สนช.ลุยเสียงวิจารณ์ ผ่านร่าง พ.ร.บ.แร่ เตรียมประกาศกฎหมายบังคับใช้ ผุดคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ นายกฯ นั่งประธาน
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เรียงลำดับรายมาตราจนครบทุกมาตรา โดยที่ประชุมเห็นด้วยในวาระ 2 กับการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการ และลงมติให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 183 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. … มีทั้งสิ้น 188 มาตรา ประกอบกับบัญชีแนบท้ายเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียม โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการวิจารณ์เชิงลบในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยจากหลายภาคส่วน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนและข้อเสนอแนะจากองค์กรต่างๆ โดยเชิญผู้แทนจากองค์กรดังกล่าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ร่วมสังเกตการณ์ และเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ
นายมหรรณพ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรอบด้าน โดยได้นำหลักการให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ตามร่างระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ พ.ศ.2559 มากำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. … เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.มีความสมบรูณ์มากยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. … ฉบับนี้ เป็นการนำ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 และ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาปรับปรุงและนำหลักการของทั้ง 2 ฉบับ มาบัญญัติไว้ในกฎมายฉบับเดียวกัน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรมทรัพยากรธรณีเป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต่อคณะรัฐมนตรี ขณะที่ รมว.อุตสาหกรรม มีอำนาจประกาศให้มีการประมูลแหล่งแร่ในพื้นที่และให้ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่และทำเหมืองแรในพื้นที่นั้น