เมื่อพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่มักมาคู่กันราวเงาตามตัว คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน หรือสิทธิด้านใดด้านหนึ่งไม่มากก็น้อย ชาวบ้านที่เคยประสบกับปัญหาจึงมักคุ้นหน้าค่าตา กับหมอผู้เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา และหนึ่งใน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ที่กำลังจะหมดวาระลงหลังดำรงตำแหน่งมากว่า 6 ปี นับตั้งแต่ มิ.ย. 2552 แม้จะปฏิบัติหน้าที่เกินกำหนดเนื่องจากปัญหาการสรรหากรรมการชุดใหม่ แต่ในขณะนี้ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติครบ 7 คน เหลือเพียงประชุมเพื่อเลือกตั้งประธาน พร้อมเสนอให้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ก่อนที่กรรมการสิทธิฯ มากประสบการณ์รายนี้จะหมดวาระลง ทางสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมจึงได้ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์บนเส้นทางพิทักษ์สิทธิคนเล็กคนน้อย
ภาพรวมของสถานการณ์ร้องเรียนสิทธิเหล่านี้ ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน เป็นอย่างไรบ้าง?
ตลอดช่วงเวลา 6 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ผมรับผิดชอบเป็นอนุกรรมการใน 3 ส่วนหลักคือ 1. สิทธิชุมชน เป็นสิทธิในเรื่องการจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมปัญหาในเรื่องป่า ที่ดิน ลุ่มน้ำ ทะเลชายฝั่ง สินแร่ 2. สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นวิกฤติของบ้านเมืองไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการชุมนุม ความขัดแย้ง การแบ่งฝักฝ่าย และ 3. ด้านสถานะของบุคคล และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งหมายรวมถึงผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย คนไทยพลัดถิ่น คนชายขอบ คนพื้นเมืองที่ราบสูงชนเผ่าต่างๆ หรือแม้แต่ชาวเลทางภาคใต้
ในทั้งหมดนี้ ปัญหาที่เข้ามามากที่สุดคือด้าน สิทธิชุมชน เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีประชาชนส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะทำสวนหรือทำประมงวิถีชีวิตเหล่านี้ต่างต้องพึ่งพาทรัพยากร จนเราเรียกประเทศไทยว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งในช่วง 6 ปีก็มีปัญหาเข้ามาประมาณ 500-600 กรณี โดยเกินกว่าครึ่งจะเป็นปัญหาด้านที่ดินและป่า ต่อมา สิทธิทางการเมือง แม้จะมีน้อยกว่าคือ 100-200 กรณี แต่ลักษณะของเรื่องร้องเรียนมักจะเป็นเรื่องใหญ่ระดับวิกฤติของประเทศ เพราะสถานการณ์การเมืองที่ล้มเหลว จึงมีปัญหาการชุมนุมที่เจ้าหน้าที่จัดการไม่ถูกต้อง ลุกลามเป็นความรุนแรงที่มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต หรือแม้แต่ขณะนี้ที่อยู่ในภาวะรัฐประหาร ก็จะเจอปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง
ส่วนกลุ่มสุดท้าย ด้านสถานะของบุคคล ที่เรามีปัญหาหลักคือเรื่องของผู้อพยพผู้ลี้ภัย อย่างชาวโรฮีนจาหรือชาวอุยกูร์ เมื่อประเทศไทยไม่เคยเจอปัญหาลักษณะนี้ที่รุนแรงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จึงกลายเป็นความยากลำบากเชิงบริหารจัดการ เนื่องจากเรายังไม่มีนโยบายที่สอดรับกับการจัดการผู้อพยพเหล่านี้ ไม่มีคำจำกัดความในกฎหมาย มองเพียงว่าเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายคนเข้าเมือง แต่ความจริงคือคนเหล่านี้เป็นผู้หนีภัยสงคราม ซึ่งไม่ได้ต้องการเข้าประเทศไทยแค่ต้องการใช้เป็นทางผ่านไปที่อื่น เมื่อเราไม่มีกฎหมายรองรับเช่นในประเทศยุโรป จึงเกิดการค้ามนุษย์หรือเรื่องของแรงงานข้ามชาติตามมา กลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจการลงทุน ส่วนปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งก็คือคนไทยที่อยู่นอกเขตชายแดน และไม่รู้ตอนประกาศเขตแดนเป็นทางการ แต่พอตอนหลังรู้แล้วอพยพกลับเข้ามาประเทศตน กลายเป็นคนไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ตกหล่นในเรื่องสถานะบุคคล ทั้งที่มีสิทธิเท่าคนไทยแต่เพียงไปอยู่ผิดที่เท่านั้น
ลำดับความยากง่ายของการแก้ปัญหา ในอนุกรรมการสิทธิทั้ง 3 ด้าน?
