การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหม่ของ “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ในวาระครบรอบ 25 ปี พร้อมคณะกรรมการชุดเก่าที่ได้หมดวาระลง อีกบทบาทที่น่าสนใจคือเลขาธิการคนใหม่ของมูลนิธิสืบฯ “ภานุเดช เกิดมะลิ” เพราะด้วยประสบการณ์ทำงานกับมูลนิธิฯมายาวนานถึง 16 ปี ที่นับได้ว่ายาวนานเป็นรองเพียงอดีตประธานอย่าง “รตยา จันทรเทียร” เท่านั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “ศศิน เฉลิมลาภ” ประธานคนใหม่ มองว่าสามารถเชื่อมต่อทั้งในเรื่องของงานและแนวคิดได้เป็นอย่างดี ทางสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมจึงได้ร่วมพูดคุยเพื่อที่ได้รู้จักตัวตนของเขากันให้มากขึ้น
เส้นทางของ “ภานุเดช ” หรือ “บอย” หลังจบการศึกษาจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว ภานุเดชก็คลุกคลีกับการทำงานด้านพัฒนาสังคมและมูลนิธิมาโดยตลอด ก่อนที่จะก้าวเข้ามาสู่มูลนิธิสืบฯ ด้วยการใช้เวลาว่างเป็นอาสาสมัคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 อยู่ราว 2 ปีจึงก้าวเข้ามาทำงานเต็มตัว เมื่อทางมูลนิธิสืบฯเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่เพิ่ม ซึ่งเขายอมรับว่ารูปแบบการทำงานคงจะไม่เหมือนกับ “ศศิน เฉลิมลาภ” อดีตเลขาธิการที่มีบทบาทการสื่อสารผ่านตัวตนในการแสดงออก ซึ่งบทบาทการแสดงออกต่างๆนั้นเขามองว่ายังควรเป็นหน้าที่ของ ศศิน ส่วนเขาพร้อมเป็นเบื้องหลังในการประสานงานซึ่งเป็นหน้าที่ที่ได้ดำเนินมาโดยตลอด
ทิศทางมูลนิธิสืบฯ หลังการเปลี่ยนแปลงใหม่
บอย เริ่มต้นเล่าถึงวิสัยทัศน์หลังการเปลี่ยนแปลงว่า ทิศทางต่อไปของมูลนิธิฯ คือการที่ทุกคนได้เข้ามามีส่วนช่วยในการผลักดันการทำงาน อย่างช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการอาจเพียงให้คำแนะนำหรือข้อคิดเห็นในบางเรื่องที่ถนัด แต่หลังจากนี้คืออยากให้เข้ามามีบทบาทในการทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งก็นับว่าโชคดีที่คณะกรรมการชุดหลังค่อนข้างเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ยังอยู่ในกระแสสังคมและอยากมีส่วนร่วมในการทำงาน จึงอยากทาบทามคนที่มีแนวความคิดสมัยใหม่ในงานอนุรักษ์มาร่วมงาน โดยนอกจากงานรณรงค์หรือวิชาการทั่วไปแล้ว อีกส่วนที่ต้องมีคืองานสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับสาธารณชน
