มีความเป็นไปได้สูงที่ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองชาตรีจะ “ดีใจเก้อ” แม้ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา จะมีมติรับทราบตามข้อเสนอของคณะทำงาน 4 กระทรวง ให้ยุติการอนุมัติประทานบัตร อาชญาบัตร และคำขอต่ออายุในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ภายในสิ้นปี 2559
อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ทำความเข้าใจว่า มติ ครม.ดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งทาง “นโยบาย” เท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกพันเหมือนกฎหมาย ที่สำคัญคือสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
อาภา อธิบายว่า มติ ครม.ที่ออกมามีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.การยุติการให้อาชญาบัตรพิเศษ อาชญาบัตรสำรวจ คำขอขยายสัมปทาน 2.อนุญาตโรงประกอบโลหะกรรมของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ไปจนถึงสิ้นปี 3.ให้หน่วยงานราชการดูแลเรื่องการปิดเหมืองฟื้นฟูและรักษาผู้ป่วย
ปัจจุบันเหมืองทองที่ยังดำเนินการอยู่ในประเทศไทยมีด้วยกัน 2 เหมือง ได้แก่ เหมืองทอง จ.เลย (บริษัททุ่งคำ) และเหมืองทองชาตรี (บริษัทอัคราฯ)
สำหรับเหมืองแร่เมืองเลยนั้น การอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้หมดอายุไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขอต่ออายุซึ่งต้องผ่านประชาคมและสภาองค์การบริหารส่วนตำบลก่อน ส่วนโรงประกอบโลหะกรรมและประทานบัตรยังไม่หมดอายุ และมีการยื่นขอสัมปทานแปลงใหม่เพิ่มเติม ซึ่งหากเป็นไปตามมติ ครม.ต้องระงับคำขอดังกล่าวทันที
ในส่วนของเหมืองแร่ชาตรี จ.พิจิตร ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมเพิ่งหมดอายุไปเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่มติ ครม.ได้ต่ออายุไปจนถึงสิ้นปี 2559 ขณะที่ใบประทานบัตรยังมีอายุถึงปี 2571
“คือมันมีทั้งของเก่าและของใหม่ โดยของใหม่ชัดเจนว่าจะไม่ให้ต่อ ไม่ให้สำรวจ ไม่ให้ขยาย แต่ที่สำคัญคือต้องไปดูเรื่องการปฏิบัติจริง ซึ่งขณะนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ยังไม่มีประกาศอะไรออกมา กระทรวงอุตสาหกรรมก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ที่เป็นทางการ …”
“… ถ้าจะให้มีความชัดเจน ควรมีการออกเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาเลยว่านโยบายการทำเหมืองทองคำของประเทศไทยตั้งแต่นี้จะเป็นไปตามมติ ครม.คือเขียนล้อออกมาให้เป็นประกาศ ซึ่งจะมีน้ำหนักเป็นกฎหมายบังคับใช้”
นักวิชาการรายนี้ ชี้ประเด็นว่า หากมี ครม.ชุดใหม่ก็สามารถเปลี่ยนมติใหม่ได้ ตอนนี้เหมือนมีมติว่าจะหยุดแต่ในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีมติออกมาใหม่ว่าได้แก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว ได้ฟื้นฟูเรียบร้อยแล้ว มีการวางมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว จึงมีมติ ครม.ให้เปิดเหมืองทองใหม่ได้
“… มติ ครม.มันเป็นคำสั่งทางนโยบาย สมมติว่า ครม.หักหลัง พอถึงสิ้นปีก็อาจจะอ้างเหตุผลใหม่เพื่อหักล้างมติเดิมก็ทำได้ หรือประชุม ครม.วันอังคารหน้าก็เปลี่ยนได้แล้ว แต่ถ้ามติดังกล่าวเข้าไปอยู่ในกฎหมายแร่เลย เช่น เขียนไว้ว่าแร่ที่อนุญาตให้ยกเว้นทองคำไว้ ตรงนี้หากจะบิดพลิ้วต้องผ่านกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องยากกว่า …”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะจับตามองก็คือบริบททางการเมืองและบริบทของรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของทหารที่เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หรือการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3 และ 4 ซึ่งสัมพันธ์กับธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ และจะมีกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับอำนาจใหม่เข้ามาดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน
คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการชะลอตรงนี้ (มติ ครม.เรื่องปิดเหมืองทองคำ) อาจจะเป็นการล้างไพ่ผลประโยชน์ใหม่ในกลุ่มธุรกิจเหมืองทอง เพราะหากมองเป็นประเด็นที่ว่าชาติไม่ได้รับผลประโยชน์จากการประกอบกิจการในปัจจุบัน และต่างชาติก็คือครองหุ้นทองคำไว้เยอะ ก็อาจมีกลุ่มทุนใหม่เกิดขึ้นมาแทนและพร้อมเข้ามาทำธุรกิจทองคำต่อ
“ทิศทางของรัฐบาลหรือทิศทางของ พ.ร.บ.แร่ ที่กำลังจะออกมานั้น ชัดว่าไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อม คือทำอย่างไรก็ได้ให้ออกใบอนุญาตได้เร็ว ให้ประโยชน์กับคนทำเหมืองคนทำแร่มากที่สุด นั่นคือแนวคิดหลักของประเทศ …”