ปัญหาที่จัดการได้ยากที่สุดคือเรื่องของที่ดินและป่า สอดคล้องกับข้อมูลของนักวิชาการที่ว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไม่ใช่การเมืองล้มเหลวอย่างเดียว แต่ยังเป็นปัญหาเรื่องของสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนที่สูงมากกว่า 300 เท่า ต้องยอมรับว่าเรามีเกษตรกรซึ่งอยู่ในพื้นที่ของรัฐ ก่อนหน้าที่จะประกาศเป็นเขตป่าสงวนหรือเขตอุทยานฯ นับล้านครอบครัว แต่หลังการประกาศแล้วบางครอบครัวเหลือที่ดินแต่ไม่พอทำกิน บางครอบครัวไม่เหลือเลย
“ถ้าเราบอกว่าเราเป็นเมืองเกษตรกรรมเป็นแหล่งอาหารโลก แต่เกษตรกรกลับไม่มีที่ดินทำกิน อันนี้เป็นปัญหาแน่นอน ในขณะผู้ที่รวยที่สุดมีที่ดินประมาณ 6 แสนไร่ แต่ก็ไม่ได้มีอาชีพเกษตรกร”
นี่เป็นปัญหาว่ารัฐเองต้องประเมินนโยบายในการกระจายและเข้าถึงสิทธิการทำมาหากิน จะมามองว่าคนเหล่านี้โง่ จน ขี้เกียจ อย่างนี้ไม่ได้มันผิดทฤษฎี เพราะอยู่ที่รัฐจะกระจายความเป็นธรรมในการถือครองนี่แหละคือสิทธิชุมชน ที่ถูกตราขึ้นมาเพราะรู้ว่าคนไทยแต่เดิมอยู่ในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์มากมายและยังคงไม่ได้รับเอกสารสิทธิ ถึงแม้จะมี ส.ป.ก. 4-01 มีนโยบายเรื่องของโฉนดชุมชนแต่ว่าก็ยังไม่เพียงพอ ขณะที่คนรวยสามารถนำเงินไปซื้อที่ดินได้ และยังสามารถออกเอกสารสิทธิโดยทุจริตได้ด้วย ฉะนั้นผลสำรวจล่าสุดของนักวิชาการจึงชัดเจนว่าปัญหาที่ดินเป็นความเหลื่อมล้ำอันดับสูงที่สุดในประเทศไทย
ปัญหาที่ดำเนินมายาวนาน หากเปรียบเทียบความแตกต่างของรัฐบาลทั้ง 3 ยุค การแก้ปัญหาในรัฐบาลใดมีท่าทีว่าจะดีขึ้นหรือมีทางออก?
ต้องยอมรับว่าในรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย ต่างมีพัฒนาการในเรื่องของการต่อสู้หรือการขับเคลื่อนของภาคประชาชน เพราะเรามีสิทธิชุมชนเป็นหลักประกันในรัฐธรรมนูญอยู่ เป็นหลักการให้หน่วยงานของรัฐว่าที่ดินเป็นสมบัติของประชาชนไม่ใช่ของรัฐเพียงผู้เดียวแต่รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครอง เราจึงใช้หลักการนี้ในการเรียกร้อง และประชาชนมีการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมตามรัฐธรรมนูญสิทธิพลเมืองในสองรัฐบาลนี้ได้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อหลังวันที่ 24 พ.ค. 57 เรามีรัฐประหาร เกิดสภาพที่ตรงกันข้ามเพราะเรายกเลิกรัฐธรรมนูญ แม้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ 4 ยังบอกว่าบรรดาสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคยังได้รับความคุ้มครอง ซึ่งรวมถึงสิทธิชุมชนที่ยังได้รับการยอมรับในกระบวนการยุติธรรมจากคำตัดสินของศาล
แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีนโยบายหลายอย่างที่มาเป็นปัญหาอุปสรรค เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ไล่คนออกจากป่าด้วยข้อหาบุกรุก ซึ่งจริงๆแล้วเห็นด้วยว่ารัฐบาลต้องทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเพราะทุกวันนี้มันลดลงไปเรื่อยๆ แต่ต้องแยกแยะและกลั่นกรองคนที่เขามีสิทธิชุมชน สอดคล้องกับพระราชดำรัสในหลวงซึ่งเคยตรัสไว้ว่า คนเหล่านี้อยู่ในป่ามาก่อนอย่าไปรุกเขา เขาไม่ได้รุกป่า ซึ่งตรงนี้กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานฯไม่ได้ดำเนินการตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นกระบวนการพิสูจน์กลั่นกรองยังคงหยุดชะงัด แต่เมื่อมีนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ตราหน้าว่าคนเหล่านี้ว่าเป็นผู้บุกรุก ก็ใช้มาตรการ “ไล่” เลย “ตัด” เลย จึงกลายเป็นว่าพอเรามีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยหน่วยงานของรัฐ กลับถูกใช้ในเรื่องของการละเมิดสิทธิสิทธิที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยมากขึ้นโดยที่ไม่มีการกลั่นกรอง
สรุปได้ไหมว่ากระบวนการที่ทำมาทั้งหมด ที่ชาวบ้านร้องเรียนมาและเราได้พยายามแก้ปัญหา พอมีรัฐประหารหรืออำนาจเบ็ดเสร็จแบบนี้เกิดขึ้น กระบวนการทุกอย่างหยุดชะงัก รวมถึงการทำหน้าที่ของ กสม.เองด้วย?
