ยกระดับ ‘น้ำพุร้อน’ เป็นแหล่งพลังงานทดแทน ทส.ผนึกหน่วยงานทำแผน – นำร่อง 3 อุทยาน

กรมทรัพยากรน้ำฯ จับมือ กรมอุทยานฯ ลงนาม MOU พัฒนาระบบนิเวศแหล่งน้ำภายในพื้นที่เขตป่า สูบน้ำบาดาลเติมผิวดิน นำร่อง 4 พื้นที่ ผุดแผนยกระดับน้ำพุร้อนให้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน 3 อุทยาน

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาน้ำบาดาล เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2560 โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส.เป็นประธาน

สำหรับขอบเขตความร่วมมือดังกล่าวมีด้วยกัน 3 ประเด็น โดยหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพด้วยการสำรวจจัดหาหรือปรับปรุงแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่มีอยู่ รวมถึงร่วมกันคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในเขตป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ

ทั้งนี้ จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อน และจัดตั้งเป็นโรงงานไฟฟ้าต้นแบบขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้แก่คนในชุมชนนำร่องในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว

นอกจากนี้ ความร่วมมือในอีก 2 ประเด็น ได้แก่ 1.กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมอุทยานฯ จะร่วมมือดำเนินกิจกรรมพัฒนาระบบนิเวศแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารของพื้นที่โครงการ รวมถึงการศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อรักษาระบบนิเวศ และสัตว์ป่าในเขตพื้นที่ความดูแลของอุทยานแห่งชาติทั้ง 4 แห่ง

2.สำรวจพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อรักษาระบบนิเวศและสปาและเพื่อเป็นการป้องกันระงับปัญหาไฟป่าในช่วงฤดูแล้งบริเวณปากมดลูกแดง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจังหวัดนราธิวาส

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า การพัฒนาน้ำพุร้อนมาใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนให้แก่โรงผลิตไฟฟ้า โรงอบแห้ง ตลอดจนสปาน้ำแร่ธรรมชาติ จะเป็นการสร้างพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นการสร้างแรงงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ทำให้พื้นที่ที่เป็นพื้นป่านั้นเริ่มเสื่อมโทรมลง เป็นเหตุให้สัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ช้าง กระทิง เสือ ออกมาหากินบริเวณรอบพื้นที่ป่าสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกได้รับความเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ทส.ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอุทยานฯ ร่วมกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ การฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาเติมให้แก่ผิวดิน เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำให้กับสัตว์ป่า และเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวดิน โดยเริ่มจากอุทยานแห่งชาติ 4 แห่งคือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา รวมไปถึงการให้ความสำคัญในพื้นที่ที่พบปัญหาไฟป่า เช่น เขตอนุรักษ์พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำจะดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อสูบและกระจายน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และน้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาจะถูกส่งต่อผ่านท่อลงไปยังแอ่งกระทะที่กรมอุทยานฯ จัดเตรียมเอาไว้สำหรับน้ำบาดาลส่วนเกินจะล้นและไหลไปเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ระบบนิเวศโดยรอบ ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ทำให้สัตว์ป่าที่เคยออกไปหากินนอกพื้นที่ได้กลับเข้าไปอาศัยยังตั้งเดิมชาวบ้านบริเวณโดยรอบก็จะไม่มีปัญหาขัดแย้งกับกฎหมายต่อไป