เชื่อหรือไม่ว่า เราอาจกำลังกิน ‘เม็ดพลาสติก’ อยู่ทุกวัน
เราบริโภคเม็ดพลาสติกผ่านสคลับในโฟมล้างหน้า ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ครีมกันแดด โลชั่น และผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ขัดทำความสะอาดใบหน้าอื่นๆ และเรายังรับเม็ดพลาสติกเหล่านี้ผ่านทางอาหารทะเลที่เรากินกันแทบจะทุกมื้อด้วย
เม็ดพลาสติกพวกนี้คือ ‘ไมโครเม็ดบีดส์’ (Microbeads) หรือที่เราเรียกให้สั้นว่า ‘เม็ดบีดส์’ คือพลาสติกประเภทโพลีเอทิลีนขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร หรือเกือบเท่ากับเม็ดทรายหนึ่ง
ด้วยขนาดที่เล็กจิ๋ว นั่นคือความร้ายกาจของมัน
ด้วยขนาดที่เล็กเกือบเท่าเม็ดทราย ทำให้เม็ดบีดส์สามารถรอดทะลุผ่านตัวกรองทุกชนิด ผ่านตะแกรงท่อระบายน้ำ ผ่านขั้นตอนบำบัดน้ำเสียของทุกหน่วยงาน และไหลไปรวมกันอยู่ที่แม่น้ำ ท้องทะเล มหาสมุทร
ร้ายไปกว่านั้นก็คือ มันจะไหลลงไปรวมตัวกันที่ The Great Lakes กลุ่มทะเลสาบน้ำจืดที่สะอาดและมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ สุพีเรีย มิชิแกน ฮูรอน อิรี และออนแทรีโอ ในเขตทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนวัตกรรมอะไรมาชำระล้างมันออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ได้เลย
—– แล้วมันอันตรายอย่างไร เกี่ยวอะไรกับเรา? —–
เม็ดพลาสติกพวกนี้ แน่นอนว่าย่อมมีสารพิษในตัวเอง แต่เมื่อลงไปอยู่ในแม่น้ำหรือทะเลต่างๆ มันจะทำหน้าที่ดูดซับสารพิษต่างๆ อีกชั้นหนึ่งด้วย
สัตว์ทะเล เช่น ปลา อาจจะมองว่าเม็ดพลาสติกเหล่านี้เป็นไข่ปลาและกินเข้าไป เกิดการติดเชื้อ และมีสารบางตัวทำให้ปลาเหล่านี้เป็นหมัน นอกจากนั้นเม็ดบีดส์พวกนี้ยังทำหน้าที่คล้ายพาหะ พาสารพิษต่างๆ จากแหล่งน้ำกลับเข้าสู่ตัวคนผ่านการกิน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่อาศัยในแหล่งน้ำที่มีเม็ดบีดส์
ในวิจัยและรายงานข่าวหลายๆ ชิ้นยืนยันข้อมูลตรงกันว่า 1 ใน 4 ของปลาทั้งน่านน้ำในประเทศแถบเอเชียตะวันตกมีเม็ดพลาสติกเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่
เชอร์รี่ เมสัน ผู้ศึกษาด้านไมโครบีดส์ที่ State University of New York at Fredonia ให้ข้อมูลว่าเฉพาะนิวยอร์กแค่รัฐเดียวได้ปล่อยไมโครบีดส์ลงทะเลกว่า 19 ตัน/ปี ลงสู่แม่น้ำ
ขณะที่วิจัยอีกชิ้นพูดถึงสถิติของเม็ดบีดส์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศอังกฤษประเมินว่า มีเม็ดบีดส์ราว 16-86 ตัน ลอยอยู่ในทะเล
—– ‘โลก’ ล้อมคอกคุมเข้มไมโครบีดส์ —–
อย่างไรก็ตาม ต่อให้ผู้บริโภคจะตระหนักประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตัวเองแค่ไหน แต่หากสินค้าที่มีส่วนผสมของเจ้าวายร้ายนี้ยังวางขายอยู่ ก็มีโอกาสที่เราต้องหยิบจับหรือซื้อหามาใช้แน่ๆ