เราไม่ได้หยุดชะงักเพราะเราไม่ถูกยุบ ยังมีอำนาจและยังคงทำหน้าที่อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าผลที่ออกมามันน้อยกว่าเดิม เพราะในเชิงนโยบายถูกกำหนดมา อย่างเช่นทวงคืนผืนป่าที่สั่งมาแล้วว่าต้องไล่ ทำให้เราได้รับเรื่องจากทั่วประเทศกว่า 50-60 คำร้องในเรื่องเดียวกัน พร้อมกันทีเดียวจาก 30 จังหวัดในช่วงไม่ถึงครึ่งปี ซึ่งนับว่าใหญ่มาก ทั้งที่บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ผู้บุกรุกใหม่ แต่เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่และมีกระบวนการต่อสู้ มีการรวมตัวเป็นเครือข่าย สู้มาอย่างยาวนานเพียงแต่ยังไม่สำเร็จ กระบวนการในการช่วยเหลือตอนนี้จึงมีปัญหามากขึ้น เพราะมีการอ้างเรื่องคำสั่งตั้งแต่การใช้กฎอัยการศึกไปจนถึงมาตรา 44
ลักษณะต่อไปคือเรื่องการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐต้องการกระจายไปตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แต่สิ่งที่ผิดคือให้จังหวัดไปกำหนดพื้นที่แล้วมาให้ คสช.ออกคำสั่งมาตรา 44 ซึ่งทุกครอบครัวร้องเรียนว่าเขาอยู่ตรงนั้นมาก่อน ทั้งที่มีเอกสารสิทธิด้วยซ้ำ แต่จังหวัดกลับปักหมุดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม ต่อมาคือเรื่องผังเมืองที่กระทบกับที่ดินทำกิน เราพบว่า พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับล่าสุดถูกแบ่งสีเรียบร้อยด้วยความมีส่วนร่วม แต่ปรากฏว่าช่วงปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่าในหลายจังหวัด มีความต้องการที่จะเปลี่ยนผังเมืองโดยอาศัยบทเฉพาะกาล พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นโดยไม่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ต้องการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นอุตสาหกรรม ชาวบ้านก็ไม่ยอมเพราะกลัวที่ดินจะโดนยึด หรือหากไม่โดนก็จะเจอปัญหาเหมือนที่มาบตาพุด
3 ลักษณะนี้คือตัวอย่างสาเหตุใหญ่ๆ ที่เป็นปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่พบว่ากระจายอยู่ในทั่วประเทศเยอะมาก เนื่องจากมีการอ้างการใช้อำนาจเด็ดขาดโดยไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วม อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องความเป็นธรรมซึ่งสำคัญมาก เพราะขณะนี้เรากำลังพูดถึงการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ที่ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้าข้างชาวบ้านตลอด แต่ความเป็นธรรมหมายความว่าจะต้องเกิดการคุยกัน ว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วผลกระทบจะเป็นอย่างไร คุณรับผิดชอบได้หรือไม่ เช่น ถ้าเขาจะต้องย้ายที่ คุณหาที่ให้เขาได้หรือยัง เงินเวนคืนมากพอไปซื้อที่ใหม่ไหม อย่างที่แม่สอดชาวบ้านบอกว่าไม่มีทางหาซื้อที่ได้เพราะราคาขึ้นหมดแล้ว
สิทธิชุมชนที่ว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่พอมีการรัฐประหารเข้ามาใช้อำนาจพิเศษ ถือเป็นการโค่นล้มสิทธิประชาชน หรือเริ่มเข้าสู่เผด็จการใหม่ไหม?
เราต้องมองด้วยความเข้าใจก่อน ผมเองมองว่าสังคมไทยหรือหน่วยงานรัฐบาล ยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิชุมชนหรือสิทธิมนุษยชน ที่เรายึดถือว่าเป็นหลักนิติธรรมคือหลักการตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม หากรัฐมองว่าเป็นประโยชน์ความถูกต้องก็ต้องออกมาจัดการ อย่างเช่นปฏิรูปการกระจายที่ดิน หรืออัตราภาษีก้าวหน้า ซึ่งไม่ให้คนเอาที่ดินไปกองไว้เยอะๆ แล้วไม่ได้ทำประโยชน์ ควรเอาที่ดินไปให้กับคนที่ต้องการทำเกษตรแต่ไม่มีโอกาส อาจให้กู้เป็นที่ดินแต่ไม่ใช่ให้กู้เป็นเงิน หรือให้มีกฎหมายโฉนดชุมชนออกมา เรื่องของนโยบายและกฎหมายที่จะมาช่วยเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ ความเข้าใจผิดๆว่าคนเหล่านี้เป็นผู้บุกรุกเป็นผู้ทำผิดกฎหมายมันล้าสมัยแล้ว
“การมองว่าคนเหล่านี้ยากจน เป็นคนขี้เกียจ คนรวยเท่านั้นที่จะขยัน มันไม่ใช่ ความจริงคือคนเหล่านี้ขยันแต่ด้อยโอกาส และเข้าไม่ถึงสิทธิ”
ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ไม่ได้ต้องการเอกสิทธิที่เป็นปัจเจกแล้ว เขาต้องการโฉนดชุมชนที่เอาไปซื้อขายไม่ได้ เขาต้องการให้ไปเอาภาษีจากคนรวยที่เก็บแต่ที่ดินไว้แล้วไม่ทำประโยชน์ จะได้ไม่เก็บโฉนดไว้ทำกำไร แต่ถ้าคุณไปทำวิธีอื่นคือสนับสนุนแต่ระบบอุตสาหกรรม เอาเงินไปช่วยภาคธุรกิจอย่างเดียว ก็จะเกิดการจัดการทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่สมดุล เราไม่เหมือนสิงคโปร์ที่มีแต่นักธุรกิจไม่มีภาคเกษตรกรรม จึงไม่ต้องมาพูดถึงเรื่องนี้ แต่ในประเทศเราแม้หนุ่มสาวชนบทขณะนี้มาทำงานในเมือง แต่พ่อแม่ก็ยังทำเกษตรกรรม ในเมื่อเรามีความอุดมสมบูรณ์เรื่องทรัพยากร แล้วเรื่องอะไรจะเปลี่ยนประเทศเราให้เป็นเหมือนเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการเกษตรที่โบราณคร่ำครึ เพราะทุกวันนี้เกษตรก็เป็นแบบสมัยใหม่แล้ว
เราไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขามีการตั้งงบประมาณพัฒนาเกษตรกร เรามีกองทุนเกษตรกรแต่ก็ไม่เคยไปถึงมือ กลายเป็นเงินเดือนลูกจ้างหมด คือนโยบายไม่ใช่การเอาเงินไปแจกแต่จะต้องช่วยเหลือทุกด้าน ทำทุกอย่างให้เขาเป็นเกษตรกรที่มั่นคงได้ ตรงนี้คือการปฏิรูป ซึ่งแนวทางเหล่านี้มีหมดแล้วไม่ใช่ของใหม่ เพียงแค่จะนำออกมาในทางปฏิบัติได้อย่างไร แต่พอเรามีสภาปฏิรูปก็กลับมาคิดพวกนี้กันอยู่เหมือนเดิม
ที่ผ่านมากฎหมายเรื่องทรัพยากรเขาเรียกว่าเป็นกฎหมายล่าอาณานิคม ซึ่งเราเอามาจากประเทศตะวันตก อย่างกฎหมายที่ดินและป่าไม้เป็นกฎหมายที่โบราณที่สุด จึงไม่ยึดหลักเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย เพราะหลักการขณะนั้นคือรัฐเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องในขณะนั้น แต่หลัง พ.ศ.2475 ทรัพยากรทั้งหลายถือเป็นสมบัติสาธารณะ เป็นของประชาชน รัฐเป็นเพียงตัวแทนเข้ามาดูแล ดังนั้นกฎหมายที่เราเอามาจึงต้องเปลี่ยนได้แล้ว นี่จึงทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 ทันสมัยกว่ากฎหมายทรัพยากรทั้งหมด เพราะได้ยึดหลักสิทธิที่สมบูรณ์ที่สุด จึงทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นธรรม สอดคล้องกับหลักการสากล นี่พูดถึงเฉพาะเรื่องที่ดินและป่าไม้ ยังไม่นับรวมถึงเรื่องเหมืองแร่ ปิโตรเลียม ฯลฯ
ถ้ารัฐบาลยังเป็นเช่นนี้ ยังคงมีอำนาจอยู่ แนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวประเด็นเหล่านี้ เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?
“การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ” ตามหลักรัฐศาสตร์มันจะทำให้เกิดการคอรัปชั่นที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น เพียงแต่ว่าขณะนี้เรามีผู้นำที่พยายามบอกว่าเขามีความเข้าใจในปัญหาของประเทศ และรัฐพยายามบอกว่าการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จต้องเป็นการใช้โดยยึดหลักธรรมะคือความถูกต้อง แต่สิ่งที่จะเป็นหลักประกันคือต้องอย่าหลงเชื่อข้าราชการ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้นักการเมืองถูกชิดซ้ายไปและข้าราชการถูกดึงเข้ามาเยอะ แต่ต้องรู้ว่าตัวข้าราชการของไทยยังมีปัญหา เราถึงเรียกร้องการปฏิรูประบบข้าราชการ แม้ขณะนี้จะยึดระบบราชการแต่ก็ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
“ถ้าเขาคิดว่ามีสภาขับเคลื่อน มีสภาปฏิรูปที่วางโรดแมปไว้เรียบร้อย รอจนกว่าจะมีรัฐบาลเลือกตั้งค่อยรับฟังประชาชนแบบนี้ไม่ได้ เพราะปัญหาขณะนี้ชาวบ้านเขาเดือดร้อนก่อนแล้ว”
ดังนั้นอำนาจเด็ดขาดถ้าจะมีประโยชน์คุณต้องมีกระบวนการยอมรับฟังเสียงประชาชน เพราะประชาชนเท่านั้นคือผู้ที่จะรับประกันว่าการใช้อำนาจนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเขา ซึ่งตรงนี้มันง่ายเพราะเขามีข้อสรุปเป็นรูปธรรมจากกรรมาธิการแต่ละคณะหมดแล้ว ก็เอามาอ่านสิ หากจะทำอันไหนก็ให้ราชการส่วนนั้นดำเนินการเปิดเวทีรับฟังที่ถูกต้อง ประชาชนในพื้นที่มีทั้งระดับอาจารย์และนักวิชาการ พวกนี้เขามีความรู้หมด อย่าไปมองประชาชนว่าโง่ ขณะนี้ประชาชนฉลาดขึ้นมาก และเขาก็ได้มีกระบวนการมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ พ.ศ.2540 ในระดับการตัดสินใจเชิงนโยบาย
ดังนั้นภาคประชาชนจึงเป็นผู้เสนอกฎหมาย อาทิ โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ซึ่งส่วนราชการไม่เคยเสนอพวกนี้ เราใช้ส่วนราชการเป็นแขนขาในการทำงาน แต่ส่วนหัวหรือวิธีคิดต้องมาจากประชาชน เพราะประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้สั่งการว่าอำนาจที่เด็ดขาดนี้จะไม่กลับมาทำร้ายประชาชน นี่คือสิ่งที่อยากจะนำเสนอ เวลาของท่านขณะนี้แม้ไม่มากแต่มีความสำคัญ เพราะความเดือดร้อนของประชาชนมันยังไม่หยุดและต้องจัดการให้ถูกต้อง หากทำไม่ถูกต้องแล้วบอกว่ารอให้ไปจัดการเมื่อมีรัฐบาล ประชาธิปไตยมันจะไม่ทัน และช่วงจังหวะนี้ก็จะถูกคนที่ไม่ใช่ท่าน ฉวยโอกาสไปหาประโยชน์หรือไปทำร้ายชาวบ้าน
เห็นว่าในยุคหมอมีเรื่องการละเมิดข้ามพรมแดนด้วย เป็นอย่างไรบ้าง?
เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้และต้องยอมรับว่านายทุนของเราเป็นทุนข้ามชาติ ซึ่งนี่คือความก้าวหน้าของระบบนายทุนไทย แต่ทีนี้ปัญหาจากกระแสโลกาภิวัตน์และความไม่มีระบบไม่มีพรมแดน การละเมิดสิทธิมันก็ไร้พรมแดนด้วย นายทุนก็ไปทำธุรกิจไปละเมิดสิทธิในทรัพยากรของเขา ในระบบธุรกิจเรามีเรื่อง CSR เรื่องความรับผิดชอบ แต่ CSR มันไม่ใช่แค่การปลูกป่าหรือการทำบุญ แต่มันคือการทำกิจกรรมหรือโครงการโดยยึดหลักเรื่องสิทธิชุมชน ยึดหลักเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดี อย่าไปทำลายของเขา ถ้าไปทำลายคุณก็ต้องรับผิดชอบในการชดเชยเยียวยา แม้คุณจะไม่ได้เป็นคนทำแต่คุณก็เป็นส่วนหนึ่ง เราเรียกเป็นความรับผิดชอบ
“เมื่อกำไรและผลประโยชน์ที่คุณได้มันอยู่บนความเดือดร้อนคนอื่น คุณก็ควรที่จะเข้าไปรับผิดชอบ เราถึงเรียกว่าเป็น CSR”
เราไม่ได้บอกว่าเป็นโจรหรือจำเลย ถ้าพูดแบบไทยคือต้องมีมนุษยธรรม แต่ปรากฏว่าเกือบ 10 เรื่องที่ถูกร้องเรียนมาที่ผมไม่ว่าจะที่ลาว กัมพูชา หรือพม่า ทั้งโครงการเหมือง เขื่อน หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่างไม่มีความรับผิดชอบ เป็นเรื่องละเมิดสิทธิข้ามพรมแดน โดยนักธุรกิจไทยหรือแม้แต่หน่วยงานรัฐของไทย ซึ่งตรงนี้ต้องระวังว่าถึงแม้เป็นโครงการข้ามพรมแดนก็ยังต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน เพราะทั่วโลกขณะนี้มีคำว่า “ETO” (Extraterritorial Obligations) อะไรที่เป็นการละเมิดข้ามพรมแดนถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและเป็นหลักของ UN
ทำไมการลงทุนหรือการพัฒนาทุกครั้ง จะต้องมีการละเมิด?
ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติอย่างยิ่งในระบบทุน นี่ไม่ใช่ข้อสรุปของผมแต่เป็นของ “โจเซฟ สติกลิตส์” นักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีชื่อเสียงของโลก ผู้เขียนหนังสือ “ราคาของความเหลื่อมล้ำ: The Price of Inequality” กล่าวว่าระบบทุนในกระแสโลกาภิวัฒน์ไม่เคยสร้างสรรค์คน แต่เป็นการทำลายคน เพราะนายทุนเวลามีเงินจะไปลงทุน แล้วมองทรัพยากรที่ดิน ป่า หรือลุ่มน้ำเป็นสินค้าที่สามารถซื้อได้ และซื้อให้มากที่สุดโดยไม่สนใจว่ามันมาจากไหน แม้การพัฒนาจะไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมนายทุนก็จะไม่คิดถึง เพราะกำไรมันไม่เคยพอมีแต่ต้องมากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นเขาจึงต้องมีหลักของนักธุรกิจว่าต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อชีวิต ต่อสังคม และต้องมีกระบวนการรับฟัง ที่จะเป็นหลักประกันว่าโครงการนี้มีมาตรการรับผลกระทบ มีแนวทางชดเชยเยียวยา
เพราะฉะนั้นนี่คือธรรมชาติของระบบทุนเสรีนิยมใหม่ ที่ขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีอำนาจมากเพราะเป็นเรื่องทั่วโลก และปฏิเสธไม่ได้ว่าในไทยเองก็มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ก้าวทันจนเป็นมหาเศรษฐีอันดับโลก และต้องถือว่าเขาเป็นทุนข้ามชาติ เพราะฉะนั้นสถาบันสิทธิมนุษยชนหรือ UN จึงต้องมีหลักเพื่อเป็นการป้องกันและเข้าไปถ่วงดุล หรือแม้แต่ในประเทศเราก็มีคนที่มองเห็นตรงนี้ มีกลุ่มเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) เขารวมตัวกันแต่มันก็ยังได้น้อย ซึ่งจะโทษเขาไม่ได้แต่ต้องโทษรัฐที่เป็นคนคุมกฎ ซึ่งรัฐบาลไทยคิดแต่ว่าให้คนเข้ามาลงทุนแล้วเงินจะได้เข้าประเทศ แต่ขณะนี้พิสูจน์แล้วว่าเงินเข้ามาจริงแต่ตกไปอยู่กับคนรวยเยอะ กลายเป็นคำที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ที่ไม่สามารถเฉลี่ยได้และกลายเป็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ในประเทศไทย กรณีใดที่นับได้ว่ามีความรุนแรงที่สุดในเรื่องของการละเมิด?
