‘ศศิน’ ถอดบทเรียนเดินเท้าต้าน ‘แม่วงก์’ คนเมืองไม่สนเรื่องซับซ้อน-ต้องสื่อสารตามจริต

วงเสวนาคนเมืองกับสิ่งแวดล้อม เห็นพ้องอย่าคาดหวังผลระยะสั้น “ศศิน” ถอดบทเรียนเดินค้านแม่วงก์ ชี้คนเมืองไม่รับข้อมูลซับซ้อน ต้องเริ่มจากจุดเล็กไปจุดใหญ่

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อโทษฐานที่เธอและฉันเป็นคนเมือง ภายใต้กิจกรรม “เมื่อน้ำท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว” ซึ่งจัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2559 ตอนหนึ่งว่า จากประสบการณ์การเดินรณรงค์คัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนเมืองไม่สนใจข้อมูลที่พยายามนำเสนอ และรับข้อมูลที่ซับซ้อนไม่ได้

“ผมตั้งใจจะโพสต์ข้อมูลตามเส้นทางที่เดิน วางแผนตั้งแต่แรกว่าพอผ่านจุดนี้แล้วจะโพสต์อะไรบ้าง จะเล่าความเชื่อมโยงของแต่ละฝาย แต่ละแหล่งเก็บน้ำ ตอนนั้นคิดว่าจะได้รับความสนใจเหมือนช่วงน้ำท่วมปี 2554 ที่มีคนมากดไลค์โพสต์วิชาการถึง 5 แสน แต่พอมาเรื่องแม่วงก์กลับมีแค่ 200″นายศศิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม พอเปลี่ยนลักษณะการโพสต์มาเป็นเรื่องเจ็บขา หรือเป้าหมายอยู่ข้างหน้าต้องไปให้ถึง กลับมีคนเข้ามาให้กำลังใจมากมาย จนกลายเป็นว่าคนเชื่อนายศศินเพราะนายศศินกล้าที่จะเดินต่อสู้ จึงต้องช่วยให้นายศศินเดินไปให้ถึงให้ได้

“พอเปลี่ยนไปใช้วิธีสื่อสารเรื่องการเดิน โพสต์เชิญชวนให้มาเดินด้วยกัน สุดท้ายเมื่อมีผู้คนให้ความสนใจมาก สื่อใหญ่ก็เปิดพื้นที่ให้ นั่นจึงเป็นโอกาสที่พูดเรื่องวิชาการสู่สาธารณะได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก”นายศศิน กล่าว

นายศศิน กล่าวอีกว่า ยังมีความหวังที่จะสร้างความเข้าใจให้กับคนเมือง ต้องหาช่องทางคุยกับเขาให้รู้เรื่องตามจริตที่เหมาะสม และต้องเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากคนกลุ่มใหญ่

“อย่างสัปดาห์ที่แล้วมีจัดงานสืบนาคะเสถียร ปรากฏว่ามีคนมางานจนล้นห้องเพื่อมาฟังข้อมูลทางวิชาการที่ไม่น่าฟัง ซึ่งผมเองก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น จึงหวังว่าในอนาคตคนจะเริ่มชินกับการรับสารที่ซับซ้อนถ้าเราตั้งใจทำเรื่อยๆ แม้จะเป็นในกลุ่มเล็กๆ แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เริ่มจากกลุ่มใหญ่ ต้องมีคนเริ่มก่อนจึงจะไปดึงกลุ่มใหญ่ได้”นายศศิน กล่าว

นายอาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน กล่าวว่า ในยุคสมัยที่สื่อสังคมออนไลน์กว้างใหญ่ขึ้นกลับพบว่าคนค่อยๆ แคบลง เพราะมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องคนเมืองกับสิ่งแวดล้อมถูกมองแยกส่วน จึงเป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้คนเมืองเข้าใจ

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อ Tipping Point ได้ศึกษาว่าการที่เรื่องเล็กๆ จะจุดติดขึ้นมาเป็นกระแสในสังคมได้นั้น จะต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1.ผู้เริ่มต้นเพียงไม่กี่คน ที่ต้องประกอบไปด้วยผู้รู้ ผู้เชื่อมต่อ และผู้ปิดงาน 2.ปริมาณของกลุ่มคนเหล่านี้ที่เพิ่มเข้ามามากขึ้น และ 3.บริบทที่พร้อมให้ประเด็นดังกล่าวสามารถจุดติดได้

