“แมงกะพรุนที่ลอยน้ำมีลักษณะคล้ายกับถุงพลาสติก ลองเทียบดูว่าถ้าเกิดปล่อยให้ถุงพลาสติกลอยน้ำ โอกาสที่เต่าทะเลจะกลืนกินเข้าไปมีสูงมากขนาดไหน ลำพังมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่มีการมองเห็น มีพัฒนาการสมองสูง บางครั้งยังแยกไม่ออกเลยว่าอันไหนแมงกะพรุนอันไหนถุงพลาสติก ทุกวันนี้เลยพบสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวนมาก และเมื่อผ่าพิสูจน์ก็จะพบว่ามีพลาสติกอยู่ในท้อง โดยเฉพาะกับเต่า”
นัท สุมนเตมีย์ กลุ่มช่างภาพ 10FOTOS บอกเล่าผ่านวงเสวนา “ข้างหลังภาพถ่ายสิ่งแวดล้อม” ภายในงาน “เมื่อปลาจะกินดาว สิ่งแวดล้อม 4.0 ยุทธศาสตร์ชาตินี้หรือชาติหน้า” ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2560
พร้อมๆ กับคำอธิบาย ภาพของเต่าทะเลที่กำลังกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร และภาพของถุงพลาสติกที่ล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทร ถูกฉายขึ้นในจอแอลซีดี
ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามกับผู้ร่วมงาน สิ่งไหนคือแมงกะพรุน สิ่งไหนคือถุงพลาสติก
ไม่น่าเชื่อว่า คำตอบแบ่งแยกเป็นสองทางอย่างชัดเจน
—– วิวัฒนาการเต่า 150 ล้านปี ไม่เคยรู้จักถุงพลาสติก —–
ธรณ์ ธำรงนาวาศักดิ์ นักสมุทรศาสตร์ชื่อดัง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า ในแต่ละปีมีเต่าทะเลตายประมาณ 150 ตัว โดย 40% ของการตายทั่วทั้งประเทศนั้นมีสาเหตุมาจากขยะทะเลโดยตรง
อาจารย์ธรณ์ อธิบายว่า อาหารตามธรรมชาติของเต่าทะเลคือแมงกะพรุน เต่าทะเลจึงมักเข้าใจผิดว่าถุงพลาสติกคือแมงกะพรุนจึงกินเข้าไป ถุงเหล่านั้นก็จะเข้าไปติดอยู่ในท้องและทำให้เสียชีวิต เช่นเดียวกับคนถ้ากินถุงพลาสติกเข้าไปก็ไม่สามารถย่อยได้เหมือนกัน
“เต่ามีการวิวัฒนาการมา 150 ล้านปี แต่ไม่เคยรู้จักถุงพลาสติก อะไรขาวๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำคือแมงกะพรุนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าหากจะให้เต่าเรียนรู้และรู้จักถุงพลาสติกคงรออีกสัก 100 ล้านปี” นักวิชาการรายนี้ ระบุ
เขา ยกตัวอย่างโดยการเทียบเคียงกรณีของประเทศทวีปยุโรปอย่าง นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ว่าคนเหล่านี้ใช้ถุงพลาสติกเดือนละ 3 ใบ หากตัวเลขในประเทศไทยอยู่เช่นนี้จะตอบได้ทันทีว่าจะลดอัตราการตายของเต่าทะเลลงได้ภายในปีหน้า แต่เมื่อประเทศไทยมีการใช้ถุงพลาสติก 8 ใบต่อวันต่อคน ก็ต้องบอกว่าประมาณ 20 ปี อัตราการตายของเต่าจะลดลง
—– ‘สัตว์ทะเล’ คายอาหารไม่เป็น —–
นอกจากความไม่รู้ตามประสบการณ์ร่วมของ “เต่าทะเล” ซึ่งนำมาสู่ความสูญเสียแล้ว ยังพบว่าพฤติกรรมและกายภาพของเต่าและสัตว์ทะเลอื่นๆ เปราะบางและยิ่งเสี่ยงต่อภัยคุกคามเหล่านี้
สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า แน่นอนว่าสัตว์ทะเลอยู่แต่ในทะเลจึงไม่เคยเห็นพลาสติก สัญชาตญาณของสัตว์ทะเลจึงคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอาหาร
สำหรับเต่าที่ไม่ใช่สัตว์ที่สายตาดี ความสามารถในการมองเห็นมีจำกัด เต่าจะเห็นคลับคล้ายคลับคลาว่านั่นคือแมงกะพรุนที่เคยกินอยู่เป็นประจำ บางครั้งเมื่อแยกแยะไม่ออกว่าเป็นอะไรก็ลองกินดู ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเต่าเท่านั้น แต่ยังมี โลมา ฉลาม และสัตว์อื่นๆ ที่กินเข้าไปและเสียชีวิตด้วย
สัตวแพทย์รายนี้ อธิบายต่อไปว่า สัตว์เหล่านี้จะไม่สามารถขย้อนคายอาหารที่กินเข้าไปได้ เมื่อกินเข้าไปแล้วพบว่าเป็นสิ่งผิดปกติก็จะกินต่อให้หมด เพราะการคายมีความยากและลำบาก โดยปกติสัตว์เหล่านี้จะใช้ลำไส้ย่อย ถุงพลาสติกก็จะเข้าไปพันอยู่ในนั้น
