“ในปี 2050 ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองอาจะแตะที่ตัวเลข 6.3 พันล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขปี 2016 ที่มีประชากรอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองทั้งหมด 50 เปอร์เซ็นต์หรือ 4 พันล้านคน ขณะที่จำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำลดหายไปอย่างต่อเนื่อง 64 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 1900” คือตัวเลขเปรียบเทียบที่ปรากฏในโปสเตอร์หลัก เนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ #WorldWetLandsDay วันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้
พื้นที่ชุ่มน้ำที่เราใกล้ชิดที่สุดในชีวิตประจำวัน คือพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เต็มไปด้วยกอกก กอหญ้า กอธูปฤาษี หลายคนมองว่าเป็นพื้นที่ไร้ประโยชน์และรอวันที่นายทุนจะเปลี่ยนแปลงที่ดินผืนนั้นให้กลายเป็นโรงงานหรือหมู่บ้านจัดสรร
แต่เมื่อถูกยกระดับความสำคัญให้เป็นวาระโลก พื้นที่ชุ่มน้ำรกร้างนี้คงไม่รกเรื้อและไร้ประโยชน์อย่างตาเห็น
มหัศจรรย์ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ
อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) สนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ให้คำนิยามพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) เอาไว้ว่า “เป็นพื้นที่บึง หนองน้ำ พรุ หรือแหล่งน้ำ ทั้งตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น ประกอบไปด้วยน้ำนิ่ง น้ำไหล น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม รวมถึงพื้นที่ชายฝั่ง ที่ความลึกของน้ำทะเลในช่วงน้ำลงต่ำสุดไม่เกิน 6 เมตร”
ในฐานะแนวกันชนโดยธรรมชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำช่วยลดความรุนแรงจากภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ควบคุมสมดุลระบบนิเวศ โดยเฉพาะในช่วงน้ำหลาก พื้นที่ชุ่มน้ำจะทำหน้าที่รับน้ำ กักเก็บ และเป็นหน้าด่านคอยผันน้ำออกในช่วงหน้าแล้ง และยังคุ้มกันหน้าดินไม่ให้ปะทะกับลมพายุ คลื่นลม หรือความแรงจากเม็ดฝนกับหน้าดิน พื้นที่ชุ่มน้ำในระบบนิเวศที่สมดุลยังช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติให้กลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น
พื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งผลิตบริการทางระบบนิเวศ (Ecological service) คือเป็นแหล่งธาตุอาหารของระบบการผลิตขั้นต้น การทำให้เกิดวัฏจักรของอาหาร เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ มีพืชและสัตว์นานาชนิดพักพิงอยู่ในระบบ
พื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นบ้าน เป็นที่แวะพักของนกหลากชนิดระหว่างอพยพประจำฤดูกาล นอกจากนี้ยังพบความสำคัญในแง่การอนุรักษ์โบราณวัตถุของโลกอีกด้วย
จีน: การหายไปของพื้นที่ชุ่มน้ำกับการสูญพันธุ์ของนก
ข่าวสืบสวนสอบสวนโดยเดเมียน คายา (Damian Kahya) และเอริน นิวพอร์ท (Erin Newport) ใน unearthed.greenpeace.org สำนักข่าวประเด็นสิ่งแวดล้อมเชิงลึก ที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2017 ระบุว่า
พื้นที่ชุ่มน้ำในมณฑลเจียงซู ประเทศจีน ซึ่งเป็นพื้นที่หลักหรือบ้านหลังใหญ่ของนกอพยพสำคัญอย่างนกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper) และนกทะเลขาเขียวลายจุด (Spotted Greenshank) ที่ขณะนี้หลงเหลืออยู่เพียงหลักร้อย และสัตว์น้ำกว่า 28,000 สายพันธุ์ กำลังจะหายไป เพราะโครงการพัฒนาเมืองของประเทศจีน
รายงานของสองนักข่าวสิ่งแวดล้อมระบุว่า ตั้งแต่ปี 2003-2013 ประเทศจีนเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำให้กลายเป็นเมืองกว่า 1.36 ล้านเฮกตาร์ หรือใหญ่เป็น 81 เท่าของปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะถูกวิจารณ์จากนักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักฐานจากดาวเทียมที่แสดงพื้นที่สีแดงจากปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ และการเปลี่ยนท้องทะเลบางส่วนให้เป็นพื้นดิน ทำให้รัฐบาลจีนต้องออกมาแถลงนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กำหนดพื้นที่เรดโซน ด้วยเจตนาที่จะฟื้นระบบนิเวศที่ถูกคุกคามจากการพัฒนาเมือง แต่ภาพจากดาวเทียมยังแสดงข้อมูลอันตราย และชี้ว่าการเข้าไปทำธุรกิจในเขตอนุรักษ์ยังคงเท่าเดิม
อังกฤษ: พื้นที่ชุ่มน้ำเหือดหาย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ถูกทำลาย
รายงานข่าวจาก The Independent เดือนพฤศจิกายน 2016 ระบุว่า พื้นที่ชุ่มน้ำที่เปลี่ยนไปในโบราณสถานสตาร์ คาร์ล (Star Carr) แห่งนอร์ทยอร์คเชียร์ ประเทศอังกฤษ โบราณสถานสำคัญในยุคหินกลางที่มีอายุกว่า 10,000 ปีมาแล้ว มีหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของคนในยุคนั้น เช่น เครื่องประดับศีรษะทำจากเขากวาง และงานไม้โบราณของยุโรปเหนือ
แต่หลักฐานเหล่านั้นกำลังจะผุพังและสูญสลายไป เพราะการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเคยทำหน้าที่รักษาแร่ธาตุเฉพาะที่สำคัญต่อความสมบูรณ์ของหลักฐาน และยังเก็บรักษาซากของสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่บอกได้ว่า ชีวิตสมัยยุคหินหน้าตาเป็นอย่างไร
ไม่เฉพาะโบราณสถานสตาร์ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น คาร์ล แต่คริสตี้ ไฮ (Kirsty High) นักวิจัยหลังปริญญาเอก คณะสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยยอร์ก กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่โบราณสถานอื่นๆ ที่อยู่เคียงคู่กับระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำจะถูกทำลายเช่นกัน ความเป็นไปได้อย่างน้อยที่สุดก็คือ การสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำจะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมหรือภัยแล้งรุนแรงขึ้น และย่อมส่งผลกระทบต่อโบราณสถานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
“90 เปอร์เซ็นต์ของภัยธรรมชาติเกี่ยวข้องกับน้ำ การให้ความสำคัญกับนโยบายปกป้องระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำย่อมมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงของภัยพิบัติลงได้” มาร์ธา โรจาส์ เอเรโก เลขาธิการแรมซาร์กล่าว
ที่มา: https://goo.gl/jrtQvs
พื้นที่ชุ่มน้ำกับนกที่หายไปในจีน: https://goo.gl/jKSo8g
โบราณสถานสตาร์ คาร์ล: https://goo.gl/j5eKZz