“… พูดง่ายๆ คือรัฐบาลไม่ได้พูดเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนโยบาย การผลักดันแก้กฎหมาย และคำสั่งหัวหน้า คสช.ชัดว่าเป็นไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว มุ่งเน้นปั๊มตัวเลข ซึ่งตรงนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีการพยายามที่จะล้างไพ่ใหม่ มีขั้วผลประโยชน์ใหม่ที่อาจสนใจธุรกิจพวกนี้ได้”
ความน่าจะเป็นที่ “ดร.อาภา” ตั้งข้อสังเกตเอาไว้นั้น หากพิจารณาสาระสำคัญ พ.ร.บ.แร่ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว จะพบมีความเป็นไปได้สูง
ขณะนี้ พ.ร.บ.แร่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 60 วัน จากนั้นจะส่งเรื่องกลับมาให้ สนช.พิจารณาอีกครั้ง ก็ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ทันที
อาจารย์อาภา ให้ภาพว่า พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่นี้จะมีการทำ “แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่” ขึ้นมา โดยในแผนแม่บทได้กำหนดให้มี “พื้นที่ทำแร่” หรือ Mining zone ซึ่งมอบอำนาจให้ รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาว่า หากพื้นที่ใดมีศักยภาพแร่สูงและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง แม้จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ก็สามารถยกเลิกพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศไว้ได้
“เท่ากับว่ากฎหมายฉบับนี้จะไปอยู่เหนือกฎหมายฉบับอื่น เช่น กฎหมายป่าไม้ กฎหมายอุทยาน และส่วนใหญ่พื้นที่แร่มักอยู่บนพื้นที่ภูเขา เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธาร ยังไม่รวมถึงแหล่งต้นน้ำที่เป็นภูเขาเล็กๆ ของชาวบ้าน เช่น กรณี จ.เลย ที่แหล่งน้ำอยู่บนภูเขาซึ่งไม่ใช่พื้นที่อนุรักษ์ พวกนี้ก็จะมีสิทธิกลายเป็นพื้นที่ทำเหมืองได้หมดเลย ตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก”
อีกประเด็นของ พ.ร.บ.แร่ คือฐานคิดตั้งอยู่บนหลักการว่าต้องการขจัดปัญหาอุปสรรคของการอนุมัติอนุญาตเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วที่สุด เรียกได้ว่าพยายามจะทำให้เป็น one stop service มากที่สุด ซึ่งสวนทางกับหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่กำหนดให้ต้องมีการจัดเวทีประชาคม ทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้น
“ปัจจุบันจะขอใช้พื้นที่ป่าไม้ก็จะต้องไปทำเวทีประชาคม แต่ต่อไปกระบวนการเหล่านี้ไม่ต้องเลย คือพอมีการจัดทำแผนที่ศักยภาพแร่เป็นมาสเตอร์แพลนแล้ว กพร.ก็สามารถอนุญาตตามแผนได้เลย ไม่ต้องไปยุ่งกับป่าไม้ ไม่ต้องไปยุ่งกับหน่วยงานอื่นเลย ทุกอย่างมันจะเร็วขึ้นเยอะ”
มากไปกว่านั้น ใน พ.ร.บ.แร่ ได้กำหนดให้มีการแบ่งซอยขนาดของแปลงในการให้อนุญาต แบ่งออกเป็น 100 ไร่ 625 ไร่ และมากกว่า 625 ไร่ ซึ่งหากขอไม่เกิน 100 ไร่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีอำนาจอนุมัติเองได้เลย
“มันดูดีเหมือนมีการกระจายอำนาจไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น แต่จริงๆ ต้องดูว่ามันมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐอื่นหรือภาคประชาชนเข้ามาด้วยหรือเปล่า ซึ่งขณะนี้มันหายไปเลย และการกระจายลงไปแบบนี้ถามว่าจะทำให้แนวโน้มเรื่องการคอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะมีการเขียนเอาไว้ว่าพออนุมัติแปลงย่อยๆ ไปแล้ว สามารถเอาแปลงย่อยๆ เหล่านั้นมาต่อจิ๊กซอว์ เพื่อขออนุมัติเป็นแปลงใหญ่ได้อีก”
เห็นได้ชัดว่าสาระสำคัญของ พ.ร.บ.แร่ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับการประกอบกิจการเหมืองแร่นั้น ย้อนแย้งกับมติ ครม.ที่สั่งให้ปิดเหมืองทองคำภายในสิ้นปี 2559 อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ หากพิจารณาคำให้สัมภาษณ์ของ อรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ที่ตอบคำถามเรื่องอนาคตในการทำเหมืองแร่ทองคำว่า ให้ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ และแผนบริหารการจัดการแร่ใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร แล้วค่อยมาว่ากัน
นั่นทำให้สมมุติฐานของ “อาภา” มีความน่าจะเป็นมากยิ่งขึ้น
“หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้ทะลุจริงๆ ต้องดึงร่าง พ.ร.บ.แร่ กลับออกมา ต้องถอนออกจากการพิจารณา เพราะขณะนี้ประชาชนหรือใครก็ไม่อาจหยุดยั้งกระบวนการพิจารณาได้ ฉะนั้นหาก ครม.จริงใจในการแก้ปัญหาเหมืองทอง ต้องถอนกฎหมายฉบับนี้ออกมาจัดทำกันใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมรายนี้ ระบุ