งานรูปธรรมที่มูลนิธิฯทำในพื้นที่ชุมชน อาจจะสื่อสารแก่สาธารณชนได้ยาก หากจะอธิบายว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่เมื่อเวลามีกิจกรรมอย่างการเดินคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้วภาพมันชัด สิ่งที่เราคิดตอนนี้คือจะต้องมีเวทีที่ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันขยับขับเคลื่อนเรื่องของงานอนุรักษ์ แม้แต่เครือข่าย NGO ด้วยกันเองที่นับวันยิ่งอ่อนแรงลง ด้วยสภาพของกาลเวลา เงินทุน หรือการยอมรับ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาปัญหาการเมืองได้ส่งผลเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเวลาออกมาคัดค้านอะไรแล้วมักจะถูกโยงไปในเรื่องนี้ แต่เราเองก็พยายามรักษาความเป็นกลางให้ได้ ว่าเรามีความตั้งใจอนุรักษ์จริงไม่ว่ารัฐบาลไหน เพื่อรักษาพื้นที่ให้ใครเข้ามาแล้วสบายใจได้ว่าไม่มีสถานะอะไรแอบแฝง
พันธกิจของมูลนิธิฯในขณะนี้จึงมีอยู่ 6 ประการ หนึ่งคือการสื่อสารด้านงานอนุรักษ์ เน้นการนำเรื่องราวในป่ามาประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคมได้รับรู้ ซึ่งปัจจุบันที่ทำอยู่คือสื่อออนไลน์ การจัดกิจกรรม หรือการจัดเวที สองคืองานเชิงวิชาการ ที่จะคอยรณรงค์ เฝ้าระวัง และคัดค้าน นโยบายที่จะมีผลกระทบกับงานอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเขื่อน ป่า เหมือง หรือสนับสนุนในพื้นที่อื่นที่ควรเก็บรักษา สามคือเรื่องของงานชุมชนในป่า ซึ่งงานจอมป่าก็ได้ถูกยกให้เป็นงานยอดเยี่ยมในด้านการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็ทำในด้านของแนวเขตให้มีความชัดเจนเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในป่าตะวันตก หรือแม้แต่เรื่องของอาชีพที่เข้าไปหนุนเสริมให้ชุมชนสามารถเลี้ยงตนเองได้ ไม่ใช่การบังคับให้อนุรักษ์เพียงอย่างเดียว เช่น ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรอินทรีย์ส่งขาย ที่ทำให้ตัวชุมชนเองสามารถปรับวิถีชีวิตให้อยู่กับธรรมชาติได้ ไปพร้อมกับการมีผลผลิตและแหล่งรับซื้อที่ชัดเจน
สี่คือการสนับสนุนเรื่องของป่าชุมชน เพื่อให้เป็นพื้นที่กันชนของป่าขนาดใหญ่ ที่ได้ดำเนินการร่วมกับกรมป่าไม้บริเวณโดยรอบป่าตะวันตก ซึ่งต้องยอมรับว่าทางมูลนิธิฯทำได้ในพื้นที่นี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พอจะมีกำลังและงบประมาณ ซึ่งก็หวังว่าทางกรมฯจะนำแนวคิดนี้ไปขยายเพิ่ม และห้าคือกองทุนผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นงานที่ได้สานต่อเจตนารมณ์ที่คุณสืบได้วางเอาไว้ คือการทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั่วประเทศมีสวัสดิการที่ดี ซึ่งก็ได้ช่วยเหลือทั้งในกรณีการบาดเจ็บรวมถึงเสียชีวิต
