ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามรณรงค์ลดใช้หลอดพลาสติก แต่ที่สหรัฐยังคงมีการใช้วัสดุประเภทนี้ในปริมาณมหาศาล เช่นเดียวกับสภาอังกฤษที่มียอดจัดซื้อหลอดพลาสติกสูงขึ้นกว่าหลายปีที่แล้วมา
23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือวันลดการใช้หลอดพลาสติกสากล แม้ไม่ได้ถูกกำหนดโดยองค์กรนานาชาติอย่างเป็นทางการ แต่เป็นวันสำคัญในตารางปฏิทินของ National Day Calendar เว็บไซต์ที่ปักหมุดวันสำคัญทั้งที่สำคัญจริงๆ และสำคัญแบบตลกร้าย และแม้วันดังกล่าวจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ตัวเลขที่กรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (The National Park Service) ประเมินไว้ในปี 2013 ก็ยังน่าสนใจ ในแง่ที่ว่า…
ชาวอเมริกันใช้หลอดพลาสติก (ซึ่งใช้ครั้งเดียวทิ้ง) 500 ล้านหลอด/วัน หรือเทียบให้เห็นภาพได้ว่าสามารถนำหลอดเหล่านั้นบรรจุเข้าไปในรถโรงเรียนได้กว่า 125 คัน/วัน หรือ 46,400 คัน/ปี และยังมีหมายเหตุด้วยว่า ยิ่งคนใช้หลอดขนาดเล็กมากเท่าไร ก็เท่ากับปริมาณขยะอาจเพิ่มขึ้นเท่านั้น
อย่างโดยบังเอิญ เพราะวันเดียวกันนั้น สำนักข่าว The Independence ประเทศอังกฤษ เปิดเผยรายงานจากสภาสามัญอังกฤษ (the House of Commons Commission) ถึงตัวเลขงบประมาณเบิกจ่ายหลอดพลาสติกที่ใช้ในสภาว่า เฉพาะปี 2016-2017 สภาสามัญเบิกหลอดพลาสติกมากถึง 12,250 หลอด มากกว่าตัวเลขในปี 2014-2015 ที่ใช้หลอด 6,000 หลอด อาจกล่าวได้ว่า ภายใน 3 ปี สภาสามัญอังกฤษใช้หลอดเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว
นายเดวิด ลินเดน (David Linden) สมาชิกสภาจากพรรค SNP (Scottish National Party) ชี้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่อง “น่าวิตก” หรือ “pretty alarming” หลังยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายทอม เบลค (Tom Brake) อดีตหัวหน้าพรรค Liberal Democrat เพื่อขอให้ชี้แจงต่อคำถามที่ว่า “ในช่วง 5 ปีหลังนี้ สภาได้เบิกจ่ายหรือใช้หลอดพลาสติกไปเท่าไหร่กัน”
นายเบลคตอบกลับว่า ไม่อาจระบุได้ว่าตัวเลขการใช้หลอดพลาสติกที่ชัดเจนคือเท่าไร แต่ยอดซื้อหลอดพลาสติกของแผนกจัดเตรียมอาหารในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนดังนี้
2012-2013: 14,000
2013-2014: 16,250
2014-2015: 6,000
2015-2016: 9,000
2016-2017: 12,250
ทำไมเรื่องหลอด ซึ่งเป็นขยะชิ้นน้อยจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่โต?
คำตอบของนายลินเดนมีว่า เพราะขยะเหล่านี้จะไปจบชีวิตรวมกันในทะเลมหาสมุทร ซึ่งไม่ต่างกับคำตอบของนักอนุรักษ์ทั่วไป แต่เราอาจตั้งข้อสังเกตต่อไปได้ว่า หากย้อนดูนโยบายของอังกฤษที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าจะเป็นผู้นำในการกอบกู้โลกร้อน และมีนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดที่ถูกจับตามองจาก EU ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ รวมถึงปัญหาหมอกควันในประเทศที่รุนแรงถึงขนาดที่รัฐบาลอังกฤษต้องประกาศนโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้ และนั่นก็ทำให้ปัญหาเรื่องขยะถูกผูกโยงเข้ากับเรื่องการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้
กลับไปที่บรรยากาศในสภา ข่าวชิ้นเดิมรายงานว่า สมาชิกจากพรรคอนุรักษนิยมจำนวนไม่น้อย รวมทั้งไมเคิล โกร์ฟ (Michael Gove) เลขานุการสิ่งแวดล้อม สัญญาว่าจะตัดงบประมาณการจัดซื้อหลอดหลอดพลาสติก เพื่อเอาจริงเรื่องสิ่งแวดล้อม
ที่มา:
https://goo.gl/3UrJSH
https://goo.gl/gxMiy9