นั่นเป็นเหตุผลให้หลายๆ ประเทศในโลกหันมาออกกฎหมายห้ามอุตสาหกรรมเครื่องสำอางใช้ไมโครบีดส์เป็นส่วนผสม ด้วยถือว่ามีส่วนผสมอื่นๆ ที่ใช้ทดแทนได้ เช่น ส่วนผสมจากธรรมชาติได้แก่ อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ตบดหยาบ เกลือทะเล ขุยมะพร้าว และนั่นทำให้เครื่องสำอางแบรนด์ดังหลายๆ แบรนด์ ยึดเรื่องนี้และพัฒนาสินค้าที่ทำจากส่วนผสมทางธรรมชาติเป็นจุดขายต่อไป เช่น L’Oreal หรือสินค้าในเครือ Unilever, Colgate-Palmolive และ P&G
เริ่มต้นครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางการในปี 2012 เมื่อ the North Sea Foundation และ the Plastic Soup Foundation launched สององค์กรร่วมมือกันสร้างแอพพลิเคชันเพื่อให้ผู้บริโภค #ชาวดัชต์ ตรวจสอบได้เองว่า สินค้าดังกล่าวมีส่วนผสมเป็นเม็ดบีดส์หรือไม่
แอพลิเคชันนี้ก็ได้รับการตอบรับอย่างมากกระทั่งได้รับการพัฒนาแอพพลิเคชันให้ใช้ได้ถึง 7 ภาษา
กระทั่งในปี 2015 #สหรัฐอเมริกา บางรัฐได้ออกกฎหมายห้ามใช้ไมโครบีดส์บางชนิด โดยออกเป็นพระราชบัญญัติและจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2018 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ เดือน พ.ค.2015 #แคนาดา ได้ประกาศกฎหมายแบนไมโครบีดส์เช่นกัน โดยมีรัฐออนตาริโอเป็นผู้นำการใช้กฎหมายนี้
เดือน พ.ย. 2016 #ไอร์แลนด์ เป็นประเทศต่อมามีที่กฎหมายนี้ โดยจะมีผลบังคับใช้จริงในปี 2017
ในปลายปี 2016 #เนเธอร์แลนด์ ก็ประกาศห้ามใช้ไมโครบีดส์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเช่นนั้น
ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค.2017 รัฐบาลอังกฤษประกาศกฎหมายห้ามอุตสาหกรรมเครื่องสำอางใช้ไมโครบีดส์บางชนิดเช่นกัน นั่นนำมาซึ่งเสียงร้องเรียนจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศว่าขอให้ยกเว้นสินค้าบางชนิด เช่น เครื่องสำอาง และครีมกันแดดไว้ ด้วยเหตุผลว่า การจะปรับเปลี่ยนสูตรและวิธีการผลิตจะต้องใช้เงินมหาศาล และหากรัฐบาลอังกฤษให้เวลาไม่เพียงพอในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง ก็อาจก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลจากการทิ้งเครื่องสำอาง ซึ่งนั่นจะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกประการหนึ่ง
ทว่ารัฐบาล นักวิชาการต่างๆ รวมทั้งแบรนด์สินค้าบางประเภทได้ออกมาสนับสนุนมาตรการแบนไมโครบีดส์ต่อไป ด้วยมีเหตุผลส่วนหนึ่งชี้ว่า ไมโครบีดส์มีส่วนผสมอื่นใช้ทดแทน แต่อันตรายไมโครบีดส์ไม่อาจรอเวลาได้
ที่มา:
http://www.independent.co.uk/environment/microbeads-ban-bill-uk-cosmetic-products-government-outlaws-microplastics-a7852346.html
http://www.independent.co.uk/news/science/plastic-microbeads-ban-considered-damning-environmental-report-a7065666.html
http://www.beatthemicrobead.org/results-so-far