คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2559 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากเครือข่ายภาคประชาชนว่า เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าเท่านั้น
นั่นเพราะ คำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ได้ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมืองใน 5 กิจการ ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้า 2.โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่วยก๊าซ 3.โรงงานปรับปรุงคุณภาพของรวม (โรงบำบัดน้ำเสีย/เตาเผาขยะ) 4.โรงงานคัดแยกและฝังกลบ 5.โรงงานเพื่อการรีไซเคิล
ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ตีความว่า หัวใจสำคัญของคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เป็นการปลดผังเมืองเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์จากคำสั่งฉบับดังกล่าวมากที่สุดคือ “โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน”
“ถามว่าปลดผังเมืองสำหรับโรงไฟฟ้าทุกประเภทใช่หรือไม่ คำตอบก็คือใช่ แต่ถ้าถามต่อว่าแล้วประโยชน์สูงสุดอยู่กับใคร คำตอบก็คืออยู่กับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน”
ทวารัฐ อธิบายว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้รับการพัฒนาไปไกลมาก และทุกวันนี้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็อยู่ใกล้ตัวของทุกคน เช่น แผงโซล่าบนหลังคาบ้าน หรือพลังงานกังหันลมบนยอดตึกสูง ซึ่งหากตีความตามกฎหมายผังเมืองเดิมก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายถือว่าทั้งหมดนี้คือโรงงาน จึงไม่สามารถดำเนินการในพื้นที่ชุมชนหรือตามอาคารสูงได้
แม้แต่ระบบชีวมวลหรือแก๊สชีวภาพซึ่งตามทฤษฎีและตามความเหมาะสมแล้วควรจะตั้งอยู่ติดกับพื้นที่เกษตรกรรม โรงไฟฟ้าแก๊สชีวภาพต้องตั้งอยู่ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือถ้าเป็นโรงไฟฟ้าจากปาล์มก็ต้องอยู่กับโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือกฎหมายผังเมืองล้าหลัง มีการจัดทำกันมากว่า 10 ปี โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพพลังงานทดแทนเหล่านี้ ฉะนั้นเมื่อมีการขึงสีลงในผังเมืองจึงเกิดปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทนแต่ถูกกำหนดให้เป็นสีเขียว นั่นหมายความว่าจะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
“หัวใจสำคัญของคำสั่งที่ 4/2559 คือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน และผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ถามต่อว่าแล้วเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หรือเทพา (อ.เทพา จ.สงขลา) หรือไม่ คำตอบก็คือไม่เกี่ยวเลย เพราะโรงไฟฟ้ากระบี่ต่อให้มีการปลดผังเมืองไปแล้ว แต่ถ้าหากคณะกรรมการไตรภาคีบอกว่าไม่ให้สร้างก็เกิดขึ้นไม่ได้”
“… ในส่วนของเทพานั้น ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศผังเมืองรวม มีเพียงร่างผังเมือง ซึ่งพื้นที่ที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าก็อยู่ในเขตที่ได้รับการยกเว้นอยู่แล้ว ฉะนั้นโรงไฟฟ้าเทพาแม้จะไม่มีคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 โดยร่างผังเมืองเดิมนั้นก็ยังสามารถสร้างได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดมันไม่ได้อยู่ที่คำสั่ง คสช.ว่าจะปลดหรือไม่ปลดอะไร มันขึ้นอยู่กับว่าฟังกันหรือเปล่า ชาวบ้านเอากันหรือไม่”
ทวารัฐ บอกอีกว่า หากพิจารณาสาระสำคัญในคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 จะพบว่าจุดประสงค์หลักคือเรื่องการกำจัดขยะ ดังนั้นหากจะบอกว่าโรงไฟฟ้าขยะได้รับประโยชน์สูงสุดจากคำสั่งนี้ก็คงไม่ผิด นั่นเพราะโรงไฟฟ้าขยะเป็นวิธีที่ช่วยกำจัดขยะได้ดีที่สุดในตอนนี้ คือรีไซเคิลขยะให้กลายเป็นพลังงาน