“เราพบสัตว์ทะเลที่ตายจากขยะทะเลเยอะมาก บางตัวเวลาผ่าซากพบพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหาร ทางเดินอาหาร เพราะเมื่อสัตว์กินขยะเข้าไปจนลงถึงกระเพาะยังเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ แต่เมื่อเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่พื้นที่จะเล็กลง จึงเจออุดตันบ่อยบริเวณรอยต่อของกระเพาะกับลำไส้” อาจารย์นันทริกา ให้ภาพเพิ่มเติม
เธอ ระบุว่า การช่วยกันลดขยะทะเลรวมทั้งลดขยะบกคือทางออกของปัญหานี้ เพราะขยะเหล่านั้นจะไหลสู่แม่น้ำและลงทะเล ดังนั้นความรู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องกระตุ้นเยอะๆ

—– เปิดตัวเลข ‘ขยะพลาสติก’ ฆาตกรรมเต่า —–
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เก็บสถิติสัดส่วนของขยะตามชายหาด ระหว่างปี 2552-2558 พบว่าสัดส่วนของถุงพลาสติกมีมากถึง 16% นับเป็นเป็นอันดับ 1 ของประเภทขยะทั้งหมด
มากไปกว่านั้น ยังพบอีกว่า “ขยะทะเล” คือวายร้ายอันดับที่ 2 ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลขึ้นมาเกยตื้น รองจากเครื่องมือประมง
งานวิจัยของ ทช. ยืนยันว่า “ขยะทะเล” ซึ่งในที่นี้หมายถึงพลาสติกนั้น นอกจากจะพรากชีวิตสัตว์ด้วยการเป็นอาหารที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้สัตว์น้อยใหญ่กลืนเข้าไปและเกิดการอุดตันในระบบทางเดินอาหาร ทรมาน และขาดใจตายในที่สุดแล้ว ยังได้บีบรัดพันธนาการร่างกายจนสัตว์ได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ พิการ และถึงแก่ชีวิตด้วยเช่นกัน
หากว่ากันเฉพาะ “สถานการณ์เต่า” ซึ่งได้รับผลพวงจากถุงพลาสติกโดยตรง พบว่าขณะนี้ประชากรลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ข้อมูลจาก ทช.ชี้ว่า เมื่อปี 2483 พบจำนวนรังไข่เต่าทะเลมากถึง 2,500 รัง/ปี ผ่านไป 77 ปี ทั้งภัยคุกคามจากการสัมปทานไข่เต่าทะเล การเพิ่มขึ้นของเครื่องมืออวนลาก และการล่าจับเต่าทะเลเพื่อการส่งออก ปัจจุบันพบรังไข่เต่าทะเลเพียงปีละ 300-400 รังเท่านั้น และแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
—– ทช.ล้อมคอก เหตุขยะทะเล 80% มาจากบนบก —–
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา แน่นอนว่ามุมหนึ่งคือการลดปริมาณขยะ และปลูกจิตสำนึกของมนุษย์ในฐานะผู้ก่อให้เกิดปัญหาโดยตรง แต่หากพูดกันในเชิงนโยบาย ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดี ทช. ให้ภาพว่า ทช.ได้ออกแนวปฏิบัติเพื่อลดขยะพลาสติกในพื้นที่ทะเล
ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ข้อ ได้แก่ 1.กำจัดขยะตกค้างในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน คือ จัดเก็บ คัดแยก และ จัดการ 2.ทำความตกลงร่วมกับชุมชนในการทดลองใช้มาตรการลดขยะพลลาสติกลงทะเลไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวทางทะเล ชุมชนชายฝั่ง และชุมชนประมง
รองอธิบดี ทช.รายนี้ บอกอีกว่า ใน 100% ของขยะทะเล แบ่งเป็น ขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยวเพียง 20% ส่วนอีก 80% เป็นขยะที่เกิดขึ้นจากบนบก แล้วไหลมาตามแม่น้ำ ลำคลอง ลงสู่ทะเล
“ทช.ให้ความสำคัญกับการดูแลขยะทะเลเป็นกรณีพิเศษ งานที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายฝั่ง มีการประชาสัมพันธ์ให้ช่วยกันเก็บขยะ ไม่ทิ้งขยะลงทะเล” ศักดิ์ดา ระบุ
ทั้งหมดนี้ สามารถสรุปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาใน 1 บรรทัดได้ว่า ควรลดการใช้ถุงพลาสติกที่เกินความจำเป็น และช่วยกันทิ้งขยะกันให้เป็นที่เป็นทาง