ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดี “มาบตาพุด” ปนเปื้อนมลพิษ ระบุ กก.วล.ละเลยหน้าที่เหตุประกาศเขตควบคุมมลพิษล่าช้า แต่สั่งจำหน่ายคดีเหตุประกาศไปแล้วตั้งแต่อดีต
ศาลปกครองระยอง อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2560 ในคดีที่ชาวบ้านมาบตาพุด ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) กรณีละเลยต่อหน้าที่ไม่ประกาศพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ และขอให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าหน่วยงานละเลยต่อหน้าที่จริง แต่คำขอดังกล่าวได้ปฏิบัติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อปี 2552 จึงไม่มีเหตุต้องบังคับคดีอีก สั่งจำหน่ายคดี
สำหรับคดีดังกล่าว ตัวแทนประชาชนชาวมาบตาพุดจาก 11 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม รวม 27 คน ตัดสินใจยื่นฟ้อง กก.วล. ต่อศาลปกครองระยอง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2550 โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 ให้ กก.วล.ผู้ถูกฟ้องคดี ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้ง ต.เนินพระ ต.มาบข่า ต.ทับมา อ.เมืองระยอง และ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง เป็นเขตควบคุมมลพิษ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียงเป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงสมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ประกาศ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ทาง กก.วล. ได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด โดยปฏิเสธว่ามิได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธาน กก.วล.ในขณะนั้น ได้ลงนามประกาศ กก.วล. ฉบับที่ 32/2552 เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2552 กำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียง รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขตเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว
นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า การตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ ได้มีการอ้างถึงหลักการป้องกันไว้ก่อนตามปฏิญญารีโอ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และความสำคัญของคำพิพากษาในวันนี้คือการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ที่ยืนยันว่ามีปัญหาการปนเปื้อนมลพิษที่รุนแรงอยู่ในพื้นที่จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลในยุคนั้นไม่ค่อยจะยอมรับกันเท่าใดนัก
“อีกสิ่งที่เราได้เห็นคือคดีผ่านมาแล้ว 10 ปี ผู้ฟ้องคดีป่วยเสียชีวิตไปแล้ว 4 คน แต่ที่ชาวบ้านพูดคือแม้จะมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว แต่ปัญหาในพื้นที่ยังคงเหมือนเดิม สิ่งที่ต้องตั้งคำถามหลังจากนี้คือ แม้ศาลจะยืนยันแล้ว มีการประกาศเขตแล้ว แต่เหตุใดปัญหายังไม่ได้รับการแก้ แล้วถ้ายังไม่แก้มันควรจะมีมาตรการอื่นใดที่จะดำเนินการในพื้นที่อีกบ้าง” นายสุรชัย กล่าว
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า จากคดีดังกล่าวรัฐบาลจำเป็นจะต้องทบทวนแผนการหรือนโยบายต่างๆ เช่น การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งภาคประชาชนได้มีการเรียกร้องเนื่องจากปัญหาเดิมยังไม่ถูกแก้ แต่พยายามผลักดันสิ่งใหม่โดยไม่ได้ดูว่าจะซ้ำเติมปัญหาเดิมหรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ทางเครือข่ายภาคประชาชนจะมีการพูดคุยกันถึงกรณีดังกล่าว ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการอย่างไร รวมไปถึงกฎหมายอีอีซีใหม่ที่จะออกมา