มาบตาพุด แม่เมาะ เขื่อนปากมูล พวกนี้รุนแรงทั้งนั้น เพราะต่อสู้มาอย่างยาวนาน 20-30 ปี มีทั้งเป็นคดี ติดคุก กระทั่งเสียชีวิต แต่สุดท้ายโครงการก็เกิด ที่คัดค้านสำเร็จคือบ่อนอก-หินกรูด โครงการไม่เกิดแต่ก็มีเสียชีวิต ที่แม่เมาะขณะนี้ก็ยังมีปัญหา กฟผ.โฆษณาว่าถ่านหินสะอาด แต่ความจริงคือถ่านหินที่นู่นกองเป็นภูเขา เมื่อติดไฟเกิดเป็นควันปกคลุมหมู่บ้าน เป็นโรคทางเดินหายใจกันมากมายและร้องเรียนมาที่เรา รัฐควรต้องเข้าใจการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ เวลาคุณไปทำลายการท่องเที่ยวแล้วคิดว่ามันคุ้มหรือไม่ อย่างเหมืองทองคุณได้ค่าภาคหลวงปีละหลักร้อยล้าน แต่ฝรั่งฟันกลับประเทศไปกี่พันล้าน การที่ชาวบ้านต้องมาป่วยแลกกับค่าภาคหลวงปีละร้อยล้านนี่มันไม่คุ้ม แม้แต่ตอนนี้ยังไม่มีคนรับผิดชอบเลย เพราะฉะนั้นปัญหาที่เราต้องคิดด้วยคือทุนทางสังคมที่จะสูญเสีย ทั้งชีวิตคน ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน
ตัวหมอเองมองว่า กสม.ยังเป็นกลไกที่ใช้งานได้อยู่หรือไม่?
ผมคิดว่าเป็นกลไกที่ใช้ได้ เพราะนี่เป็นกลไกของสากล แต่ก็ต้องรู้ว่า กสม.เป็นองค์กรที่จะบอกความจริง แต่ไม่ใช่องค์กรที่จะไปแก้ไขปัญหา องค์กรแก้ไขปัญหาคือรัฐบาลที่มีอำนาจฝ่ายบริหาร เราไม่ได้มีอำนาจสั่งการแต่เรามีอำนาจที่จะบอกความจริงเวลาเขาเดือดร้อน และประสานให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปคุ้มครอง แต่หากรัฐไม่ปฏิบัติเราสามารถฟ้องศาลได้ หากจะแก้ไขปัญหานี้คือต้องทำให้หน่วยงานของรัฐ หรือข้าราชการมองเห็นเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน เพราะในต่างประเทศเขาถือว่าเป็น “การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง” (Civic Education) เพราะสิ่งที่ดีกว่าการไปตรวจสอบคือให้การศึกษาในเรื่องสิทธิมนุษยชนกับประชาชนตั้งแต่เด็ก พอโตมาข้าราชการจะได้มีจิตสำนึกเรื่องนี้
“ในบางประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่มีคณะกรรมการสิทธิฯ แต่ข้าราชการและประชาชนเขามีจิตสำนึก มันจึงไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องนี้ ไม่ต้องมาตั้งกรรมการสิทธิฯให้เสียเงินเสียทอง นี่ที่ต้องตั้งเพราะว่าพัฒนาการเราไม่ได้เกิดจากตรงนี้ เราคิดว่าเรามีหลักพุทธศาสนา เมื่อเป็นเมืองพุทธก็มีหลักมนุษยธรรมแล้ว แต่มันไม่ใช่ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนมันเข้ามา ทำให้คนตกอยู่ในระบบบริโภค เกิดความเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว แม้เราจะมีศาสนาพุทธแต่คนห่มผ้าเหลืองก็ยังอาบัติได้…”
กสม.ควรต้องมีการเพิ่มอำนาจใดไหม?
อำนาจที่เราต้องการมีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ค่อนข้างสมบูรณ์ เพียงแต่ทำอย่างไรจึงจะให้ระบบราชการหรือสังคมตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะ กสม.คนเดียวไม่ได้ทำให้เกิดสิทธิที่เป็นประโยชน์และความถูกต้อง เพราะฉะนั้นอำนาจหน้าที่ของ กสม.ไม่ใช่เพียงการตรวจสอบ แต่เราต้องทำเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา ทำให้หน่วยงานของรัฐ ทุกระบบราชการ การเมือง และประชาชน ได้เข้าใจเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนจึงจะสามารถช่วยเราได้ ประการสุดท้ายคือเราต้องมีหน้าที่เสนอนโยบาย หรือกฎหมายที่คำนึงหลักสิทธิมนุษยชน
“หากเรามีการบังคับใช้กฎหมายที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน เผลอๆ กสม.ยุบไปได้เลย เพราะเราสามารถอ้างกฎหมายได้ แต่ทุกวันนี้ขนาดเราอ้างเขายังไม่ฟัง ยังคงถือกฎหมายของตนเอง คนเราไม่ค่อยเคารพรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด”
ขณะนี้จึงถูกแล้วว่าเราต้องปฏิรูปประเทศ คือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโครงสร้าง แล้วจึงมาคิดถึงเรื่องกฎหมายนโยบายต่างๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ซึ่งเราอยู่ในช่วงที่ต้องทำให้กฎหมายต่างๆ ยึดดังกล่าวให้มากที่สุด และอำนาจในการฟ้องร้องก็สำคัญ เพราะฉะนั้นอำนาจแค่นี้เยอะพอและล้นมืออยู่แล้ว เราไม่ต้องการเป็นองค์กรที่มีอำนาจสั่งการ เพราะว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารเราจะเอามาไม่ได้ ถ้าเราเอามาก็จะกลายเป็นเรื่องรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์
ในแง่การทำงานร่วมกับรัฐบาล มีความแตกต่างกันหรือไม่ระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยกับรัฐบาลทหาร?
