มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 ส่งผลต่อการประกอบกิจการของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส อย่างรุนแรง แม้ว่าบริษัทอัคราฯ เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ชาตรี จ.พิจิตร จะได้รับประโยชน์จากการต่ออายุโรงประกอบโลหะกรรมถึงปลายปี 2559 ก็ตาม
นั่นเพราะ 1 ในมติของ ครม.ได้ระบุเอาไว้ว่า ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องดำเนินการ “ฟื้นฟู” พื้นที่ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ
อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิพากษ์ว่า การดำเนินมาตรการฟื้นฟูตามที่ได้กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) นั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นปัญหาในการปิดเหมืองของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหมืองตะกั่วคลิตี้ จ.กาญจนบุรี หรือเหมือง ต.แม่ตาว จ.ตาก
สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการในขณะนี้ คือต้องเริ่มคุยหรือจัดทำแผนเรื่องการฟื้นฟูทันที ไม่ใช่คอยให้บริษัทอัคราฯ หยุดประกอบกิจการในปลายปี 2559 แล้วถึงค่อยดำเนินการ นั่นเพราะการจัดทำแผนฟื้นฟูนั้นต้องพิจารณาว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมถึงชุมชน มีมากกว่าที่อีไอเอประเมินเอาไว้หรือไม่
“ต้องเข้าใจว่าเวลาทำอีไอเอ หรืออีเอชไอเอ เป็นการประเมินไว้ก่อนที่จะมีการดำเนินกิจการ แต่ในกรณีนี้คือมีการดำเนินกิจการไปแล้ว ผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องไปประเมินกันใหม่ว่าผลกระทบจริงๆ แล้วคืออะไร ถ้าเราจะฟื้นฟูต้องฟื้นฟูอะไรบ้าง ซึ่งต้องมาจัดทำแผนปฏิบัติการให้มีความชัดเจน”
อาจารย์อาภา อธิบายว่า รัฐบาลควรเริ่มต้นตั้งแต่ ณ บัดนี้ โดยควรวางเป้าหมายไว้เลยว่าจะทำให้แล้วเสร็จเมื่อใด เช่น ขณะนี้มีเวลาเหลืออยู่อีก 7 เดือน ก่อนจะถึงกำหนดปิดเหมือง อาจจะต้องทำแผนให้แล้วเสร็จภายใน 3-5 เดือน
อย่างไรก็ตาม แผนการฟื้นฟูไม่ควรเป็นแผนที่หน่วยงานรัฐจะทำกับเอกชนหรือปล่อยให้เอกชนจัดทำเอง เพราะมีแนวโน้มว่ารัฐจะโยนภาระนี้ไปที่เอกชนเป็นหลัก ซึ่งที่ถูกต้องควรมีภาคส่วนของประชาชน ประชาสังคม หรือนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เข้าไปร่วมบูรณาการจัดทำแผนด้วย
“มันมีหลายเรื่องที่ต้องจัดการ เช่น กองหินทิ้งซึ่งมีโอกาสเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นจะจัดการอย่างไร หรือว่าหลังจากการทำเหมืองแล้วควรมีข้อสรุปเบื้องต้นบางอันว่ามันมีการปนเปื้อนเข้าไปในน้ำใต้ดินมากน้อยแค่ไหน หรือว่าจะมีการป้องกันได้อย่างไร”
ดร.อาภา ชี้ประเด็นสำคัญต่อไปว่า อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือเสถียรภาพของบ่อกักเก็บกากแร่ เพราะว่ากิจการเหมืองแร่ของอัคราฯ มีบ่อกักเก็บกากแร่ขนาดใหญ่อยู่ 2 บ่อ รวมประมาณเกือบ 2,000 ไร่ ซึ่งในหลายประเทศก็เคยประสบปัญหาบ่อกักเก็บกากแร่แตกหลังจากปิดเหมืองแล้ว โดยบางประเทศแตกหลังจากปิดเหมืองแล้วถึง 20 ปี
“ปรากฏการณ์นี้บางทีก็ไปสัมพันธ์กับเรื่องสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ฝนที่มาเยอะทำให้การคำนวณความมั่นคงของบ่ออาจจะไม่รองรับ ฉะนั้นมันต้องมีการวางแผนที่ชัดเจน ถ้าให้ดีควรมีการประกันความเสี่ยงเรื่องบ่อแตกเอาไว้ด้วย เช่น การทำประกันภัย เพราะหากเกิดผลกระทบขึ้นจริง รัฐจะรับผิดชอบเรื่องการฟื้นฟูผลกระทบดังกล่าวไม่ไหวอย่างแน่นอน”
