‘มูลฝอย’ จาก 2 มือ สู่มหาสมุทร ‘บ่อขยะ’ ‘ไมโครพลาสติก’ ปนเปื้อนโลก … ทุกชีวิตเสี่ยง

“มหาสมุทรไม่ต่างจากถังขยะขนาดมหึมาที่รองรับขยะพลาสติกประมาณ 8 ล้านตันต่อปี และตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 155 ล้านตันต่อปีภายในปี 2568” นิตยสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกอย่าง SCIENCE ILLUSTRATED ระบุไว้อย่างชัดเจนเมื่อปี 2558

แน่นอนว่าคงไม่มีใครยินดีไปกับตัวอันน่าหวาดวิตกเช่นนี้ และยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับสถิติการทิ้งขยะลงสู่ทะเลของประเทศไทยซึ่งขยับจากลำดับ 6 ของโลก ขึ้นมาติด Top Five อยู่ในลำดับที่ 5 ด้วยแล้ว ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบร่วมกันไปได้

จากข้อมูลการสร้างขยะของคนไทยพบว่ามีพฤติกรรมที่ค่อนข้างสาหัสสากรรจ์ ไม่น่าเชื่อว่าในแต่ละวันคนไทยสร้างขยะมากถึงรายละ 1.1 กิโลกรัม หรือรวมแล้วราวๆ 73,560 ตัน มีการประเมินว่าปีๆ หนึ่งคนไทยสร้างขยะรวม 27 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลถึง 7 แสน – 1 ล้านตัน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยจำนวนปริมาณขยะทะเลแบ่งรายประเภท พบว่ามี ถุงพลาสติก 14,977 ชิ้น หลอดเครื่องดื่ม 11,579 ชิ้น ฝาจุก 9,800 ชิ้น ภาชนะบรรจุอาหาร 9,276 ชิ้น เชือก 7,057 ชิ้น บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่ 6,388 ชิ้น กระป๋อง 6,276 ชิ้น กระดาษ 5,861 ชิ้น โฟม 5,614 ชิ้น และ ขวดแก้ว 2,404 ชิ้น ตามลำดับ

—– ขยะทะเล แปรเปลี่ยนสู่ ‘ไมโครพลาสติก’ —–

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 มนุษย์รู้จักการสังเคราะห์พอลิเมอร์ สารโมเลกุลขนาดใหญ่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพลาสติก เส้นใย โฟม กาว ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้น กระทั่งกลายเป็นปัจจัยหลักไม่ว่าจะเป็นการกิน นอน เดินทาง รวมถึงแต่งตัว

ในเมื่อพลาสติกล้วนเต็มไปด้วยข้อดี นำไปสู่ความต้องการทางตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตจึงเป็นไปเพื่อการสอดรับ

50 ปีให้หลังอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกเติบโตขึ้น 20 เท่าตัว มีปริมาณพลาสติกอยู่ที่ 311 ล้านตันต่อปี คาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง 600 ล้านตันต่อปี ภายใน 20 ปี ทั้งๆ ที่หลายคนคงรู้ดีว่าพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นความชอบธรรมเพื่อชะลอการผลิตพลาสติกลงไปได้

บ่อยครั้งที่ปรากฎการณ์แพขยะถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน สังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศหรือต่างประเทศ โดยที่รุนแรงและฉายภาพได้อย่างชัดเจนก็คือปรากฏการณ์ “แพขยะตะวันออก” ซึ่งเป็นแพขยะขนาดใหญ่แปซิฟิก หรือที่เรียกกันว่า “วงวนขยะแปซิฟิก” ซึ่งมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับประเทศไทย

มวลขยะมหาศาลเหล่านี้ไม่ได้จบลงที่การทำลายระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทางทะเลเท่านั้น หากแต่พลาสติกเหล่านั้นยังลอยตัวหรือจมลงสู่ท้องทะเล มีการเสื่อมสลายด้วยแสงเป็นชิ้นเล็กลงไปเรื่อยๆ ถึงระดับโมเลกุลกลายเป็น “ไมโครพลาสติก” หรือ “พลาสติกจิ๋ว”

ด้วยขนาดที่เล็กพอที่จะถูกย่อยด้วยสิ่งมีชีวิตในน้ำทะเล ส่งผลให้สะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร

—– ‘พลาสติกจิ๋ว’ … ปนเปื้อนสู่ร่างกาย ‘มนุษย์’ —–

นักวิทยาศาสตร์ให้คำจัดความของ ไมโครพลาสติก (Microplastic) คือ พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ไมโครพลาสติกถูกจัดว่าเป็นขยะชนิดหนึ่งโดยพบการแพร่กระจายของพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลหลายบริเวณ และมีรายงานปริมาณขยะพลาสติกในน้ำถึง 1 แสนชิ้นต่อลูกบาศก์เมตร

ไมโครพลาสติกสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Primary microplastic ไมโครพลาสติกที่มีการผลิตเป็นพลาสติกขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เช่น เม็ดพลาสติกที่อยู่ในโฟมทําความสะอาดผิวหน้า เครื่องสําอาง และ Secondary microplastic พลาสติกที่มีขนาดใหญ่ หรือมาโครพลาสติก เมื่อได้รับแสงอุลตร้าไวโอเลตจะมีผลทำให้เกิดการแตกหักของพลาสติก

