เมื่อมนุษย์เปลี่ยนมหาสมุทรเป็น ‘บ่อขยะ’ การสังหารหมู่ล้างเผ่าพันธุ์ก็เกิดขึ้น

“ไม่มีวาฬตัวไหนอยากกินพลาสติก” เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN บอกกับเราและผู้คนมากมายผ่านเวทีงาน จากป่าสู่เมือง บันทึกหยุดเขื่อนน้ำโจน (รำลึก 27 ปี สืบ นาคะเสถียร) พร้อมฉายภาพซากวาฬขนาดใหญ่เกยตื้นบนชายหาด

เขาเชื่อมโยงต่อว่า ทุกๆ ปี เต่าทะเล นกทะเล วาฬ โลมา นับแสนตัวต้องตายจากขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการที่กลืนกินเข้าไปอย่างเช่น เต่าทะเลที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นขยะหรือว่าเหยื่อ การเข้าไปติดกับเครื่องมือประมงต่างๆ รวมทั้งการปกคลุมทำลายปะการังซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ

หากถามว่าปัญหาเหล่านั้นอยู่ตรงไหน หลายคนคงตอบว่าอยู่ที่กระบวนการการจัดเก็บ หากมีพฤติกรรมการทิ้งขยะให้ลงถัง ปัญหาต่างๆ ก็จะจบลง แต่นั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จริงๆ แล้วปัญหากลับอยู่ที่การบริโภค การเพิ่มขึ้นของจำนวนพลาสติก

—– ขยะ ‘พลาสติก’ ล้นทะลักมหาสมุทร —–

ในยุคสมัยหนึ่งมนุษย์สามารถดำรงอยู่บนโลกโดยไม่จำเป็นต้องใช้พลาสติก ทว่าปัจจุบันพลาสติกกลับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกเติบโตขึ้นถึง 20 เท่าตัว ส่งผลให้มีปริมาณพลาสติกอยู่ที่ 311 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง 600 ล้านตันต่อปี ภายใน 20 ปีข้างหน้า

คำถามต่อมาพลาสติกมากมายเหล่านี้ไปไหน ?

การย่อยสลายของพลาสติกเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลายาวนาน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการผลิตพลาสติกจนถึงปัจจุบันมีการผลิตพลาสติกไปแล้ว 8,300 ล้านตัน หากเปรียบเทียบกับนำหนักกับสิ่งมีชีวิตจะเท่ากับช้างจำนวน 1,000 ล้านตัว หรือวาฬสีน้ำเงิน 80 ล้านตัว นับเป็นปริมาณที่มากมายมหาศาล

แม้ว่า 9% ของพลาสติกที่เคยผลิตออกมาจะถูกนำไปรีไซเคิลแต่ก็ยังนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ทุกปีมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันที่ไม่ได้รับการจัดเก็บอย่างถูกวิธี และพัดลงสู่ทะเล ซึ่งเท่ากับว่ามีรถขนขยะเทขยะพลาสติกลงสู่ทะเลวันละ 1,440 คัน

ปัจจุบันพบว่ามีพลาสติกลอยอยู่ในมหาสมุทรมากกว่า 5.25 ล้านล้านชิ้น รวมน้ำหนักราว 269,000 ตัน ไม่รวมไมโครพลาสติกอีก 4,000 ล้านชิ้นต่อหนึ่งตารางกิโลเมตรที่ทับถมอยู่ก้นทะเล ไมโครพลาสติกเหล่านั้นถูกดูดซับสารพิษต่างๆ เมื่อถูกสิ่งมีชีวิตกินเข้าไปก็จะถูกส่งต่อผ่านห่วงโซ่อาหารมายังมนุษย์

—– 5 ชาติ ผนึกกำลังสร้างขยะท่วมทะเล —–

ข้อมูลจากรายงานของ Ocean Conservancy ระบุว่า 5 ประเทศที่มีการผลิตขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดก็คือ ประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย การผลิตขยะในที่นี้หมายถึงการไม่มีระบบจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้มีขยะลงสู่ทะเล

