38 วันไม่คืบ! ปชช.รุมจี้คดีวิสามัญ ‘ชัยภูมิ’ ปูดทหารเข้าชุมชนทุกวัน – กระสุนปริศนาโผล่

เครือข่ายภาคประชาชน 12 องค์กร ออกแถลงการณ์เร่งเจ้าหน้าที่สร้างความชัดเจนคดีวิสามัญ “ชัยภูมิ ป่าแส” หลังผ่านไปแล้วกว่า 38 วันยังไม่คืบ จี้เปิดภาพวงจรปิด-หยุดจิตวิทยาในพื้นที่-ให้ความเห็นชี้นำคดี

เครือข่ายภาคประชาชน 12 องค์กร ซึ่งรวมตัวกันในนามเครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส ออกแถลงการณ์เรื่อง “38 วัน หลังวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส: ความ (ไม่) คืบหน้าในการแสวงหาความจริง” เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2560 โดยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดภาพจากกล้องวงจรปิด และเร่งดำเนินการไต่สวนสาเหตุการตายของนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรม โดยเร็ว

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ประกอบด้วย 1.ขอให้มีการเปิดภาพจากกล้องวงจรปิด โดยให้หน่วยงานทหารส่งมอบพยานหลักฐานให้กับพนักงานสอบสวนโดยเร็ว รวมถึงให้บุคคลในหน่วยงานรัฐที่ไม่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับคดียุติการให้ความเห็นที่มีลักษณะชี้นำหรือแทรกแซงการทำงานของพนักงานสอบสวน 2.ให้พนักงานสอบสวนและอัยการเร่งดำเนินการไต่สวนตามกฎหมายโดยเร็ว พร้อมแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะ 3.ให้หน่วยงานทหารยุติบทบาทในการปฏิบัติการทางจิตวิทยาโดยสิ้นเชิง

สำหรับสาระสำคัญของแถลงการณ์ระบุถึงความเป็นมาและความเคลือบแคลงในการสอบสวนคดี โดยตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่า นับตั้งแต่นายชัยภูมิถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 และอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนนั้น พบว่ามีข้อสังเกตที่สำคัญคือแม้กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่เริ่มต้นหรือยังไม่แล้วเสร็จ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ต่างชี้แจงให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนไปในทิศทางเดียวกันคือยืนยันว่านายชัยภูมิเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงขัดขืนเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งในช่วงแรกเจ้าหน้าที่รัฐต่างยืนยันว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่สามารถยืนยันการกระทำความผิดของนายชัยภูมิ แต่ต่อมาภายหลังกลับมีความเห็นว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการส่งมอบภาพให้แก่พนักงานสอบสวนแต่อย่างใด ทางเครือข่ายฯ จึงมีความกังวลว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานท่ามกลางข้อมูลความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระในการทำงานของพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง

แถลงการณ์ ยังระบุอีกว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายหลังเหตุการณ์ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปในชุมชนกองผักปิ้งซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนายชัยภูมิเกือบทุกวัน รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายชัยภูมิหรือแม้แต่ผู้นำชุมชนล้วนถูกเจ้าหน้าที่รัฐเชิญตัวไปพบ และยังพบลูกกระสุนปืนถูกนำไปวางในบริเวณบ้านของคนใกล้ชิดโดยไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ โดยล่าสุดได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งเข้าไปก่อสร้างห้องน้ำให้กับบ้านของนายชัยภูมิ อ้างว่าเป็นการเยียวยาให้กับครอบครัว

“การกระทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดความสับสน ความรู้สึกหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เพราะเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าเคยเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับคนในชุมชนบ้านกองผักปิ้งมาก่อน จนนำไปสู่การทำร้ายและฟ้องร้องมาแล้ว ทางเครือข่ายฯ มีข้อสังเกตว่าการเข้าไปในชุมชนของเจ้าหน้าที่ทหารที่เดินผ่านแต่ละบ้านในแต่ละวัน ไม่แตกต่างไปจากปฏิบัติการทางจิตวิทยาลักษณะหนึ่งที่สร้างความตึงเครียดให้กับชุมชน โดยเฉพาะบุคคลที่ใกล้ชิดกับนายชัยภูมิ” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

อนึ่ง “เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส” ประกอบด้วย 1.นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2.สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย 3.เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง 4.เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 5.เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง 6.เครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง 7.เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี 8.เครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมือง 9.ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ 10.มูลนิธิรักษ์เด็ก 11.สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 12.สมาพันธ์เพื่อช่วยเหลือชาวมอญผู้ประสบภัยตามแนวชายแดน