ประการสุดท้ายคือการทำให้มูลนิธิฯเองสามารถอยู่ได้ด้วย ในยุคที่งานพื้นที่และจำนวนเจ้าหน้าที่มากขึ้น โดยปัจจุบันทางมูลนิธิฯยังไม่มีแหล่งทุนที่มากพอ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วรายได้ยังคงติดลบอยู่ที่ประมาณปีละ 2 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในประมาณการพอที่จะลดรายจ่ายลงได้บ้าง ทว่าหากหลังจากปี 2562 ไปแล้วสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ มูลนิธิฯจะกินเงินสะสมของตนเองไป ซึ่งได้คำนวณไว้ว่าหลังปี 2562 ไปแล้วไม่เกิน 4 ปีเงินของมูลนิธิฯก็จะหมด ดังนั้นต้องทำอย่างไรที่จะหาเงินมารองรับทีมให้สามารถทำงานได้ ซึ่งที่กำลังทำอยู่ อย่างเช่นการพัฒนาสินค้า การระดมทุนในรูปแบบต่างๆ
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในทุกองค์กร NGO ซึ่งบางองค์กรพอเงินหมดก็หยุดกิจกรรม แยกย้ายกันไป แต่มูลนิธิสืบฯไม่คิดเช่นนั้น เราคิดว่าที่ผ่านมาเราได้พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ทำงานมาได้ถึงระดับนี้ จนมีสถานะในพื้นที่ เกิดการยอมรับตัวตนในหัวหน้าชุมชนหรือชาวบ้าน เพราะงานของมูลนิธิฯนั้นไม่สามารถสร้างได้ด้วยงบประมาณอย่างเดียว แต่ต้องสร้างด้วยการทุ่มตัวเราไปอยู่กินใช้ชีวิตร่วมเป็นร่วมตายกับเขา ซึ่งน่าเสียดายมากถ้าจะต้องปรับคนออกไปเพียงเพราะขาดเงินจ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าน้องๆเหล่านี้ก็ไม่ได้มีรายได้สูงมากนัก น้อยกว่าราชการด้วยซ้ำ แต่เพราะความศรัทธาในตัวคุณสืบ ศรัทธาในตัวองค์กร ที่ช่วยให้งานยังดำเนินต่อไป อีกทั้งความเป็นพี่เป็นน้องในทีมเราสูงมากและอยากที่รักษาตรงนั้นไว้ เรื่องนี้จึงนับเป็นความท้าทายของกรรมการ
หลายคนในสังคมมักจะมองมูลนิธิสืบฯว่ามีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นองค์กรที่ใหญ่โต แต่ในความเป็นจริงแล้วมูลนิธิฯมีเพียงเท่านี้ บุคลากรกว่า 30 คนกับภารกิจที่มีมากมายซึ่งนับว่าค่อนข้างเอาเรื่อง เราจึงต้องบอกกับสังคมว่าในบางเรื่องต้องขอจำกัดบทบาทเพียงเท่านี้ ไม่สามารถที่จะส่งคนเข้าไปช่วยได้ทุกเรื่อง แต่ก็อาจโชคดีว่าที่ผ่านมา มูลนิธิฯมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการทำงาน ทำให้เรามีเส้นทางที่จะเดินและบอกแก่สังคมได้ โดยจะเป็นยุทธศาสตร์ทุก 4 ปี พร้อมกับแผนในแต่ละปีว่าจะมีกรอบอะไรบ้าง ทำให้สามารถควบคุมการใช้จ่าย มีระบบจัดการ และทำให้มีความชัดเจนว่ากำลังทำอะไร
พลังของคนรุ่นใหม่ ต้องการอะไรมากกว่าการเดิน
บุคลากรในมูลนิธิฯสามารถแบ่งได้เป็นสามช่วงวัย หนึ่งคือคนรุ่นแรกที่ร่วมทำงานอนุรักษ์มาพร้อมกับคุณสืบ ได้ร่วมต่อสู้ตั้งแต่สมัยเรื่องเขื่อนเชี่ยวหลาน หรือเรื่องการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ต่อมาคือคนที่อยู่ในยุคคาบเกี่ยว คือช่วงที่คุณสืบเสียชีวิตพอดี อย่างรุ่นผมที่ยังทันได้เห็นข่าวคราว ซึมซับผลงานของคุณสืบ หรือมีกิจกรรมเข้าไปเรียนรู้ที่ห้วยขาแข้ง สุดท้ายคือรุ่นปัจจุบัน หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หลุดยุคออกมาแล้ว ซึ่งในสังคมจะเป็นคนรุ่นนี้เยอะมาก เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้คือยุคที่เปลี่ยนผ่านแล้ว คุณจะไปคาดหวังให้เด็กสมัยนี้เห็นภาพคุณสืบแล้วรู้จักตัวตน รู้จักผลงานแบบเดิมไม่ได้
แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นหลังจากมีการเดินรณรงค์คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ หรือกิจกรรมอะไรต่างๆ คือปริมาณของเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมเป็นพลัง ที่ได้สื่อให้เห็นว่าทุกคนยอมรับในความเป็นมูลนิธิสืบฯ นั่นหมายความว่าแม้ชื่อหรือตัวตนของคุณสืบจะเริ่มเลือนไปแล้ว แต่คนได้รู้จักมูลนิธิสืบฯในฐานะที่เป็นหัวหอกของงานอนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งก็คือการสานต่อเจตนารมณ์ของคุณสืบเหมือนเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ว่าแบรนด์นี้จะต้องถูกปรับให้มีความทันสมัย ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงในจุดนี้ได้ เป็นแนวคิดที่ทุกคนในมูลนิธิฯเห็นตรงกัน
ผมเห็นว่าพลังของกลุ่มนักศึกษายังคงมีอยู่ เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาอาจถูกเบี่ยงเบนไปบ้าง ไม่มีเวทีหรือกิจกรรมที่จะเล่น สิ่งหนึ่งที่เห็นคือนักศึกษามีความรู้เยอะมาก หลายคนมีความรู้จากสิ่งที่เรียนมาแต่ไม่มีโอกาสที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการทำกิจกรรม สิ่งที่เราต้องการก็คือความหลากหลายเหล่านี้แหละที่มาช่วยเติมเต็ม เพียงแต่ยังไม่มีใครที่จะมาช่วยเกี่ยวร้อยให้เขามาร่วมกันได้ เช่นหากปีหน้ามีกิจกรรมนับเสือ เราก็ต้องการนักศึกษาวนศาสตร์มาช่วยเก็บข้อมูลเรื่องเสือ ต้องการอาสาสมัครเข้ามาช่วยตรวจข้อมูล คือไม่ได้ต้องการให้เวลาเดินขบวนแล้วทุกคนมาออกแอคชั่นอะไรแบบนั้น แต่ทุกคนจะมาช่วยเติมเต็มในแต่ละงานที่จะทำให้การรณรงค์มันครบถ้วนภายใต้เป้าหมายเดียวกัน
ล่าสุดหลังได้ร่วมคุยกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่ถูกสะท้อนออกมาคือ นักศึกษาอยากให้มีเวทีที่จะแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เมื่อทุกคนมีบทบาทในส่วนที่ถนัด เช่น บางคนอาจถนัดกิจกรรมท่องเที่ยว บางคนถนัดการทำกิจกรรมกับเยาวชน ไม่ว่าอะไรก็ตาม สิ่งที่เขาเรียกร้องให้มูลนิธิสืบฯช่วยคือ อย่างน้อยในปีหนึ่งควรมีเวทีที่จะได้ร่วมพูดคุยกันว่าใครทำอะไรที่ไหนบ้าง หรือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ให้ได้รู้ว่าอีกกลุ่มทำอะไรเพื่อที่จะนำไปปรับใช้ ซึ่งเราก็จะมองว่าใครมีศักยภาพใดก็ควรไปช่วยเติมเต็ม โดยเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานให้มีกิจกรรมร่วมกัน และสุดท้ายคือเราควรจะมีการเปิดพื้นที่เพื่อให้เยาวชนที่อยากเข้ามาทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ได้ทำในกิจกรรมนั้น เช่นการทำงานวิจัยเรื่องเสือโคร่ง ซึ่งน้องได้ความรู้และเราก็ได้งาน
