ทส.แถลงความพร้อมร่วมเวทีโลกร้อน ‘COP23’ เปิดช่องทางการติดตาม – เตรียมจัดเวทีคู่ขนาน

กระทรวงทรัพย์ฯ เปิดช่องทางติดตามข่าวสารการประชุม “COP23” 6-17 พ.ย. เตรียมจัดเวทีคู่ขนาน ผลักดันเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก

นายสมชัย มาเสถียร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 23 (COP23) กำลังจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6-17 พ.ย.2560 ที่เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเป็นการหารือการดำเนินความร่วมมือภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส เป็นการเตรียมความพร้อมด้านกระบวนการและแนวปฏิบัติเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส

นายสมชัย กล่าวว่า ทส.ได้มีส่วนร่วมการประชุมในครั้งนี้ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศไทย (National Focal Point) พร้อมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางฯ ด้านการประสานท่าทีเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางฯ ด้านปฏิบัติการเพี่อเสริมพลังด้านสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment: ACE) หรือกิจกรรมภายใต้มาตรา 6 ของกรอบ UNFCCC

“ทั้ง 2 หน่วยงานจะเข้าร่วมติดตามการประชุมในครั้งนี้ด้วย โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ยังได้รับมอบหมายให้จัดกิจกรรมคู่ขนานในเวที COP23 ตลอดระยะเวลาการจัดงานตั้งแต่วันที่ 6-17 พ.ย.2560” นายสมชัย กล่าว

นายสุรชัย อจลบุญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สส.ได้รับมอบหมายในการจัดกิจกรรมคู่ขนาน นิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานของประเทศไทย และกิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ภายใต้แนวคิด Thailand Climate Action through Multi-Stakeholder Partnership โดยมี 2 ส่วน ได้แก่ 1.การจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อนำเสนอข้อมูลและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เผยแพร่แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม COP23 อาทิ แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เป็นต้น

2.การจัดเวทีเสวนา (Side Event) ในประเด็นความร่วมมือต่างๆ ทั้งความร่วมมือภายในประเทศ และระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ หัวข้อ Community-based Forestry Management : a Step to Sustainable Reforestation and forest Protection ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และหัวข้อ Boosting Climate Actions in Southeast Asian Countries through the Roles of Capacity Building ซึ่งเป็นความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

นายสุรชัย กล่าวว่า สส.ได้ดำเนินการจัดทำเว็บเพจ COP23 ในเว็บไซต์ของกรมฯ หรือสามารถเข้าโดยตรงที่ www.cop23.deqp.go.th เพื่อให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถรับทราบและติดตามข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุม COP23 นอกจากนี้ยังสามารถติดตามเวทีการเสวนา โดยกำหนดการและหัวข้อการเสวนาสามารถติดตามได้จากในเว็บเพจดังกล่าว และจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

“การเปิดช่องทางการรับรู้ข่าวสารการประชุมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้มาตรา 6 ที่ สส.เป็นหน่วยประสานงานกลางฯ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักและตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือ และการปรับพฤติกรรมของคนไทยทุกคน ที่จะสร้างพลังในการลดผลกระทบจากปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้” นายสุรชัย กล่าว

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า เมื่อปี 2557 สส.ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานหลักระดับประเทศ สำหรับปฏิบัติการเสริมพลังรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมาตรา 6 โดยกิจกรรมต่างๆ ภายใต้มาตรา 6 ของกรอบ UNFCCC ประกอบด้วย 6 กิจกรรมหลัก ๆ ได้แก่ การศึกษา การฝึกอบรม การสร้างจิตสำนึก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสาธารณชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