เปิดงานวิจัยสัตว์ทะเลพื้นที่เศรษฐกิจ ‘ชลบุรี’ ‘อ่างศิลา’ หอยปนเปื้อน ‘ไมโครพลาสติก’ สูง

นักวิจัยร่วม 2 ประเทศ จากประเทศไทยและศรีลังกา ร่วมกันสุ่มตรวจสัตว์ทะเลตระกูลหอยใน พื้นที่เศรษฐกิจชลบุรี พบสารเคมีปนเปื้อนจากไมโครพลาสติก (พลาสติกขนาดจิ๋ว) เกินค่ามาตรฐาน โดยพื้นที่บริเวณอ่างศิลาพบการปนเปื้อนมากที่สุด

ข้อกังวลจึงพุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคอาหารทะเลซึ่งมีโอกาสได้รับสารพิษมือสอง และเกิดเป็นคำถามว่านี่อาจถึงเวลาขีดเส้นเขตอนุรักษ์ปลอดถุงพลาสติกบริเวณชายหาดอย่างเข้มงวดแล้ว

นักวิจัยร่วม 2 ประเทศ ได้ลงพื้นที่สำรวจประชากรสัตว์ที่ใช้ชีวิตตามพื้นทะเล (sessile invertebrates) ทั้งหมด 3 พื้นที่ คือ อ่างศิลา บางแสน และเกาะแสมสาร โดยเจาะจงไปที่สัตว์ทะเลตระกูลหอยที่มักเป็นวัตถุดิบหลักในเมนูอาหารทะเล อย่างหอยนางรม หอยกาบคู่ และหอยตระกูลอื่นที่อาศัยบริเวณชายฝั่ง อย่างหอยเพอริวิงเคิล (periwinkle) และเพรียง

ภายใต้สมมุติฐานว่าสัตว์ทะเลที่เปลือกแข็งและไม่มีกระดูกสันหลังเหล่านี้ คือตัวบ่งชี้ (indicator) ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการปนเปื้อนสารเคมีในทะเลได้

ผลการสำรวจถูกนำเสนอและเผยแพร่ผ่านงานวิจัยชื่อ ผลกระทบจากชิ้นส่วนไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลที่มีเปลือกแข็งบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก : ข้อเสนอต่อการสร้างเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลไทย (Effects of microplastics on sessile invertebrates in the eastern coast of Thailand : An approach to coastal zone conservation) ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือน มิ.ย.2017

งานวิจัยดังกล่าว เป็นการทำงานร่วมระหว่างคณะวิชาสัตวศาสตร์และการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร (Faculty of Animal Science and Export Agriculture) มหาวิทยาลัย Uva Wellassa ประเทศศรีลังกา กับนักวิจัยไทยจากสำนักวิชาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า อ่างศิลาคือพื้นที่พบการปนเปื้อนสารเคมีในสัตว์ทะเลตระกูลนี้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่วิจัยที่เหลือ และค่าเฉลี่ยการปนเปื้อนของสัตว์ทะเลที่มีเปลือกแข็งเหล่านี้อยู่ที่ 0.20.6 อนุภาคต่อกรัม (counts/g) นับเป็นปริมาณที่สูง และนับเป็นขนาดที่สัตว์เคลื่อนที่ช้าเหล่านี้จะดูดซับหรือกินกลืนเข้าไปจนสะสมอยู่ในตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเดินทางของสารเคมีที่เปื้อนจากเม็ดพลาสติกเหล่านี้จะไปจบลงที่ท้องมนุษย์ในที่สุด

งานวิจัยฉบับเดียวกันนี้ ยังระบุอีกว่า จากฐานข้อมูลสากลด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2013 พบว่า กว่า 89% ของขยะบริเวณชายหาดคือพลาสติก และเท่าที่นับไหวมีจะพลาสติกมากกว่า 4.5 หมื่นชิ้นต่อตารางไมล์ หรือราว 2.6 ตารางกิโลเมตร กระจายเกลื่อนชายหาดทั่วโลก

สำหรับแหล่งที่มาของขยะเหล่านั้นก็มาจากการท่องเที่ยว การทำประมง และจากอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ และเมื่อเจอกับความร้อน คลื่นลม หรือจากรังสีอัลตราไวโอเล็ต เกิดการแตกหักกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งสัดส่วนที่ถือว่าเล็กจนนับเป็นไมโครพลาสติกได้ คือมีตั้งแต่เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตรขึ้นไป บางชิ้นลอยเกยอยู่ที่ผิวน้ำและชายหาด ส่วนชิ้นที่มีอนุภาคเล็กและหนาแน่นจะจมลงสู่พื้นดิน และปล่อยสารเคมีจากพลาสติกปนเปื้อนในน้ำ เมื่อสัตว์ทะเลดูดซึมสารพิษจากพลาสติกสะสมไว้ในตัวและถูกจับไปเป็นอาหารของมนุษย์ สารพิษนั้นก็จะถ่ายทอดไปสู่ร่างกายของผู้บริโภคต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นที่หวาดวิตกของนักวิจัยทั่วโลก จนพากันออกมาชี้ถึงอันตรายว่า สัตว์ตัวเล็กๆ เหล่านี้เป็นตัวดูดซับสารเคมีที่เป็นอันตราย หากมนุษย์รับประทานและสะสมอยู่ในร่างกาย แม้จะไม่ได้ส่งผลลัพธ์เฉียบพลัน หากแต่จะค่อยๆ สะสมไปทีละน้อยจนค่อยๆ ส่งสัญญาณเตือนในที่สุด โดยจะมีผลต่อระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน หรือกลายเป็นมะเร็งได้

ที่มา: http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0025326X17304903