งานอนุรักษ์…อุปสรรค…การผลักดัน
16 ปีในงานอนุรักษ์ สิ่งหนึ่งที่มีคือความศรัทธาในตัวคุณสืบ ศรัทธาสิ่งที่คุณสืบอนุรักษ์เพราะรับรู้ว่ามีความสำคัญ ธรรมชาติทุกคนรู้ว่าวันหนึ่งมันจะหมดไปหากไม่รักษาเอาไว้ แต่ทำอย่างไรเราจะเสียมันให้ช้าที่สุด หรือจนกว่าวันหนึ่งที่เราสามารถหาสิ่งที่ปรับสมดุลสามารถแก้ปัญหาหรือว่าฟื้นฟูดูแลทรัพยากรได้แล้ว เราก็อยากที่จะรักษาไปให้ถึงวันนั้น ตัวมูลนิธิฯไม่ใช่คนที่จะพลิกฟ้าแล้วรักษาป่าให้ฟื้นขึ้นได้ แต่ว่าเราจะทำให้มันถูกทำลายช้าที่สุด เพื่อรอจังหวะและโอกาสนั้น
ความท้อในการทำงานก็นับว่ามีอยู่บ้าง เช่นความรู้สึกผิดหวังในช่วงแรกที่เข้ามาทำงานในการอบรมผู้พิทักษ์ป่า เพื่อเสริมศักยภาพการป้องกันรักษาป่าและดูแลตนเองของเจ้าหน้าที่ แต่หลังฝึกแล้วเมื่อเจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานได้ระยะหนึ่งกลับถูกความเป็นระบบราชการฉุดรั้งไม่ได้เกิด สุดท้ายกลับไปก็ตัดหญ้า ถูบ้าน รับใช้เจ้านาย หรือแม้แต่กระแสงานอนุรักษ์เอง ที่ภายหลังคุณสืบเสียชีวิตก็เป็นที่สนใจของทุกฝ่าย เกิดองค์กร เกิดกิจกรรมมากมาย แต่พอผ่านไประยะหนึ่งก็เริ่มซบเซา ความตั้งใจหลายคนก็โรยรา ทางกรมเองก็กลับไปสู่วิธีคิดแบบเดิม
เราก็คาดหวังว่าเมื่อใดจึงจะมีกองทุนผู้พิทักษ์ป่าของกรมเองที่จะดูแลลูกน้องของเขา แทนที่จะเป็นมูลนิธิสืบฯที่หวังว่าวันใดวันหนึ่งจะไม่มีอีกต่อไป เพราะนั่นหมายความว่าทางกรมสามารถทำงานได้ 100% แล้ว แต่พอลงไปสู้จริงๆก็ต้องยอมรับว่ามันสู้ไม่ได้ ซึ่งยังโชคดีที่ตัวมูลนิธิฯก็ได้กลับมาทบทวนว่าสถานะของเราเป็นไปได้แค่ไหน แล้วค้นหาว่าทุกคนในองค์กรได้ทำเต็มที่ในสิ่งที่ต้องทำแล้วหรือยัง เมื่อพบว่าเต็มที่แล้ว เพียงแต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอยู่นอกเหนือการจัดการ จึงอาจต้องอาศัยพลังทางอื่นหรือการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ทำให้เราฉุกคิดกันขึ้นมาได้ว่าอย่าไปท้อ แล้วค่อยนำมาสู่การคิดต่อว่าแล้วสิ่งใดที่จะทำให้เราไปถึงจุดนั้น
หรืออย่างที่ผ่านมาเราทำเรื่องชุมชนในป่า ปัญหาหนึ่งที่พบคือกรมไม่เคยมองชาวบ้านที่อยู่ในป่าว่าเป็นมิตร เพราะกรมถือกฎหมายในมือแล้วมองว่าคนเหล่านี้คือคนบุกรุก วิธีเข้าไปทำงานก็เป็นรูปแบบตำรวจที่เข้าไปจัดการกับผู้ร้ายที่ทำผิด ซึ่งระบบไม่ได้มองว่าต้องแก้ปัญหาตรงนี้ แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือในเรื่องของแนวเขต หรือเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปอย่างเป็นมิตร ซึ่งคนที่จะทำงานกับชาวบ้านก็จะต้องมีความรู้ มีเทคนิคในการทำงาน ไม่ใช่การไปสอนหนังสือหรือให้ความรู้เรื่องป่าไม้เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเข้าถึงเขาในทุกมิติ โดยทุกวันนี้ก็เริ่มจะมีที่กรมกำลังวางโครงสร้างใหม่ ซึ่งทางมูลนิธิฯก็พร้อมสนับสนุน ทั้งในด้านขององค์ความรู้ในป่าตะวันตกมา เรามีทั้งคู่มือ เทคนิค หรือหลักสูตร ที่ยินดีจะสนับสนุนได้เลยหากเกิดโครงสร้างนี้
ทุกวันนี้เราคุยกันคนละภาษา หมายความว่าเรามองคนละมิติที่แตกต่างกัน เช่น ชาวบ้านที่อยู่ในป่า นักสังคมวิทยาก็จะมองว่าเขาอยู่มาดั้งเดิมเพราะมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ทำให้พื้นที่โดยรอบไม่ได้ถูกทำลาย ในขณะเดียวกันนักอนุรักษ์ก็จะมองว่าเป็นพื้นที่ที่สัตว์ป่าควรจะอยู่ ทำอย่างไรจึงจะให้คนออกไปเพื่อเป็นพื้นที่ของสัตว์จริง สิ่งที่ผมบอกว่าอยากจะให้เราพูดภาษาเดียวกันก็คือ ถ้าเรามองว่ามีทั้งคนและสัตว์ป่าอยู่จริง ทำอย่างไรจึงจะจัดการทั้งหมดที่เป็นระบบนิเวศเดียวกัน เพียงแต่รูปแบบของการจัดการอาจต่างกันในแต่ละเรื่อง หรือหากกรมจะมองในอีกมิติหนึ่ง ว่าเขาน่าจะเป็นพลังสำคัญเสียด้วยที่จะช่วยเจ้าหน้าที่ในการรักษาดูแลพื้นที่ เพราะฉะนั้นมูลนิธิสืบฯตอนนี้อาจต้องต่อสู้ในทุกระดับ แต่ก็อยู่บนความเป็นจริงแล้วเราเห็นว่ามันทำได้ และต้องมีพวกเราทุกคนที่ช่วยกัน
“เชื่อเถอะว่ามูลนิธิทำงานท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่มีวันใดที่จะไม่มีปัญหา ซึ่งผมจะดีใจมากหากวันใดที่ไม่มีปัญหาแล้วก็ไม่ต้องมีมูลนิธิสืบฯก็ได้ นั่นเป็นเพราะระบบในสังคมทุกระบบมันทำงานได้ในตัวของมันเองหมดแล้ว สิ่งที่พวกผมอาสาเข้ามาทำงานที่นี่กับปัญหา ทั้งปัญหาเล็ก ใหญ่ แต่ว่ามันคืองานที่เราจะต้องอยู่กับมันก็ว่ากันไป”
สิ่งที่ผมอยากทำต่อหลังจากนี้คือการสร้างคน ซึ่งน้องทุกคนก็ต้องพัฒนาศักยภาพและพร้อมที่จะเข้ามาทำหน้าที่อย่างที่เราทำ เพราะฉะนั้นหากในเวลาหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเหมาะสม ก็อาจจะเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ก้าวเข้ามาแทนที่ วันหนึ่งผมอาจต้องกลับไปดูแลครอบครัว หรือทำไรอย่างอื่นซึ่งก็ยังตอบไม่ได้ แต่ในขณะนี้เรากำลังมีความสุขกับมันเพราะผมเป็นคนชอบป่า ซึ่งในวัยหนึ่งอาจสามารถออกเดินทางเข้าออกพื้นที่เดือนละ 20-30 วันได้โดยพร้อมจะสนุกกับมัน แต่ในอีกวัยหนึ่งที่มีครอบครัวก็ต้องดูแล ซึ่งคงต้องหาจุดสมดุลตรงนี้ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็คงจะยังอยู่บนเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะมีส่วนช่วยมูลนิธิฯในจุดไหนก็ยินดี