เอ็นจีโอฮ่องกง 2 กลุ่ม คือ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wildlife Fund (WWF) และ The International Solid Waste Association (ISWA) แนะอุตสาหกรรมประมงใช้กล่องโฟมรูปแบบใหม่ผลิตจากพลาสติกโพลีโพรพิลีน (Polypropylene: PP) ที่มีราคาถูก น้ำหนักเบา กำจัดง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากล่องโฟมแบบเดิมที่ทำจากพลาสติกโพลีสไตรีน (Polystyrene: PS)
กล่องโฟมทางเลือกอย่าง PP ถูกผลักดันทั้งจากนักวิชาการในประเทศและองค์กรนานาชาติในฐานะบรรจุภัณฑ์อาหารทางเลือก ให้ใช้เป็นอุปกรณ์จัดเก็บปลาในอุตสาหกรรมประมง เหตุผลหลักคือเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เนื่องจากที่ผ่านมาขยะโฟมและพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งจำนวนมหาศาลจะลอยตัวอยู่บนผิวน้ำ เมื่อถูกกระแทกจะแตกตัวกลายเป็นอนุภาคเล็กๆ ที่เรียกว่า “ไม่โครพลาสติก” และเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลในที่สุด
“เราจะเห็นกล่องโฟมจำนวนมากลอยคออยู่กลางทะเล แม่น้ำ โดยเฉพาะอ่าวอาเบอร์ดีน ซึ่งโฟมเหล่านี้มีคุณสมบัติเบา แตกหักง่าย และยิ่งทำให้การจัดเก็บขยะทะเลประเภทนี้เป็นไปได้ยากขึ้น เพราะฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นคือการพัฒนาโฟมทางเลือกที่เล็ก เบา และง่ายต่อการเก็บกวาด” Patrick Yeung Chung-wing หัวหน้าโปรเจ็คต์ WWF กล่าว
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของ PP ยังไม่สามารถตอบโจทก์เรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการรีไซเคิล เนื่องจากโฟมมีอนุภาคเล็กและเบา ทำให้การรีไซเคิลหรือจัดเก็บทำได้ยาก แต่คุณสมบัติเด่นของ PP คือส่งผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่ากล่องโฟมประเภท PS โดยจะไม่หลอมละลายหรือปล่อยสารสไตรีน (styrene) และเบนซีน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ลงในอาหารเมื่อเจอกับความร้อน
เชลซี ลอชแมน นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต อธิบายว่า การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์มาเป็นโฟม PP เป็นสิ่งที่ทั้งโลกกำลังทำกันอยู่ หากแต่โฟม PP ยังไม่ถูกพัฒนาไปสู่ความกรีนอย่างแท้จริง ซึ่งเขาเห็นว่า “ถ้าไม่อยากให้โฟม PP เป็นเพียงขยะพลาสติกเปลี่ยนรุ่น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเร่งหาแนวทางในการรีไซเคิลอย่างจริงจัง”
ขณะที่ชาวประมงถูกหาว่าเป็นตัวการในการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลมาเนิ่นนาน ทั้งการจับปลาไม่ถูกวิธี และการสร้างขยะทั้งก่อนและหลังการจับปลา
“กล่องโฟม PS ขายในราคาเพียง 10 ดอลล่าร์ฮ่องกง (หรือ 1.3 เหรียญสหรัฐ) แต่ถ้าเจอกล่องโฟมคุณภาพดีก็จะใช้ได้นานถึง 8 ครั้ง ก่อนที่จะหมดสภาพจนต้องโยนทิ้ง” คือคำอธิบายของชาวประมงจากอ่าวอาเบอร์ดีนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฮ่องกง
ขณะที่ Cheung Siu-keung หนึ่งในสมาชิกผู้ประกอบการประมงประเทศฮ่องกง (Hong Kong Fishermen Consortium) กล่าวว่า หากชาวประมงต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ สิ่งแรกที่พวกเขาจะคำนึงก็คือต้นทุนในการเปลี่ยน การใช้งาน ความคงทนของสินค้า และที่สำคัญคือกล่องโฟมแบบใหม่ต้องควบคุมอุณหภูมิได้ดีเท่าของเดิม ซึ่งนี่คือข้อเท็จจริงที่ผู้ผลิตสินค้าต้องนำไปใช้เป็นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป
ไม่เพียงแค่การพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หาก Yeung ยังเห็นว่า ถ้าจะต้องแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ควรจะปฏิรูปทั้งระบบ โดยเห็นว่ารัฐบาลฮ่องกงจำเป็นต้องส่งเสริมหรือออกนโยบายที่สนับสนุนให้ชาวประมงหันมาใช้อุปกรณ์ทางเลือก และพัฒนาระบบการรีไซเคิลขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัญหาขยะโดยเฉพาะเรื่องโฟมพลาสติกเป็นปัญหาระดับโลก รายงานจาก Zion Market Research องค์กรวิจัยข้อมูลด้านการตลาด ในหัวข้อ “ขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์จากโฟม PS และ ESP ในปี 2014-2020” ระบุว่า เฉพาะปริมาณการใช้โฟมของมนุษยชาติในปี 2014 แตะที่ตัวเลข 17.5 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 42 ตันต่อวัน ซึ่งกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของขยะประเภทนี้มาจากทวีปเอเชียเป็นหลัก
“ชาวประมงเข้าใจสาเหตุของปัญหาอยู่แล้ว พวกเขาเห็นเศษซากขยะลอยเกลื่อนอยู่บนผิวน้ำและลอยอยู่รอบๆ เรือของเขา พวกเขารู้ว่านั่นเป็นปัญหา และถ้ามีทางเลือกที่เป็นไปได้จริงสำหรับพวกเขา พวกเขาก็พร้อมที่จะทำ” คือคำตอบของ Yeung หลังเริ่มผลักดันโครงการ
ที่มา:
https://goo.gl/bWmJyW
https://goo.gl/iUGu9m
https://goo.gl/77jZkT