นักวิชาการ TDRI ชี้นโยบาย EEC มอบสิทธิประโยชน์นักลงทุนสูง ดึงดูดได้บ้างแต่ประสิทธิผลจำกัด-ต้นทุนสูง เว้นภาษีนิติบุคคล-บุคคลธรรมดา เช่าที่เกิน 100 ไร่ 99 ปี นานสุดในอาเซียน
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในเวทีเสวนา “เช็คเครื่องยนต์ EEC พร้อมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0?” จัดโดย TDRI เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2560 ตอนหนึ่งว่า 1 ใน 3 เสาหลักของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คือการให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย นับว่ามีการให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนสูงมาก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นไทยแลนด์แกรนด์เซลล์ ซึ่งอาจดึงดูดการลงทุนได้บ้าง แต่กลับมีต้นทุนที่สูงมากและประสิทธิผลจำกัด
ขณะที่อีกเสาหลักหนึ่งคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในส่วนของสนามบินอู่ตะเภา รถไฟรางคู่ และมอเตอร์เวย์ คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจริงได้ไม่ยากและได้รับการพัฒนาตามแผนที่วางไว้ แต่ส่วนของรถไฟความเร็วสูง สมาร์ทซิตี้ และมหาวิทยาลัยระดับโลก เชื่อว่าคงจะเกิดขึ้นไม่ง่ายและคงเป็นความท้าทาย ซึ่งรัฐบาลควรลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างรอบคอบ โดยเลือกเฉพาะโครงการที่คุ้มค่า และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
สำหรับเสาหลักสุดท้ายคือการอำนวยความสะดวกการลงทุน ที่รัฐบาลมุ่งปลดล็อกปัญหาด้านกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการให้บริการของภาครัฐที่ติดขัด ขาดความเป็นเอกภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาในส่วนนี้นับเป็นความท้าทายว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่ถ้าทำได้ก็ควรมีการถอดบทเรียนจาก EEC มาปรับใช้และขยายผลทั่วประเทศ ทั้งการปฏิรูปกฎระเบียบของรัฐ และการให้บริการประชาชนอย่างครบวงจร
“อย่างไรก็ตาม EEC นั้นเป็นโครงการเพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ที่มาถูกทาง แก้ไขข้อผิดพลาดของหลายนโยบายก่อนหน้านี้ที่ไม่ประสบความสำเร็จและไม่ตอบโจทย์ เพราะมีโอกาสต่อยอดความสำเร็จจากสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้าอย่างโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่ยังมีจุดอ่อนคือให้ความสำคัญกับมิติด้านเทคโนโลยีไม่มากเท่าที่ควร” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เชื่อว่าการลงทุนส่วนใหญ่ที่เกิดในอุตสาหกรรม S-Curve เดิม คือบริษัทที่ทำธุรกิจอยู๋แล้วมีการลงทุนเพิ่ม ส่วนอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ ดาวเด่นจะเป็นอุตสาหกรรมการบินและการขนส่ง อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทายสำคัญ 2 เรื่อง คือ การขาดแคลนน้ำ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาอยู่เป็นระยะ โดยคาดว่าจะมีปัญหาชัดขึ้นภายในสิบปี อีกส่วนคือการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ซึ่งจะมีผลเร็วกว่า
น.ส.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส TDRI กล่าวว่า หัวใจหลักของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคือสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีความสำคัญเพราะจะช่วยกระตุ้นทั้งอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว สุขภาพ การบิน การขนส่ง และจะเกิดขึ้นได้จริงเพราะเป็นพื้นที่ราชการทั้งหมด ไม่มีปัญหาเรื่องรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่วนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันคือยังมีการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อยู่ เพราะจะมีการถมทะเลที่ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ส่วนท่าเรือสัตหีบ ที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ จะมีความท้าทายเนื่องจากกองทัพเรือขาดความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการท่าเรือพาณิชย์
สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ เชื่อมโยง 3 ท่าเรือ และมอเตอร์เวย์ส่วนพัทยา-มาบตาพุด ที่จะลดความแออัดของการจราจร คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้และไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นส่วนต่อขยาย ส่วนรถไฟความเร็วสูง ที่จะเชื่อมโยงกับ 3 สนามบิน เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากลักษณะการลงทุนที่รัฐบาลประกาศให้เป็นโครงการ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนรับความเสี่ยงทั้งหมด ทำให้หาผู้สนใจลงทุนได้ยาก และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ขาดประสบการณ์ในการทำโครงการ PPP
น.ส.เสาวรัจ กล่าวว่า ในส่วนสิทธิประโยชน์พบว่ามีการให้อย่างเต็มเปี่ยมทั้งที่เป็นด้านภาษีและที่ไม่ใช่ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากถึง 15 ปี แล้วแต่การประกอบกิจการ ซึ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยนั้นต่ำที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว และการดึงดูดนักลงทุนด้วยภาษีทำให้รัฐเสียรายได้ 2.2 แสนล้านบาทในปี 2559 อย่างไรก็ตามสิทธิที่จะได้เพิ่มเติมใน EEC ที่ไม่เคยมีมาก่อน คือการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงไม่ผิดนักที่จะเรียกได้ว่าไทยแลนด์แกรนด์เซลล์
น.ส.เสาวรัจ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังอัดฉีดสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอีกมาก เช่น การเช่าที่ดินที่มีการยกเว้นให้สามารถเช่าได้มากกว่า 100 ไร่ สามารถทำธุรกรรมด้วยเงินตราต่างประเทศได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และระยะเวลาการให้เช่าที่ดิน 99 ปี อยู่ในกลุ่มนานที่สุดในอาเซียน รวมถึงการอนุมัติหรือออกใบอนุญาตต่างๆ ดำเนินการได้โดยเลขาธิการ EEC แทนที่จะต้องไปขอจากแต่ละสภาวิชาชีพ และข้อบังคับอื่นๆ เช่น EIA ที่ต้องเห็นชอบรายงานภายใน 1 ปี หรือการขึ้นทะเบียนสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และอื่นๆ หากคณะกรรมการนโยบายเห็นว่าสิ่งใดล่าช้า อาจเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบที่มีปัญหาได้
ขณะที่ นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ความจริงแล้วตลอดระยะเวลาของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ไม่ใช่ว่าไม่เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยี แต่ว่ามันไม่เพียงพอที่จะยกระดับประเทศ ดังนั้นการมาสร้างหนังต่อภาคสอง จะทำอย่างไรให้ประโยชน์สามารถส่งผลไปสู่ที่อื่นๆ ในภาพรวมของประเทศ หรือแม้แต่คนในพื้นที่ที่ยังไม่เห็นว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างไร
นายเดชรัต กล่าวว่า อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญคือเรื่องความไว้วางใจ ที่มีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเกินไป ซึ่งหากย้อนไปตอนเริ่มทำโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ระดับความไว้วางใจของพี่น้องประชาชนต่อรัฐบาลนั้นลดหายลงไปมากจากปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของ EEC แม้จะบอกว่ามีการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีข้อกำหนดใดๆ ที่มีรายละเอียดเป็นรูปธรรมชัดเจน