รายงานดังกล่าว ยังระบุอีกว่า หากมีการแก้ไขปัญหาทั้ง 5 ประเทศได้ จะทำให้สามารถลดขยะทะเลทั่วโลกได้กว่าครึ่ง เพราะ 60% ของขยะทะเลทั่วโลกมาจากประเทศเหล่านี้

ขณะเดียวกันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุสัดส่วนขยะในชายหาดว่า ข้อมูลระหว่างปี 2552-2558 พบ ถุงพลาสติก 16% ฝา หรือ จุก 10% เชือก 8% หลอด 7% กระดาษ 6% บุหรี่ ขวดแก้ว 5% จาน ซ้อน มีด ภาชนะบรรจุอาหาร 4% และขยะอื่นๆ อีก 35%

เชื่อว่าประมาณ 75% ของขยะในทะเลที่มาจากบนบกทั้งหมด มีต้นกำเกิดจากแม่น้ำเพียง 10 สายเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำสายหลักที่อยู่ในทวีปเอเชีย ทำให้อ่าวไทยมีปริมาณขยะที่มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลเฉลี่ยรายชั่งโมงละประมาณ 600 กิโลกรัม

แหล่งที่มาของขยะทะเลแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมใหญ่ๆ คือ 80% มากจากกิจกรรมบนฝั่ง ได้แก่ ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ การท่องเที่ยวชายหาด และอีก 20% จากกิจกรรมในทะเล ได้แก่ การขนส่งทางทะเล การประมง การท่องเที่ยวทางทะเล

จำนวน 23 จังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับชายฝั่งทะเลไม่ว่าจะเป็น ฝั่งอันดามัน หรือฝั่งอ่าวไทย มีปริมาณขยะมากถึง 10 ล้านตัน ครึ่งหนึ่งของจำนวนขยะทั้งหมดไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ทำให้ขยะเหล่านั้นถูกชะ พัดพาลงทะเล และกลายเป็นขยะทะเลในที่สุด อย่างกรณีการพบแพขยะยาวกว่า 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2560 บริเวณ อ.ปะทิว จ.ชุมพร

—– ลดสร้างขยะที่เกินความจำเป็น —–

การแก้ไขปัญหาขยะทะเลเหล่านั้นถูกพูดถึงและได้รับการบรรจุอยู่ในนโยบายของภาครัฐมากมาย พร้อมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ความตกลงปารีส แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่สอดรับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในลักษณะของการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ระยะยาวลงสู่การปฏิบัติในช่วงเวลา 5 ปี

“เราจะใช้งบประมาณแสนล้านก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรไม่ได้ เราจะใช้ ม.44 สั่งห้ามคนทิ้งขยะทะเลก็ไม่จำเป็น เพราะมีกฎหมายอื่นอยู่เยอะแยะมากมายแล้ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือการมีส่วนร่วม หาแนวทางร่วมมือกันในการเดินทางไปข้างหน้า” ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลชื่อดัง ให้ความเห็น

ผู้เชี่ยวรายนี้กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้อาจจะต้องการกฎหมายใหม่ เพื่อให้เอื้อต่อการให้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหา และระเบียบการดำเนินการรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันส่วนตัวมองว่าในเรื่องของการจัดการขยะทะเลเป็นเรื่องของพวกเราทั้งหมด เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องทำร่วมกัน

ถึงแม้เราจะไม่สามารถช่วยลดปริมาณขยะทะเลที่เกิดในขณะนี้ได้ แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันของเราเพื่อให้พลาสติก และปริมาณขยะลดลงอย่างต่อเนื่อง นั่นยังหมายถึงการรักษาสมดุลขงระบบนิเวศให้คงอยู่สืบต่อไป

พฤติกรรมง่ายๆ ที่เราสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างเช่นการพกภาชนะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าผ้า กระป๋องน้ำ แก้วกาแฟ ภาชนะสำหรับใส่อาหารรวมถึงอุปกรณ์ที่ช่วยในการรับประทาน เช่น ซ้อน ส้อม ตะเกียบ หลอด หรือจะเป็นการเดินเข้าร้านสะดวกซื้อและปฏิเสธการรับถุงพลาสติก

ในเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา การแก้ไขปัญหาก็ควรจะนับหนึ่งที่เรา