว่า ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกท่ามกลางการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ มีผลต่อการกระจายตัว การสืบพันธุ์ และการปรับตัวของพืชและสัตว์อย่างไร ทีมสำรวจจากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก (James Cook University) และ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) สนับสนุนโดย WWF จึงใช้เครื่องมือที่พัฒนาโดย Wallace Initiative ศูนย์บริการชีวนิเวศเขตร้อน (Tropical Data Hub) สำรวจการกระจายตัวของพืชและสัตว์ทั้งหมด 80,000 สายพันธุ์ ในพื้นที่ป่ากลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 35 แห่งทั่วโลก โดยทำนายความเป็นไปของพืชและสัตว์เหล่านั้น ภายใต้เงื่อน 3 กรณี คือ
1. ถ้าควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
2. ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส ภายในปีสิ้นศตวรรษนี้ หรือภายในปี 2100 ตามทำนายของยูเอ็น
3. ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 4.5 องศาเซลเซียส ถ้าโลกยังหมุนด้วยการใช้พลังงานของทุกประเทศแบบเดิม
ในกรณีเลวร้ายที่สุดคือ ข้อ 3 ทำนายได้ว่า เฉพาะความหลากหลายของพันธุ์พืชในป่าอเมซอนจะหายไปราว 69 เปอร์เซ็นต์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่ามิออมโบ (Miombo Woodlands: ป่าไม้ประเภทที่พบไม้ยืนต้นหนาแน่นกว่าทุ่งหญ้าระดับหนึ่ง และมีความชุ่มชื้นสูง) กว่า 80 เปอร์เซ็นต์อาจต้องสูญพันธ์
กรณีที่ 2 ถ้าอุณหภูมิโลกแตะที่ 3.2 องศาเซลเซียส อาจเท่ากับสายพันธุ์สัตว์ในป่าอเมซอนจะหายไป 50 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
ส่วนกรณีที่ 1 ควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกรณีที่ทีมวิจัยให้ความสำคัญและต้องการสร้างกรอบนโยบายระดับโลกเพื่อเดินไปให้ถึง
ราเชล วาร์เรน (Rachel Warren) ศาสตราจารย์แห่งศูนย์วิจัยเรื่องสภาพอากาศ ทินดอลล์ (Tyndall Centre for Climate Change Research) แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย กล่าวว่า “รายงานของเราบอกความเป็นไปได้ของข้อดีที่สุดที่จะเกิดแก่พื้นที่ป่ากลุ่มเสี่ยง 35 แห่งทั่วโลก จากการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส
“จากการศึกษาสิ่งมีชีวิตทั้งหมด 80,000 สายพันธุ์ ทั้งพืช สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พบว่า ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จะสาบสูญ ถ้าไม่ดำเนินการนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่ถ้าควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมได้ ตัวเลขนี้จะลดลงอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์
“และแม้ว่าการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะยังไม่เคยถูกพูดถึง แต่คาดว่านั่นคือตัวเลขที่จะรักษาความหลากหลายของธรรมชาติและสายพันธุ์สัตว์ป่าได้มากขึ้น” วาร์เรน กล่าว
ที่มา:
https://goo.gl/HZwknz
https://goo.gl/2iPHEt
รายงาน: https://goo.gl/gebpLQ