“โดยหลักการหากเราบอกว่ารัฐบาลก็คือคน มันก็ไม่ควรที่จะแตกต่างกัน แต่ความเป็นรัฐบาลที่มาจากทหาร ก็ต้องยอมรับว่าทหารเป็นอาชีพที่ไว้สำหรับศึกสงคราม เพราะฉะนั้นวิธีคิดเขาก็จะติดแบบทหาร อย่างผมเป็นหมอผมก็ติดแบบหมอ แบบทหารคือต้องมองคนขณะนั้นว่าเป็นศัตรูฝ่ายตรงข้าม มองคนเหล่านั้นว่ากระทบกับความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งถ้าเป็นนักการเมืองมันไม่ใช่ มันไม่ได้มองเป็นศัตรูทั้งหมด แต่มองว่าเป็นคนที่มีความคิดต่าง”
เพราะฉะนั้นการจัดการแบบการเมืองก็คือเอาเสียงข้างมากไปชนะ และเคารพเสียงข้างน้อย แต่ทหารมองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด และในขณะเดียวกันคุณก็ต้องเชื่อฟังผม วิธีคิดมันต่างกันเพราะไม่เช่นนั้นทหารจะไม่ชนะศึก ดังนั้นถ้าเป็นทหารแต่เข้ามาด้วยความคิดทางการเมืองมันก็ไม่แตกต่าง แต่ถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลแต่ไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง ไม่เข้าใจว่าธรรมชาติของการเมืองคือการต่อสู้ในเชิงความคิด ที่ถือหลักว่าเมื่อถึงที่สุดแล้วก็ต้องเอาเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องเคารพและไม่ไปฆ่าเสียงข้างน้อย แต่ที่ผ่านมาในช่วง 10 ปี เสียงข้างน้อยก็พยายามมาทำลายเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างมากก็อ้างความชอบธรรมว่าต้องทำแบบนี้ กลายเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก ซึ่งมันผิดมันไม่ใช่ เพราะประชาธิปไตยคือมติปวงชนเป็นใหญ่ ที่ปกติก็ต้องมีเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เสียงข้างน้อยคุณก็อย่าไปทำลายเขา เพราะต่อไปเสียงข้างน้อยอาจจะกลับมากลายเป็นเสียงที่ถูกต้องก็ได้
แล้วทำไมประเทศเราต้องใช้ทหาร ก็เพราะประเทศเราฝ่ายปกครองมาจากทหาร มีกษัตริย์เป็นขุนศึกเป็นแม่ทัพนายกองมาโดยตลอด แต่ขณะนี้สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ได้สู้ด้วยอาวุธปืนแต่สู้กันด้วยเศรษฐกิจ เอาชนะกันด้วยยุทธวิธีทางการเมือง หรือการครอบงำทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมด้วยซ้ำ คนที่เข้ามาดูแลบ้านเมืองจึงต้องการทักษะทางการเมืองการปกครอง ที่ต้องรู้เท่าทันในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกภิวัฒน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าถ้าเป็นทหารอาชีพมาตลอดจะไม่ถนัด เมื่อไม่ถนัดก็ต้องอาศัยผู้อื่นกลายเป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงและอันตราย แต่ถ้าได้คนดีมาก็คงไม่มีปัญหา
หมอมองว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า จะมีแนวโน้มต่อไปเป็นอย่างไร?
ผมมีความมั่นใจว่าจะดีขึ้น เพียงแต่ว่าประเทศไทยมีอายุของประชาธิปไตยมา 83 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นใช้เวลาหลายร้อยปี ซึ่งต้องยอมรับว่าพื้นฐานประเทศไทยขณะนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นกับโครงสร้างของสังคม ที่ขณะนี้เป็นอุปสรรคในระบบประชาธิปไตยซึ่งจะต้องรื้ออกมาให้หมด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัวมันมีเยอะ ต้องมีการเปิดใจกันตรงนี้ หลังจากที่เกิดความรุนแรงทางการเมืองต้องเกิดการประชาเสวนาพูดคุยกัน แล้วมันจะละลายความเป็นสี ดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร เบื้องลึกเบื้องหลังของการแย่งชิงอำนาจมันเพราะอะไรซุกซ่อนอยู่ ระบบอุปถัมภ์ ความเคารพในมาเฟีย การยอมรับวัฒนธรรมในการโกงมันก็จะหมดไป ยอมรับในประชาธิปไตยมากขึ้น
เราต้องทบทวนตัวเอง อย่าไปหวังว่าถ้ามีสภาขับเคลื่อน มีรัฐประหารแล้วมันจะแก้ได้ เพราะขณะนี้ก็เห็นแล้วว่ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ เราต้องปฏิรูปทั้ง 3 ด้าน การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่จะปฏิรูปอย่างไรให้สมดุล อย่างมาเลเซียปฏิรูปการศึกษาปรากฏว่าเรื่องของความเหลื่อมล้ำเขาดีขึ้น คือบางทีไม่ต้องปฏิรูปตรงตัวแต่ไปปฏิรูปการศึกษา พอคนมีความรู้ดีก็หางานทำได้ มีรายได้มากขึ้น เราต้องมองการปฏิรูปให้ครบทุกด้านเพราะมีความสำคัญหมด ไม่ใช่สุดโต่งมองแต่เรื่องการเมืองอย่างเดียว หากเราปฏิรูปได้ทุกอย่างก็จะดีขึ้น เขาถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเพราะว่าระบบรัฐบาลอย่างนั้นจึงจะขานรับ