ทั้งนี้ ในกรณีของคนเมืองนั้นควรเริ่มจากการสร้างผู้ที่เคลื่อนไหว ซึ่งขณะนี้ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด และรักษาจำนวนไว้ไม่ให้ตายไปเสียก่อน หลังจากนั้นจึงเพิ่มปริมาณของคนที่จะเข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น หล่อเลี้ยงจนมีปริมาณคนในระดับหนึ่ง

“เกมนี้มันยาวและยาก ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งใช้ความคาดหวังระยะสั้นมาเป็นตัวดับความหวังเรื่องการเปลี่ยนแปลง กระบวนการเปลี่ยนแปลงหลายแห่งที่เกิดขึ้นก็เริ่มจากจุดเล็กๆ เพียงไม่กี่คน เราจึงต้องสร้างสรรค์การสื่อสารเพื่อจุดติดให้คนหันมาสนใจคุณภาพชีวิต และจะโยงไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องคนกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องเดียวกัน” นายอาทิตย์ กล่าว

นายยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเฟรนด์ ออฟ ริเวอร์ กล่าวว่า คนเมืองอาจมองว่าเรื่องทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสิ่งที่ไกลตัว จะมีหรือไม่มีก็ไม่ได้เดือดร้อน ยิ่งกว่านั้นยังมองว่าเป็นเพียงแค่แผนการที่จับต้องไม่ได้ หรือคิดว่าเป็นเรื่องของสถาปนิกทะเลาะกัน แต่ประเด็นในระยะหลังอย่างเช่นการลอกงานจากต่างประเทศ ก็ได้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่คนเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น

“คนรู้สึกหงุดหงิดถึงความไม่โปร่งใสและขาดประสิทธิภาพของรัฐบาล หรือเวลาบอกอย่างแต่ทำอีกอย่าง เป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐมองประชาชนเป็นแค่ผู้ถูกปกครอง ไม่ใช่หุ้นส่วนของการพัฒนาที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องแม่น้ำเจ้าพระยาแต่เป็นทุกเรื่องที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย จนถึงจุดที่ควรตั้งคำถามแล้วว่าเราอยากมีส่วนตัดสินใจในการใช้ภาษีเพื่อการพัฒนา หรือสร้างคุณค่าอะไรที่เราอยากมีร่วมกัน ซึ่งไม่ว่าใครต่างก็อยากอยู่ในเมือง ในสิ่งแวดล้อมที่ดีกันทั้งนั้น” นายยศพล กล่าว

นายยศพล กล่าวว่า จากการรณรงค์กว่า 1 ปีทีผ่านมา ทำให้ได้เห็นถึงการขยายตัวของการรับรู้มากขึ้น โดยที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงสิ่งที่แต่ก่อนอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว และสิ่งที่เห็นอีกอย่างหนึ่งคือพลังของคนรุ่นใหม่ที่สามารถร่วมรับรู้ โดยสิ่งที่ต้องการขณะนี้คือการสร้างพื้นที่เพื่อให้เกิดการพูดคุย ให้รู้ว่าสิ่งที่จะได้มาต้องแลกกับอะไรบ้างเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วเราต่างต้องการทางเลือกของการพัฒนา

นายยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกและนักเขียน กล่าวว่า แง่ดีของการสื่อสารในยุคนี้คือไม่ต้องพึ่งพาสื่อใหญ่เสมอไป เพราะสื่อเล็กทั่วไปหากสามารถเขียนให้ไม่เหมือนใคร หรือเขียนได้ดีกว่าคนอื่น ก็สามารถแพร่กระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นสื่อใหญ่หรือเล็กต่างมีสถานะเท่ากันโดยขึ้นอยู่กับจังหวะ ประกอบกับความสามารถในการพลิกแพลงสถานการณ์ ที่จะเป็นตัวดึงคนจำนวนมากให้เข้ามาร่วมรับรู้