“ถ้าใช้กฎหมายเดิม พื้นที่สำหรับรวมขยะหรือฝังกลบขยะจะสร้างโรงงานไม่ได้ เพราะบางทีไปตั้งอยู่ในพื้นที่สีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง คำสั่งปลดล็อกผังเมืองก็มีขึ้นเพื่อการนี้ แต่แน่นอนว่าแม้จะมีการปลดล็อกผังเมืองไปแล้วแต่กฎหมายอื่นๆ หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็ยังอยู่ครบไม่ได้ถูกปลดตาม”
ทวารัฐ ให้ภาพต่อไปว่า คำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ได้กำหนดมาตรการควบคุมเกณฑ์ของโรงไฟฟ้าและคลังน้ำมันไว้อย่างชัดเจนว่า “ต้องเป็นไปตามแผน” นั่นหมายความว่าโครงการใดๆ ที่จะได้รับการปลดล็อกผังเมืองตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 นั้น ต้องอยู่ในแผนของรัฐบาลเท่านั้น หากเป็นโครงการที่อยู่นอกแผนก็จะสร้างไม่ได้
“อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินชัยภูมิซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่อยู่ในแผน จึงไม่เกี่ยวข้องกับคำสั่งที่ 4/2559 แปลว่าผังเมืองยังต้องบังคับใช้กับโครงการนี้อยู่ นั่นหมายความโครงการที่จะได้รับอานิสงค์จากคำสั่งที่ 4 จะต้องเป็นโครงการที่อยู่ในแผนเท่านั้น ประชาชนจึงไม่ต้องไปกังวลว่าจู่ๆ จะมีโรงงานมาตั้งอยู่หน้าบ้าน เพราะมันไม่ใช่ มันต้องเป็นโรงงานที่อยู่ในแผน และปิโตรเคมีก็ไม่เกี่ยว โรงไฟฟ้านอกแผนก็ไม่เกี่ยว”
นอกจากนี้ หากพิจารณาคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 จะพบว่าเขียนครอบคลุมไว้ค่อนข้างกว้าง และยังมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปกำหนดกรอบว่าจะเอาโครงการอะไรบ้าง และหลักเกณฑ์อะไรบ้าง
“ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เป็นเดทไลน์ที่จะต้องออกหลักเกณฑ์ของโครงการที่เข้าเงื่อนไข เมื่อประกาศหลักเกณฑ์นี้แล้วหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะทราบทันทีว่าโครงการไหนเข้าเกณฑ์ หรือโครงการไหนที่ไม่ได้ อย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งดูเรื่องโรงไฟฟ้าก็จะรู้ได้ทันทีว่าโครงการไหนที่ได้หรือไม่ได้ แต่เบื้องต้นที่คุยกันก็คือเป็นโรงไฟฟ้าทุกประเภท ทุกขนาด ที่อยู่ในแผน และอยู่ระหว่างการพิจารณา”
ทวารัฐ อธิบายว่า ขณะนี้ก็มีการพูดคุยกับทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงกรมต่างๆ ที่ดูแลแต่ละแผนว่าจะมีโครงการอะไรบ้างที่คิดว่าจำเป็นที่จะต้องใช้ เพราะเท่าที่คุยกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานกฤษฎีกา ก็ได้รับคำร้องขอมาว่าให้เลือกเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เช่น เป็นโครงการที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการด้านพลังงาน อาทิ คลังน้ำมัน เป็นต้น
เขา อธิบายต่ออีกว่า รายละเอียดในแผนน้ำมันจะมีการ “ก่อสร้างท่อน้ำมัน” เพื่อเชื่อมต่อไปในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีไปถึง จ.สระบุรี ก็จะเชื่อมต่อไปทางภาคเหนือและอีสาน โดยในแต่ละแนวท่อก็จะมีคลังน้ำมันตั้งอยู่ แน่นอนว่าหากแนวท่อผ่านพื้นที่สีเขียว ก็ไม่สามารถตั้งคลังน้ำมันได้
“โครงการคลังน้ำมันตามแนวท่อเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานทั่วถึงจำเป็นต้องสร้างได้ อย่างน้อยๆ คำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ก็เปิดโอกาสให้เขาสร้างบ้าง เพราะถ้ากฎหมายผังเมืองบอกว่าไม่ได้ อย่างอื่นก็จะเดินไม่ได้เลย แต่ถ้ากฎหมายผังเมืองบอกว่าสร้างได้ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการจะสร้างได้เลย เพราะยังมีกฎหมายอื่นๆ อีก เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายกรมโรงงาน กระบวนการรับฟังความคิดเห็น แต่อย่างน้อยๆ การปลดล็อกผังเมืองก็เป็นการเปิดโอกาสให้ไปต่อสู้ต่อในขั้นต่อไปได้”
ทั้งหมดคือการถอดรหัสคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ผ่านมุมมองของผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสั่งฉบับดังกล่าวมากที่สุด