ระดมหาเงิน 5 หมื่นล.อนุรักษ์ความหลากหลาย ‘BIOFIN’ ผนึกรัฐสร้างรายได้รักษาระบบนิเวศ

BIOFIN จัดประชุมระดมสมองหาช่องทางเงิน 5 หมื่นล้าน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ระบุไทยเจียดงบเพียง 0.5% ยังต้องเพิ่มอีก 4 เท่า

รศ.อรพรรณ ณ บางช้าง หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญ โครงการริเริ่มการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (BIOFIN) ประเทศไทย เปิดเผยในการประชุมเพื่อจัดทำแผนการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2560 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 0.5% ของงบทั้งหมด หรือเพียง 0.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในขณะที่งบประมาณที่คาดการณ์ว่าจะต้องใช้เพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพจำเป็นจะต้องสูงกว่าเดิมถึง 4 เท่า

ทั้งนี้ ในช่วงของแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (NBSAP) ระหว่างปี 2558-2564 จำเป็นจะต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จึงได้เกิดการประชุมร่วมกันขึ้นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมองหากลไกทางการเงินว่าจะนำมาจากแหล่งใด เช่น การทบทวนนโยบายหรือสัดส่วนงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน การนำเงินอุดหนุนจากภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงมาตรการการตอบแทนคุณระบบนิเวศ (PES) ด้านอื่นๆ

“ขณะนี้ทาง BIOFIN ได้มีการนำระบบ PES ไปใช้ในพื้นที่นำร่อง ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี โดยเริ่มคุยกับหน่วยงานท้องถิ่นในการเก็บเงินค่าขึ้นเกาะ รวมถึงในพื้นที่บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และพื้นที่แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ที่จะมีการนำร่องใช้มาตรการเกี่ยวกับน้ำเสีย” รศ.อรพรรณ กล่าว

น.ส.ลดาวัลย์ คำภา ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับโครงการ BIOFIN ประเทศไทย และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงประมาณอันดับที่ 16 ของโลก ซึ่งนอกจากความสำคัญในการช่วยรักษาระบบนิเวศแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผนกระรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มาโดยตลอด แต่งบประมาณในด้านนี้ยังน้อยเกินไป เพราะประเทศยังจำเป็นต้องนำเงินไปใช้จ่ายในด้านอื่นๆ

“ที่ผ่านมาความหลากหลายทางชีวภาพของเราค่อยๆ ถูกทำลาย หรือผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์แทน เช่นการนำไปวิจัยและจดสิทธิบัตรต่างๆ เราจึงมองว่าต้องมีการระดมทุนจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำเงินมาช่วยในการรักษาความหลากหลายนี้ เช่นในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน ที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ก็ควรมีการนำเงินรายได้กลับมาฟื้นฟูและรักษาสิ่งเหล่านี้” น.ส.ลดาวัลย์ กล่าว

นายธีธัช เชื้อประไพศิลป์ ผู้วิเคราะห์อาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาโครงการ BIOFIN กล่าวว่า การที่จะหาช่องทางการเงินเพื่อนำมาใช้นั้น จะต้องสร้างแรงจูงใจและความตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพให้มากขึ้น ว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามบทบาทการนำของภาครัฐจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ รวมไปถึงการขับเคลื่อนของหน่วยงานท้องถิ่นและเศรษฐกิจในชุมชน

ด้าน น.ส.นิรันดร์ นิรันดร์นุต ผู้ประสานงานโครงการ BIOFIN ประจำประเทศไทย ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวว่า สำหรับโครงการ BIOFIN ประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินงานในปี 2557-2560 ในการศึกษาและพัฒนาต้นแบบวิธีการระดมทรัพยากรในการดำเนินการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

น.ส.นิรันดร์ กล่าวว่า ในส่วนของแผนการระดมทรัพยากรที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทย และมีความเป็นไปได้ที่จะประสบผลสำเร็จ จะถูกคัดเลือกภายในสิ้นปี 2560 พร้อมนำไปดำเนินโครงการนำร่องในระยะที่ 2 ระหว่างปี 2561-2565 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาโครงการนำร่องในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และสามารถกำหนดแผนการดำเนินงานต่อไป ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