ส่วนตัวหมอเองได้ข้อคิดหรือถอดบทเรียนใดบ้าง จากประสบการณ์การเป็นกรรมการสิทธิฯ
ผมเองต้องยอมรับว่าพอใจกับการทำงาน เพราะผมเข้ามาใน กสม.ด้วยความตั้งใจ ผมเป็นอนุกรรมการสิทธิที่เป็นรูปธรรมของการได้มาทำงานจริงๆ ได้ลงไปเห็นด้วยตา แก้ปัญหาด้วยวิธีคิดที่ได้จากการพูดคุยกับชาวบ้าน นักวิชาการ หรือเพื่อนอนุกรรมการ ผมทำงานได้เต็มไม้เต็มมือกว่าการเป็นวุฒิสภา อันนี้คือความจุใจผม แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จแต่ผมก็พอใจ เพราะผมคิดว่ามันไม่มีทางที่จะแก้ได้ 100% ในช่วงระยะเวลา 6 ปี หรือพูดง่ายๆในช่วงชีวิตของผม ซึ่งต่างจากตอนผมเป็นหมอ ผมก็ทำเต็มที่แม้คนไข้จะตาย แต่ผมทำให้รอดเยอะกว่า แต่พอมาแก้สังคมมันแก้ยากมาก
แต่ไม่ว่าอย่างไรผมคิดว่าสิ่งที่ทำไว้ควรจะมีการต่อยอด เช่น “สิทธิชุมชน” ต้องยกระดับเป็น “สิทธิการพัฒนา” ที่มั่นคงและเป็นธรรม ยอมรับในเรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สิทธิของความเป็นพลเมือง อย่าไปมองว่าเขาคือผู้ที่ต่อต้านคัดค้าน ประท้วงก่อความวุ่นวาย หากคิดแบบนี้แล้วจะแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไม่ได้ สิทธิมนุษยชนต้องยอมรับในเรื่องของการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ต้องมาดูพื้นฐานประเทศไทยว่าเราไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม แต่เกษตรกรรมก็ต้องก้าวหน้าและนึกถึงเกษตรกรรายย่อย ที่ต้องการการสนับสนุนคุ้มครองจากรัฐในเชิงนโยบาย และงบประมาณ ซึ่งก็บีบในการที่จะต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ด้วยการออกกฎหมายที่สอดคล้องต่อการปฏิรูป
“ตรงนี้ผมว่าเป็นฐานที่ทำให้เห็นแล้วละ เพียงแต่มันกำลังจดจ่ออยู่ที่เมื่อไหร่จะเริ่มทำ งานยิ่งยากมันก็ยิ่งต้องใช้เวลา แต่ถ้าสังคมอยากสรุปบทเรียนผมก็ได้สรุปไว้แล้ว และจะส่งให้ กสม.ชุดใหม่ทำต่อ”
เรื่องสิทธิมนุษยชนมันไร้พรมแดน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราตามรอยตะวันตก แต่เป็นการที่เรามีหลักการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในเรื่องความเป็นธรรมและประโยชน์ของเขาเท่านั้นเอง มีความมั่นใจการบังคับใช้กฎหมายของเราไม่ได้เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมคิดว่ามันเป็นหลักสากลทั่วโลก และคิดว่า กสม.ชุดหน้าก็ต้องมีหน้าที่ทำตรงนี้ เพราะการตรวจสอบก็เหมือนหมอที่รักษาแต่ผู้ป่วยอย่างเดียว แต่หมอจริงๆต้องส่งเสริมสุขภาพ ต้องเน้นเรื่องการป้องกันด้วย เพราะฉะนั้นการทำให้รู้เรื่องหลักสิทธิมนุษยชน การทำให้รู้เรื่องหลักปฏิรูป ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้เรารักษาคนป่วยน้อยลง
แล้วในอนาคตอันใกล้นี้ ตัวหมอเองวางแผนไว้อย่างไรบ้าง ยังจะทำงานด้านสิทธิต่อไปไหม?
อนาคตผมก็คงกลับมาเป็นประชาชนธรรมดา แต่ว่าการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนมันคงติดอยู่ในตัวผมไปแล้ว มันปฏิเสธไม่ได้เหมือนกับตอนนี้ที่ผมเป็นหมอรักษาคนไข้ได้แน่นอน แต่การรักษาสังคมก็ติดอยู่ในตัวเป็นเรื่องที่สอง แน่นอนว่าผมเห็นทางในการรักษาสังคม เพียงแต่ว่าการกลับมาเป็นประชาชนธรรมดาก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องหาวิธีในการทำงานต่อ เพื่อให้สามารถคงความคิดในการ “รักษาคน” “รักษาสังคม” ได้ด้วยการยึดหลักในเรื่องความเป็นธรรม เพราะผมคิดว่าตรงนี้เป็นหลักการที่ถูกต้องและเป็นหลักการที่เป็นอมตะ มันไม่มีอะไรมากกว่านี้
อยู่ที่ว่าผมจะทำได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง แต่คนธรรมดาก็ทำงานได้…