“… อย่างเหมืองคลิตี้ซึ่งปิดเหมืองไปแล้วและเจ้าของก็เสียชีวิตเหลือแต่ลูก สุดท้ายชาวบ้านก็ฟ้องหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐก็ต้องเป็นคนเสียงบประมาณในการฟื้นฟู ก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐจะไปฟ้องบริษัทหรือเปล่า และจะบังคับคดีได้หรือไม่”
“… อย่างกรณีของอัคราฯ ค่อนข้างชัดเจนว่ามีหุ้นส่วนที่มาจากต่างประเทศ ถ้าในอนาคตบริษัทปิดไปแล้วจะเอาค่าเสียหายหรือค่าฟื้นฟูจากใคร ฉะนั้นมันต้องจัดการให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะปิดเหมือง ซึ่งเรื่องนี้อาจค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ของบ้านเรา ความมีผู้เชี่ยวชาญชำนาญการก็อาจจะมีไม่มาก”
นักวิชาการรายนี้ บอกอีกว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนหรือการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านมีต้นเหตุมาจากการประกอบกิจการหรือไม่ โดยอุปสรรคเกิดขึ้นจากไม่มีแพทย์คนใดกล้าพูด คือแพทย์ไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ เนื่องจากเสี่ยงต่อการฟ้องร้อง
อีกประเด็นก็คือเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์เส้นทางระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษจนถึงชาวบ้าน และหากต้องการรู้อาจต้องมาสืบค้นทางวิทยาศาสตร์ว่ามันมีการปนเปื้อนลงไปในน้ำใต้ดินหรือไม่ หรือบ่อกักเก็บกากแร่ที่มีอยู่นั้นมีการรั่วไหลหรือไม่ เพราะตอนนี้มันไม่มีใครเห็นว่าข้างล่างเป็นอย่างไร
“อย่างกรณีคลิตี้แพทย์ก็ไม่ได้รับว่าชาวบบ้านป่วยเป็นโรคตะกั่ว ซี่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาสากล”
อาภา ยอมรับว่า หากพิจารณามติ ครม.ในเชิงบวก อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่ารัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบของการทำเหมืองแร่ทองคำที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และระบบนิเวศ ถือเป็นการรับรองว่าเกิดผลกระทบกับชาวบ้านที่ต่อสู้มาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับประเด็นความคุ้มค่าของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งหากพิจารณาใน พ.ร.บ.แร่ ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 1 ไปแล้วนั้น พบว่าค่าภาคหลวงที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ไม่ได้มากขึ้นกว่าเดิมเลย
“ค่าภาคหลวงไม่ได้มากขึ้น จริงๆ แล้วระหว่างปี 2550-2554 มีการปรับอัตราการเก็บใหญ่ไปแล้วรอบหนึ่ง คือแต่ก่อนเก็บ 2.5% ลงทุน 1 หมื่นล้านบาทเก็บค่าภาคหลวงเพียง 250 ล้านบาท แล้วตอนนั้นเหมืองลงทุนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท …”
“… แต่ในปัจจุบันมีวิธีการเก็บได้ถึง 20% แต่ก็อิงตามราคาทองในตลาด คือถ้าราคาทองในตลาดสูงก็เก็บสูง ถ้าราคาทองในตลาดต่ำก็เก็บต่ำ คล้ายๆ เป็นอัตราก้าวหน้า ซึ่งข้อเท็จจริงคือโดยเฉลี่ยแล้วเก็บได้ประมาณ 10% รวมๆ ก็ไม่ถึง 20% จริง แล้วในกฎหมายใหม่ก็ยังเขียนไว้อยู่แค่ 20% เท่าเดิม”
อาจารย์อาภา ชวนคิดว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องคิดถึงทิศทางนโยบายหรือทิศทางการพัฒนากันอย่างจริงจังว่าอยากเดินไปในทางไหน คืออยากเป็นฐานการผลิตอาหารหรืออาจได้เศรษฐกิจสุดกู่ ที่สำคัญคือทิศทางที่เลือกนั้นชาวบ้านมีส่วนร่วมหรือได้ประโยชน์หรือไม่
“อย่างเช่นที่เนินมะปราง (อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก) ชาวบ้านปลูกมะม่วงส่งออก ซึ่งมีตัวเลขเศรษฐกิจชัดเจนเลยว่ามูลค่าที่ได้สูงพอๆ กับการทำเหมืององ แต่รายได้กระจายเข้าสู่ชุมชนมากกว่า ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศก็ไม่เสีย ตรงนี้ต้องเลือก”ดร.อาภา ระบุ