รายงานการสำรวจและจำแนกตัวอย่างขยะทะเล ประเภทไมโครพลาสติก โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และป่าชาย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุผลกระทบจากไมโครพลาสติกต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป

รายงานระบุว่า ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กและพบการแพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางทะเลทั้งในน้ำและตะกอนดิน จึงทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลกินไมโครพลาสติกเข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร

รายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังกล่าวถึงข้อมูลในการหลายการศึกษาพบว่าแพลงก์ตอนพืช ปลิงทะเล หอยสองฝาและไส้เดือนทะเลว่า มีการกินไมโครพลาสติกทำให้มีการสะสมไมโครพลาสติกสู่ห่วงโว่อาหารระดับต้น ก่อให้เกิดการบริโภคต่อไปเรื่อยๆ การสะสมของของไมโครพลาสติกในสัตว์ส่งผลให้การเจริญเติบโตไม่เต็มประสิทธิภาพ ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ทั้งยังส่งผลกระทบไปยังสุขภาพของมนุษย์

—– เรากำลังถูกล้อมด้วย ‘ไมโครพลาสติก’ —–

เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN เล่าว่า ปัจจุบันมีพบการป่นเปื้อนของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็น น้ำประปา เกลือที่ทำมาจากน้ำทะเล เบียร์ น้ำตาล งานวิจัยระบุว่า 1 ตารางกิโลเมตร พบไมโครพลาสติก 6 หมื่นชิ้น

“ยางรถยนต์ เสื้อผ้า คือหนึ่งของแหล่งกำเนิดไมโครพลาสติก จากการเก็บข้อมูลพบว่าเป็นแหล่งทำให้เกิดไมโครพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งการแก้ปัญหาไม่ง่าย เพราะเสื้อผ้าต้องอาศัยนวัตกรรมในการดักไมโครพลาสติก ขณะที่ยางรถยนต์เสียดสีกับพื้นถนนเกิดการหลุดของไมโครพลาสติก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีนวัตกรรมในการป้องกัน” รองหัวหน้า IUCN กล่าว

อาจารย์คนเดิมเล่าต่อว่า แม้ปัจจุบันเป็นที่รับรู้ว่าไมโครพลาสติกอยู่ในห่วงโซ่อาหารมากขึ้น และมีความกังวลจะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งยังปรากฏข้อมูลการป่นเปื้อนผ่านการบริโภค อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยใดระบุผลทางลบด้านสุขภาพของมนุษย์ที่ชัดเจน แต่สำหรับสัตว์ทะเลขนาดเล็กจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ฮอร์โมน ระบบประสาทผิดปกติ

—– SDG14 ทางออกขยะทะเล – มหาสมุทรที่ยั่งยืน —–

ในการสหประชาชาติจัดงานประชุม Ocean Conference ที่นิวยอร์ก มีการพูดถึงแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเน้น SDG14-Life Below Water (การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล)

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า ผลการประชุมดังกล่าวสามารถสรุปความได้ว่าโลกจะส่งเสริมการพัฒนาและระบบเศรษฐกิจที่คิดถึงมหาสมุทรที่ยั่งยืนเพราะมหาสมุทรผลิตออกซิเจน 1 ใน 2 ของที่ใช้หายใจ พร้อมทั้งยังดูดซับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ถึง 1 ใน 3

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการตกลงร่วมกันถึงการเร่งดำเนินการในเรื่อง อาทิ เข้าใจและตั้งเป้าหมาย SDG14 ให้ชัดเจน หาแนวร่วมตั้งแต่ระดับโลกจนถึงระดับท้องถิ่น กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน ให้ครอบคลุมความสำคัญของธรรมชาติทางทะเลและศิลปวัฒนธรรม จัดทำแผนงานด้านการศึกษาเพื่อให้ความรู้กับเยาวชน

นอกจากนี้ ทุกฝ่ายยังเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องทุ่มเททรัพยากรและงบประมาณในการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลให้มากขึ้น รวมถึงเร่งดำเนินการเพื่อปกป้องและลดปัญหาจากมลพิษทางทะเล โดยเฉพาะขยะทะเลกับไมโครพลาสติก ดำเนินการระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดพลาสติกและไมโครพลาสติก ติดตามและดูแลระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอย่างเข้มงวด ยุติการทำประมงอย่างทำลายล้าง และเพิ่มความพยายามในการระดมความคิดและแนวทางเพื่อกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นั่นหมายความว่า ขณะนี้ ‘ไมโครพลาสติก’ กำลังเป็นวาระของโลก

ตอนหนึ่งจากภาพยนต์เรื่อง Meet Joe Black ระบุไว้ว่า Don’t wait till Death shows up before you start learning how to live : อย่ารอให้ความตายปรากฏตรงหน้าก่อนแล้วค่อยเรียนรู้การใช้ชีวิต

คงเปรียบได้กับมหาสมุทร … อย่าให้ถึงกับต้องรอให้ดับสูญก่อนแล้วจะกลับมาหาแนวทางฟื้นฟู