ทส.เปิดศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า บูรณาการ “พยัคฆ์ไพร-พญาเสือ-ฉลามขาว” ร่วมหลายหน่วยงานปราบปรามการทำลายป่าไม้ มุ่งเน้นพื้นที่ล่อแหลมนายทุน-อิทธิพล ไม่ให้กระทบประชาชนผู้ยากไร้
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า พร้อมตรวจการดำเนินงานการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เพื่อบูรณาการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการพิเศษทั้ง 3 กรม ได้แก่ กรมป่าไม้ (ปม.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2560
สำหรับการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการบูรณาการของชุดปฏิบัติการพิเศษ ได้แก่ ชุดพยัคฆ์ไพร ปท. ชุดพญาเสือ อส. และชุดฉลามขาว ทช. ร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (ศปป.4 กอ.รมน.) ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมี นายอรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ปม.เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ
ทั้งนี้ ภารกิจของศูนย์ฯ ได้แก่ 1.เป็นศูนย์กลางการประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เป็นต้น 2.รวบรวมบุคลากร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
3.มุ่งเน้นการดำเนินงานในพื้นที่ล่อแหลมต่อการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่มีนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง คดีที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกพื้นที่ป่า รวมถึงการออกเอกสารสิทธิที่ดินที่มิชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่ป่าไม้ การทำไม้มีค่าที่กระทำเป็นขบวนการเพื่อลักลอบไปจำหน่ายต่างประเทศ และการลักลอบมีหรือค้าสัตว์ป่า ลดกลุ่มอิทธิพลที่เกี่ยวกับเครือข่ายการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
4.ดำเนินงานภายใต้การกำกับของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพิทักษ์ป่า และอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ยุติธรรม ตามหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติที่ละมุนละม่อมแต่เฉียบขาด และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและหลักวิชาการในสาขาต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า การป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน เพราะทรัพยากรธรรมชาติคือมรดกอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษปกป้องมาด้วยเลือด เนื้อและชีวิต ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันปกป้องดูแลรักษาเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน
สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน สามารถบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่บุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าได้ 20,310 คดี ได้ผู้ต้องหา 4,352 คน ยึดคืนพื้นที่ได้ 513,556 ไร่ และสามารถบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่ลักลอบตัดไม้มีค่าในเขตป่าจำนวน 24,330 คดี ได้ผู้ต้องหา 12,163 คน ยึดไม้ของกลางได้ 1,112,274 แผ่น/ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตรไม้ 50,247 ลูกบาศก์เมตร