ผ่าแนวคิด ‘ทวารัฐ สูตะบุตร’ ประเทศไทยยังไม่ถึงเวลา ‘นิวเคลียร์’

การพัฒนาโดยมุ่งเน้นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นเป้าหมายสูงสุด นำมาซึ่งมาตรการกระตุ้นการลงทุนอย่างเข้มข้น และนำไปสู่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามหาศาล

ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน บอกว่า ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยที่เร่งส่งเสริมการลงทุนนั้น เป็นไปในลักษณะเดียวกับประเทศเกาหลี เมื่อ15 ปีที่แล้ว หรือประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 30 ปืที่แล้ว นั่นคือช่วงที่ประเทศอยู่ระหว่างการไต่เส้นเคิฟตัวเอสขึ้นมา จึงต้องการให้เกิดการลงทุน ต้องการสร้างจีดีพี ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจโต พลังงานก็จะต้องโตตาม

ยกตัวอย่างประเทศเกาหลี ซึ่งนำประเทศไทยอยู่ประมาณ 10-15 ปี ขณะนั้นเขาคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยงและจัดสมดุลพลังงานเช่นกัน แต่โชคไม่ดีที่เกาหลีมีฐานทรัพยากรน้อยกว่าไทยมาก ไม่มีน้ำมัน ไม่มีแก๊ส เขาจึงต้องจัดสมดุลด้วยนิวเคลียร์ส่วนหนึ่ง ถ่านหินส่วนหนึ่ง แก๊สแอลเอ็นจีส่วนหนึ่ง แล้วค่อยเอาพลังงานทดแทนมาเติมทีหลัง

“ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างแบนแล้วคือเริ่มนิ่ง ประเทศเกาหลีก็เข้าสู่โค้งความนิ่งเช่นกัน แต่ประเทศไทยยังไม่ถึงจุดนั้น”

ทวารัฐ อธิบายว่า ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่นได้เข้าสู่การพัฒนาเต็มรูปแบบ และถูกจำกัดเพดานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว เขาจึงต้องเลือกใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีข้อดีคือเป็นโรงไฟฟ้ากระแสหลักที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้นและก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่ใช่ข้อจำกัดของประเทศไทย ฉะนั้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงดูว่ายังไม่เป็นที่ต้องการเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยเดินไปถึงจุดเดียวกับเกาหลีหรือญี่ปุ่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะตอบโจทย์ในช่วงนั้น

“ข้อจำกัดของนิวเคลียร์คือความกลัว และเฉพาะในช่วงนี้อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องนิวเคลียร์ มันยังไกลไป แต่ถามว่าต้องตัดออกไปจากแผนหรือไม่ ก็ไม่ควรตัด เพราะการมีอยู่ในแผนอย่างน้อยๆ ก็เปิดเป็นออฟชั่นไว้ให้มีการเรียนรู้ติดตาม แต่เชื่อว่าสร้างได้ยากมากในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องความกลัว”

สำหรับเทรนด์โลกที่พยายามลดสัดส่วนการใช้ถ่านหินลง “ทวารัฐ” ระบุว่า ประเทศที่ประกาศออกมาคือทุกประเทศที่ใช้ถ่านหินมากอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเกิน 40-50% ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา หรือแม้แต่ในประเทศจีนเอง ในเมื่อประเทศเหล่านั้นมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินเยอะอยู่แล้ว เขาจึงพูดได้ว่าจะลดใช้ถ่านหิน

“แม้จะไม่มีประเด็นเรื่องการประชุมรัฐภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (Conference of Parties : COP21) ประเทศเหล่านั้นก็ต้องลดสัดส่วนการใช้ถ่านหินอยู่แล้ว เพราะในเชิงของการจัดสมดุลเขาก็ต้องคิดว่าต้องเอาพลังงานอื่นเติม เพียงแต่ COP21 เป็นตัวเร่งให้เกิดการประกาศที่รวดเร็วและเข้มข้น เข้มแข็งมากขึ้น”

ทวารัฐ ยืนยันว่า ตัวเลขที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศในเวที COP21 เป็นตัวเลขที่กระทรวงพลังงานจัดทำขึ้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าจะลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน

เขา อธิบายต่อว่า กระทรวงพลังงานได้กำหนดตัวตัดยอดความต้องการใช้พลังงานไว้ซึ่งก็คือแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยที่ผ่านมามีข้อจำกัดว่าจะเอาแผนอนุรักษ์พลังงานทั้งแผนเข้ามารวมอยู่ในแผนการผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร นั่นเพราะสมมุติฐานเก่าคือคนไทยอาจไม่ประหยัดพลังงานจริง ขณะที่นโยบายรัฐบาลชุดเดิมก็ยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานอยู่ นั่นทำให้คนไทยยังใช้พลังงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือใช้เพลินเกินความจำเป็นในบางเรื่อง

แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีความชัดเจน ในวันแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น นโยบายข้อ 2 ต่อจากความมั่นคง คือราคาพลังงานที่สะท้อนต้นทุนจริง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนจริง การวางแผนพลังงานในรอบนี้จึงมั่นใจได้ว่าการอนุรักษ์พลังงานจะเป็นไปตามแผนได้ 100%”

“การที่ในระบบของเรามีโซล่ามากขึ้น มีพลังงานลมและชีวมวลมากขึ้น มันทำให้ไฟฟ้า 1 หน่วย เกิดคาร์บอน 0.5 กรัม แต่ถ้าเป็นไปตามแผนพีดีพี 2015 จะพบว่าไฟฟ้า 1 หน่วย จะเกิดคาร์บอนเพียง 0.3 กรัมเศษๆ นั่นหมายความว่าจะหายไปราวๆ 40% …”

“… ยืนยันว่าประเทศไทยทำได้ แต่ต้องมีการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันทุกภาคส่วน อาจต้องมีทั้งมาตรการบังคับ เช่น มาตรการทางภาษี หรือการออกกฎหมายใหม่ รวมถึงมาตรฐานส่งเสริมคืออุดหนุนช่วยเหลือ ในต่างประเทศจะใช้ Carbon tax คือยิ่งปล่อยคาร์บอนยิ่งโดนภาษี แต่ประเทศไทยยังไม่มี”