ได้ข้อสรุปไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประชุมร่วม 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2561 เพื่อศึกษาผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต”
ที่ประชุมเห็นตรงกันที่จะยืนตามมติเดิม ที่ต้องการระงับการใช้สารพาราควอตภายใน 2 ปี พร้อมทั้งให้หาสารทดแทน โดยบทสรุปที่เห็นพ้องกันทุกฝ่ายในครัง้นี้จะถูกส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมกรรมการเฉพาะกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มี ภักดี โพธิศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นประธาน เพื่อจะพิจารณาในช่วงเดือน มี.ค.นี้
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สธ.ได้ยืนยันตามมติเดิมของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มีความเป็นห่วงต่อสุขภาพของประชาชน
“มติคณะกรรมการฯ กำหนดว่าต้องระงับการใช้ภายใน 2 ปี แม้จะมีฝ่ายคัดค้านที่อ้างว่าการใช้พาราควอตตามข้อกำหนดจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบ แต่เป็นงานวิจัย 20 ปีที่แล้ว ซึ่งงานวิจัยปัจจุบันระบุว่าถึงใช้ตามนั้นก็กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเมื่อมีมติระงับก็ต้องดำเนินการตามนั้น หากบอกว่าการใช้สารทดแทนแพงกว่าก็ต้องเลือกเอาว่าราคาแพงกว่าเดิมกับสุขภาพประชาชนจะเลือกแบบใด” นพ.ปิยะสกล กล่าว
อย่างไรก็ตาม การหยุดใช้สารดังกล่าวไปเลยนั้นอาจจะส่งผลกระทบ จึงต้องมีการกำหนดช่วงเวลา มาตรการ และมีการหาสารทดแทนให้ชัดเจน ซึ่งในประเด็นนี้ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ระบุว่า ทางกรมวิชาการเกษตรกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาทางวิชาการเพิ่มเติมอยู่
“ทางกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายชัดเจนในการดำเนินการเรื่องเกษตรปลอดภัย ให้ได้ 65% ภายในปี 2565 และการทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้อย่างน้อย 35% ในปี 2570” ปลัด กษ.ระบุ
ด้าน สมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับข้อสรุปที่ได้ ทางอนุกรรมการฯ จะมีการพิจารณาเพื่อส่งเรื่องไปยัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดูทั้งหมดในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจะทำอย่างไรในการค่อยๆ ลด ละ เลิกสารดังกล่าว
ความเห็นของ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่การประชุมครั้งนี้มีการยืนยันตามมติเดิม และเห็นแก่สุขภาพของประชาชน ซึ่งได้มีความชัดเจนจากการแถลงของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่ระบุว่าขณะนี้มีสารทดแทนการใช้พาราควอตแล้ว หลังจากนี้ทางเครือข่ายจึงจะมีการติดตามการทำงานของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อไป
นับได้ว่าเส้นทางการต่อสู้ของเครือข่ายด้านเกษตรและสุขภาพได้จบลงไปอีกเปราะหนึ่ง ภายหลังที่มีการเคลื่อนไหวหลายครั้งสืบเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560
สำหรับ “พาราควอต”เป็นหนึ่งในสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชยอดนิยม และพบเห็นในผลิตภัณฑ์ที่วางขายเต็มท้องตลาด มีโทษทัณฑ์ที่รุนแรงและอันตรายถึงชีวิต จัดเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง และปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ โดยศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษชนิดนี้ทางผิวหนังมีอัตราการตายสูงถึง 10.2% ขณะที่หากที่ได้รับสารพิษจากอุบัติเหตุจะมีอัตราการเสียชีวิตถึง 14.5%
มติของ 3 กระทรวงในครั้งนี้ จึงนับได้ว่าเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ช่วยให้ชีวิตของคนไทยยืนยาวขึ้น